×

‘อุลตร้าแมน’ จากเนบิวลา M78 เขาอยู่บนโลกได้ 3 นาที และเคยชุบชีวิตเด็กไทยให้กลายร่างเป็น ‘หนุมาน’

09.09.2019
  • LOADING...
พระพุทธรูปอุลตร้าแมน

“ผมอยากจะมาบอกว่า เด็กเขาเขียนอุลตร้าแมนตามความรู้สึกเขา นั่นคือเขาคิดว่าอุลตร้าแมนอยู่ใกล้กับเขา เขาเห็นมา เขาเห็นความเป็นฮีโร่ของอุลตร้าแมน เห็นคุณงามความดีของอุลตร้าแมนที่มาปกปักษ์รักษาโลก ปราบคนร้าย และนั่นคือสิ่งที่เขารู้จักมากกว่าพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำไป

 

“เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ เด็กมีจินตนาการ เปลี่ยนแปลง นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ คนสมัยใหม่เป็นแบบนี้ กล้าหาญ ดังนั้นตอนนี้เราไปด่าเด็ก ทำให้เด็กทั้งประเทศหวาดกลัว ทำอะไรก็ไม่ได้ อยากทำสิ่งที่แปลกใหม่ออกไปก็ทำไม่ได้” 

 

เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินชื่อก้อง ได้ออกมาพูดผ่านคลิปเพื่อเตือนสติ ท่ามกลางกระแสข่าวโจษจันเกี่ยวกับเสียงไม่พอใจของเหล่าชาวพุทธและองค์กรชาวพุทธฯ หลังจากมีการเผยแพร่ผลงานของนักศึกษาหญิงคนหนึ่งจากคณะครุศาสตร์ หลักสูตรศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่จัดแสดงไว้ ณ ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา 

 

โดยผลงานชิ้นดังกล่าวนั้นเป็นการนำพระพุทธรูป ซึ่งในขนบความเชื่อของพุทธศาสนิกชนนั้นเป็นตัวแทนให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า มาตีความใหม่ให้รูปร่างภายนอกเป็นยอดมนุษย์อุลตร้าแมนอันโด่งดัง และเหลือไว้แต่เพียงใบหน้าที่ยังคงความงดงามของพระพุทธรูปดังที่ชาวพุทธคุ้นเคย 

 

พระพุทธรูปอุลตร้าแมน

 

หากแต่เมื่อย้อนมองลึกไปทำความรู้จักกับเรื่องราวของยอดมนุษย์อุลตร้าแมน มนุษย์ต่างดาวจากกาแล็กซี่เนบิวลา M78 ที่ตัดสินใจใช้ร่างของ ‘ชิน ฮายาตะ’ มนุษย์โลกจากหน่วยสืบสวนพิเศษทางวิทยาศาสตร์ SSSP ให้เป็นร่างสถิต โดยเขาสามารถกลายร่างเป็น ‘อุลตร้าแมน’ เพื่อปราบสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์ได้ครั้งละ 3 นาที สาเหตุเนื่องจากสภาพแวดล้อมบนโลกไม่เหมาะสมกับพลังงานชีวิตของเหล่าอุลตร้าแมน และนั่นจึงเป็นเป็น 3 นาทีสำหรับการต่อสู้ปกป้องโลกที่เต็มไปด้วยความกดดันด้านเวลา และความร้ายกาจของสัตว์ประหลาด 

 

หากการต่อสู้ยืดเยื้อจนครบ 3 นาที พลังงานชีวิตของเหล่าอุลตร้าแมนจะหมดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อนั้นปุ่มคัลเลอร์ไทเมอร์ที่กลางหน้าอกจะกะพริบเตือนให้เร่งเผด็จศึกสัตว์ประหลาดร้าย แต่ขณะเดียวกัน หลายครั้งที่จุดอ่อนนี้นำพาให้อุลตร้าแมนต้องพลาดท่าจบชีวิตลง

 

อุลตร้าแมนนั้นถูกสร้างสรรค์โดยสึบุรายะโปรดักชั่นส์ และโตโฮโปรดักชั่นส์ เพื่อเป็นซีรีส์ฉายทางโทรทัศน์ที่ประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวครั้งแรกในชื่อว่า ‘อุลตร้า คิว’ ในช่วงปี 1966

 

*ส่วนการอ้างสิทธิ์ร่วมไปถึงเครดิตด้านแรงบันดาลใจในการออกแบบยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่จนถึงปัจจุบัน 

 

พระพุทธรูปอุลตร้าแมน
พระพุทธรูปอุลตร้าแมน

พระพุทธรูปอุลตร้าแมน

แบบร่างในช่วงพัฒนาที่เริ่มจาก Bemlar ได้แรงบันดาลใจมาจาก Tenten-gu ของอาจารย์โทรุ นาริตะ

 

แต่เครดิตที่ได้รับการยอมรับ และบทบันทึกทางประวัติศาสตร์นั้น ‘อุตร้าแมน’ ออกแบบโดยอาจารย์โทรุ นาริตะ (อาจารย์ใช้ชื่อในงานออกแบบว่า Tohl Narita) โดยพัฒนามาจากร่างต้นแบบแรกจาก Bemlar ที่มีลักษณะหน้าตาคล้ายปีศาจพื้นบ้านของญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Tenten-gu (แฟนมังงะมักจะได้เห็นคาแรกเตอร์นี้อยู่บ่อยๆ ในการ์ตูนหลายเรื่อง) ที่มีลักษณะผสมระหว่างมนุษย์และนก แต่แบบร่างนี้ถูกยกเลิกไป

 

พระพุทธรูปอุลตร้าแมน

ภาพอาจารย์โทรุ นาริตะ จาก tohlnarita.com/profile

 

ก่อนที่แบบร่างต่อมาซึ่งพัฒนาขึ้นจาก Redman ตัวละครฮีโร่ลึกลับในชุดสีแดงที่เคยปรากฏตัวทางโทรทัศน์มาแล้ว 

 

 

คลิกเพื่อดูตัวละคร Redman

 

 

ขณะเดียวกันที่ประเทศไทย สมโพธิ แสงเดือนฉาย ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย ผู้ก่อตั้งบริษัท ไชโยโปรดักชั่นส์ จำกัด ก็เป็นอีกคนที่เอ่ยอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าของไอเดียแรกของอุลตร้าแมน เมื่อครั้งที่เจ้าตัวเป็นนักศึกษาฝึกงานอยู่ที่บริษัท โตโฮโปรดักชั่นส์ จำกัด

 

โดยอ้างว่าได้รับแรงบันดาลใจจากภาพถ่ายของพระพุทธรูปยุคสุโขทัยปางเปิดโลก ก่อนจะส่งต่อไปให้ โทรุ นาริตะ นักออกแบบฮีโร่และสัตว์ประหลาดระดับตำนานชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ร่างต้นแบบ

 

ส่วนจุดเริ่มต้นความโด่งดังของอุลตร้าแมนนั้น หลังจากเปิดตัวด้วย ‘อุลตร้า คิว’ เหล่าซีรีส์ในจักรวาลอุลตร้าก็ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านคาแรกเตอร์ในครอบครัวอุลตร้าที่ถูกสร้างตามออกมามากมายนับตั้งแต่ยุคโชวะของประเทศญี่ปุ่น เช่น อุลตร้าแมน, อุลตร้าเซเว่น, อุลตร้าแมนแจ็ค, อุลตร้าแมนเอซ, อุลตร้าแมนทาโร่ ฯลฯ 

 

พระพุทธรูปอุลตร้าแมน

 

และความโด่งดังนี้เองที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่เฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น หลายปีต่อมาอุลตร้าแมนได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ไทยในชื่อ หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ เข้าฉายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างไชโยภาพยนตร์ ซึ่งก่อตั้งโดย สมโพธิ แสงเดือนฉาย และสึบุรายะโปรดักชั่นส์ ผู้ผลิตซีรีส์ต้นฉบับออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่น โดยได้นักแสดงนำอย่าง ยอดชาย เมฆสุวรรณ, ภาวนา ชนะจิต ฯลฯ 

 

ในเรื่องเป็นการปรากฏตัวร่วมกันของ 7 ยอดมนุษย์จากประเทศญี่ปุ่นอย่าง อุลตร้าแมนโซฟี่, อุลตร้าแมน, อุลตร้าเซเว่น, อุลตร้าแมนแจ็ค, อุลตร้าแมนเอซ, อุลตร้าแมนทาโร่ และเจ้าแม่อุลตร้า 

 

โดยได้ชุบชีวิตเด็กชาย ‘โก๊ะ’ เด็กชายชาวไทยที่พยายามจะปกป้องโบราณวัตถุ ‘เศียรพระพุทธรูป’ จากโจรจนตนเองถูกยิงตาย ก่อนที่จะได้เหล่าพี่น้องอุลตร้าช่วยชุบชีวิตเอาไว้ในร่าง ‘หนุมาน’ ตัวละครเอกในวรรณคดีไทยอย่าง รามเกียรติ์ ที่เก่งกาจทรงอิทธิฤทธิ์ ซึ่งจะต้องต่อสู้กับสัตว์ประหลาดระดับตำนานของบริษัทสึบุรายะโปรดักชั่นส์อย่าง โกโมร่า, ไทแรนท์, แอโดมอน, ดัสโตแปง, โดโรบอน

 

โดยหลังจากเข้าฉาย ภาพยนตร์โด่งดังทั้งในไทย และประสบความสำเร็จในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่หนังทำรายได้ไปกว่า 70 ล้านบาทในขณะนั้น  

 

และจนถึงทุกวันนี้ หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ ยังยืนหนึ่งในความทรงจำในฐานะภาพยนตร์ยอดมนุษย์ระดับตำนานของไทย อีกทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นภาพยนตร์ 25 เรื่องที่กระทรวงวัฒนธรรมเลือกให้เป็นมรดกของชาติ เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย ประจำปี พ.ศ. 2555 

 

THE STANDARD POP ขอสรุปทิ้งท้ายไว้ด้วยถ้อยคำของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในปี 2554 และเป็นผู้สร้างและออกแบบวัดร่องขุ่นอันโด่งดังไปทั่วโลกที่บอกไว้ในช่วงต้นว่า

 

“เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ เด็กมีจินตนาการ เปลี่ยนแปลง นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ คนสมัยใหม่เป็นแบบนี้ กล้าหาญ ดังนั้นตอนนี้เราไปด่าเด็ก ทำให้เด็กทั้งประเทศหวาดกลัว ทำอะไรก็ไม่ได้ อยากทำสิ่งที่แปลกใหม่ออกไปก็ทำไม่ได้

 

“นั่นคือปัญหาที่ทำให้บ้านเมืองเราแย่ลง ทุกวันนี้บ้านเมืองของเรามีแต่คนลอกๆๆๆ มันลอกอย่างเดียว ลอกทุกสิ่งทุกอย่าง มันเลยคิดไม่เป็น มันคิดเป็น แต่เด็กไม่กล้าที่จะคิดต่าง ดังนั้นเราเลยลอกอย่างเดียว บ้านเมืองเราจะเจริญได้ยังไง ลอกเขาเราจะได้สักกี่สตางค์ ต้องคิดใหม่ สร้างใหม่สิ” 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising