×

ย้อนปมขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ก่อนนำมาสู่สถานการณ์ตึงเครียดสุดในรอบหลายปี

โดย THE STANDARD TEAM
23.01.2022
  • LOADING...
ขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย

ยูเครนและรัสเซียกำลังเผชิญหน้ากันอย่างตึงเครียดที่สุดในรอบหลายปี เมื่อรัสเซียสั่งสมกองกำลังใกล้พรมแดนของสองประเทศ ทำให้ยูเครน รวมถึงมหาอำนาจตะวันตก หวั่นเกรงว่ามอสโกอาจกำลังเตรียมการเพื่อที่จะบุกเข้าโจมตี

 

ยูเครนเตือนว่า รัสเซียกำลังพยายามทำให้ประเทศระส่ำระสาย ก่อนบุกโจมตีทางทหารตามแผนที่วางไว้ ขณะที่มหาอำนาจตะวันตกเตือนรัสเซียหลายครั้งถึงผลพวงที่จะตามมาหากรุกรานยูเครน

 

อย่างไรก็ตาม เครมลิน ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ปฏิเสธว่าไม่ได้กำลังวางแผนโจมตี พร้อมกับโต้ว่าการสนับสนุนของ NATO ต่อยูเครน ไม่ว่าจะเป็นอาวุธและการฝึกทหาร ถือเป็นภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นในแนวรบฝั่งตะวันตกของรัสเซีย

 

  • สถานการณ์ที่ชายแดนเป็นอย่างไร?

สหรัฐอเมริกาและ NATO อธิบายการเคลื่อนไหวและการรวมพลของกองกำลังในและรอบๆ ยูเครนว่า ‘ผิดปกติ’

 

ทหารรัสเซียจำนวนมากถึง 100,000 นายยังคงประจำการอยู่ที่ชายแดนยูเครน แม้ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ และผู้นำยุโรปจะออกโรงเตือนถึงผลกระทบร้ายแรง หากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินเดินหน้าบุกโจมตียูเครน และผลการศึกษาของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เมื่อเดือนธันวาคมคาดการณ์ว่า รัสเซียสามารถเริ่มการโจมตีทางทหารในยูเครนอย่างเร็วที่สุดในปี 2022

 

แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ในโอกาสที่เดินทางเยือนกรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 19 มกราคมว่า รัสเซียได้เพิ่มการคุกคาม และรวบรวมกองกำลังเกือบ 100,000 นายที่ชายแดนยูเครน ซึ่งอาจเพิ่มเป็นสองเท่าได้อย่างรวดเร็ว

 

ในช่วงปลายปี 2021 ภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย เช่น ปืนใหญ่อัตตาจร รถถังประจัญบาน และยานรบทหารราบ ขณะเคลื่อนที่ที่สนามฝึก ห่างจากชายแดนประมาณ 300 กม.

 

การประเมินข่าวกรองล่าสุดของกระทรวงกลาโหมยูเครนระบุว่า ขณะนี้รัสเซียได้ส่งกำลังทหารมากกว่า 127,000 นายมารอท่าใกล้กับยูเครน รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ทหารอากาศและทหารเรือประมาณ 21,000 นาย ขนย้ายขีปนาวุธ Iskander ไปยังชายแดนเพิ่มอีก ตลอดจนมีการเพิ่มกิจกรรมด้านข่าวกรองต่อยูเครน

 

การประเมินดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการเจรจาทางการทูตระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก 3 รอบ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความรุนแรงของวิกฤตชายแดนยูเครนที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้

 

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า รัสเซียอาจบุกยูเครนได้ทุกเมื่อในเดือนหรือสองเดือนหน้า

 

ฐานทัพของรัสเซียหลายแห่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้ว ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับประเทศมักมีแนวโน้มที่จะมาจากทิศทางนี้มากที่สุด โดยกระทรวงกลาโหมของรัสเซียกล่าวว่า ทางกระทรวงดำเนินการฝึกทหารในฤดูหนาว ‘ตามปกติ’ ในพื้นที่ทางใต้ของประเทศ ซึ่งบางส่วนมีพรมแดนติดกับยูเครน

 

ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคโดเนตสก์และลูฮันสก์ทางตะวันออกของยูเครนที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย หรือที่เรียกว่าภูมิภาคดอนบาสส์ อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียตั้งแต่ปี 2014 นอกจากนี้กองกำลังรัสเซียก็อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งยูเครนเรียกว่า ‘ดินแดนที่ถูกยึดครองชั่วคราว’ แม้ว่ารัสเซียจะปฏิเสธก็ตาม

 

แม้แนวหน้าของความขัดแย้งแทบไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ใน 5 ปี แต่มีการปะทะกันขนาดเล็กและการโจมตีด้วยสไนเปอร์บ่อยครั้ง โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัสเซียไม่พอใจเมื่อกองกำลังยูเครนส่งโดรนต่อสู้เพื่อโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซีย

 

ขณะเดียวกันรัสเซียยังมีกองกำลังนับหมื่นที่ฐานทัพเรือขนาดใหญ่ในแหลมไครเมีย ซึ่งเป็นดินแดนของยูเครนที่รัสเซียผนวกเข้าเป็นดินแดนของตนเองในปี 2014 โดยปัจจุบันคาบสมุทรไครเมียซึ่งอยู่ทางใต้ของประเทศยูเครน มีสะพานถนนเชื่อมต่อเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ของรัสเซีย

 

  • ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียมีที่มาที่ไปอย่างไร?

ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศเคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2013 สืบเนื่องจากข้อตกลงทางการเมืองและการค้าที่สำคัญกับสหภาพยุโรป หลังจากที่ วิกเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดีซึ่งสนับสนุนรัสเซียในขณะนั้น ระงับการเจรจา โดยว่ากันว่าเป็นเพราะถูกกดดันจากมอสโก การประท้วงในเคียฟเป็นเวลาหลายสัปดาห์ได้ปะทุกลายเป็นเหตุการณ์รุนแรง

 

จากนั้นในเดือนมีนาคม 2014 รัสเซียผนวกไครเมีย ซึ่งเป็นคาบสมุทรปกครองตนเองทางตอนใต้ของยูเครนที่มีความจงรักภักดีต่อรัสเซียอย่างเข้มแข็ง โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องผลประโยชน์และพลเมืองที่พูดภาษารัสเซีย ทั้งนี้ หลังจากการลงประชามติที่ยูเครนและประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่ยอมรับ รัสเซียก็สามารถผนวกไครเมียได้สำเร็จภายในเวลาไม่กี่วัน

 

หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียในภูมิภาคโดเนตสก์และลูฮันสก์ของยูเครนประกาศอิสรภาพจากเคียฟ ทำให้เกิดการต่อสู้อย่างหนักเป็นเวลาหลายเดือน แม้ว่าเคียฟและมอสโกจะลงนามในข้อตกลงสันติภาพที่กรุงมินสค์ในปี 2015 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสและเยอรมนี แต่ก็มีการละเมิดหยุดยิงซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

จากตัวเลขของสหประชาชาติ มีพลเรือนเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมากกว่า 3,000 คนในยูเครนตะวันออกตั้งแต่เดือนมีนาคม 2014

 

สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้มาตรการต่างๆ เพื่อตอบโต้การกระทำของรัสเซียในคาบสมุทรไครเมียและยูเครนตะวันออก ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อบุคคล หน่วยงาน และภาคส่วนที่สำคัญของเศรษฐกิจรัสเซีย

 

ด้านเครมลินกล่าวหายูเครนว่าปลุกปั่นความตึงเครียดในภาคตะวันออกของประเทศและละเมิดข้อตกลงหยุดยิงมินสค์

 

  • รัสเซียมองอย่างไร?

 

เครมลินปฏิเสธมาโดยตลอดว่ารัสเซียไม่ได้มีแผนที่จะบุกยูเครน โดยยืนกรานว่ารัสเซียจะไม่คุกคามใคร และการที่ประเทศเคลื่อนย้ายกองกำลังข้ามอาณาเขตของตนไม่ควรเป็นเหตุให้ต้องตื่นตระหนก

 

อย่างไรก็ดี มอสโกมองว่าการสนับสนุนยูเครนที่เพิ่มขึ้นจาก NATO ในแง่ของอาวุธ การฝึกทหาร และบุคลากรนั้น ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซีย ทั้งยังกล่าวหาว่ายูเครนเพิ่มจำนวนกองกำลังของตนเองเพื่อเตรียมพร้อมที่จะยึดภูมิภาคดอนบาสกลับคืน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ยูเครนปฏิเสธ

 

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เรียกร้องให้มีการทำข้อตกลงทางกฎหมาย เพื่อที่จะไม่ให้ NATO แผ่ขยายไปทางตะวันออกสู่พรมแดนของรัสเซีย โดยกล่าวว่าตะวันตกไม่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ด้วยวาจาก่อนหน้านี้

 

ด้านเครมลินกล่าวในเดือนพฤศจิกายนว่า สหรัฐฯ และประเทศสมาชิก NATO อื่นๆ ได้ส่งอาวุธและที่ปรึกษาทางทหารไปยังยูเครนแล้ว “แน่นอนว่าทั้งหมดนี้นำไปสู่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นของสถานการณ์ที่ชายแดน” เขากล่าว

 

ขณะที่ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเตือนว่า หากสหรัฐฯ และพันธมิตร NATO ไม่เปลี่ยนแนวทางในยูเครน มอสโกมีสิทธิ์ที่จะเลือกวิธีการในการรับรองผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของตนเอง

 

  • ยูเครนมองอย่างไร?

รัฐบาลยูเครนยืนยันว่า มอสโกไม่สามารถขัดขวางเคียฟจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ NATO ได้ หากยูเครนเลือกที่จะทำเช่นนั้น 

 

“รัสเซียไม่สามารถหยุดยูเครนไม่ให้ใกล้ชิดกับ NATO มากขึ้น และไม่มีสิทธิ์พูดอะไรด้วย” กระทรวงการต่างประเทศระบุในถ้อยแถลงที่ส่งถึง CNN หลังจากรัสเซียออกมาเรียกร้องให้ NATO ยุติการขยายกองกำลังไปทางตะวันออก

 

“ข้อเสนอของรัสเซียที่จะหารือกับ NATO หรือสหรัฐฯ เกี่ยวกับการรับประกันว่ากองกำลังพันธมิตรจะไม่ขยายไปยังตะวันออก ถือเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย” แถลงการณ์ระบุ

 

ยูเครนยืนยันว่ารัสเซียกำลังพยายามทำให้ประเทศสั่นคลอน โดยประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับแผนการทำรัฐประหารในยูเครน

 

ดีมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน เตือนว่า แผนการรัฐประหารอาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนของรัสเซียก่อนการรุกรานทางทหาร โดยระบุว่า รัสเซียสร้างแรงกดดันทางการทหารจากภายนอก ควบคู่กับการสั่นคลอนภายในประเทศ

 

ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศทวีความรุนแรงขึ้นจากวิกฤตพลังงานในยูเครน ซึ่งเคียฟเชื่อว่ามอสโกเจตนายั่วยุ นอกจากนี้รัฐบาลของเซเลนสกียังเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ความนิยมของรัฐบาลชะงักงันท่ามกลางการระบาดของโควิดระลอกที่ 3 เมื่อเร็วๆ นี้ และปัญหาด้านเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้า

 

หลายคนไม่พอใจที่รัฐบาลไม่ได้ให้สวัสดิการแก่ประชาชนตามที่สัญญาไว้ รวมถึงไม่สามารถยุติความขัดแย้งทางตะวันออกของประเทศ ส่งผลให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกรุงเคียฟ

 

ในการปราศรัยเมื่อวันที่ 19 มกราคม เซเลนสกีได้เรียกร้องให้ชาวยูเครนอยู่ในความสงบ ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นว่ารัสเซียอาจรุกรานประเทศ อย่างไรก็ดี เขาเสริมว่า เขาเชื่อด้วยใจจริงว่าปีนี้ “จะผ่านไปโดยไม่มีสงคราม” กับรัสเซีย

 

ภาพ: Volodymyr Tarasov / Ukrinform / Barcroft Media via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising