วันนี้ (18 มีนาคม) สถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย จัดการแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กำลังดำเนินอยู่ โดยการแถลงข่าวครั้งนี้มีขึ้นที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ และเกิดขึ้น 3 วันหลังจากสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย เปิดแถลงข่าวในเรื่องเดียวกันไปก่อนหน้านี้ โดยมี โอเล็กซานเดรอ ไลซัค อุปทูตยูเครนประจำประเทศไทยเป็นผู้แถลง และมีการจัดแสดงภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นในเมืองต่างๆ ของยูเครนภายในงาน
ไลซัคเริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับ และเปิดวิดีโอรวมภาพสถานการณ์สงครามและความสูญเสียที่ทางยูเครนรวบรวมไว้ และมีข้อความปิดท้ายวิดีโอแปลได้ว่า “ปิดน่านฟ้าเหนือยูเครน”
ต่อมาไลซัคได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยและประชาชนไทยสำหรับการสนับสนุนยูเครนบนเส้นทางเพื่อการบรรลุสันติภาพ โดยกล่าวถึงการที่ไทยเป็นหนึ่งใน 141 ประเทศที่สนับสนุนมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานทางทหารต่อยูเครนในทันที รวมถึงระบุว่าคนไทยและธุรกิจในไทยได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนสันติภาพในยูเครนแล้วเกือบ 7 ล้านบาท พร้อมระบุว่ายูเครนต้องการการบริจาคเหล่านี้
ต่อมาไลซัคกล่าวถึงการโจมตียูเครนอย่างเปิดเผยของรัสเซีย โดยระบุว่ามีการบุกรุกอธิปไตยของยูเครน สังหารพลเรือน และทำลายโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกองทหารรัสเซียโจมตียูเครนจากอาณาเขตของรัสเซีย เบลารุส ตลอดจนภูมิภาคโดเนตสก์ ลูฮันสก์ และไครเมีย ซึ่งอุปทูตยูเครนเรียกสามภูมิภาคดังกล่าวว่าเป็น ‘ส่วนที่ถูกยึดครองชั่วคราวของยูเครน’
ทั้งนี้ อุปทูตยูเครนได้ย้ำว่า นี่เป็นสงครามเต็มรูปแบบ ไม่ใช่ ‘ความขัดแย้งในยูเครน’ หรือ ‘ปฏิบัติการ’
เขายังชี้ว่ารัสเซียล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายหลัก เช่น ยูเครนไม่ได้ยอมจำนนในสามวันอย่างที่รัสเซียคาด, กรุงเคียฟในฐานะศูนย์บัญชาการทางการเมืองและการทหารยังคงไม่เสียหาย, ไม่มีเมืองใหญ่ถูกยึดยกเว้นเคอร์ซอน, มีชาวยูเครนประท้วงต่อต้านรัสเซียในเมืองที่อยู่ใต้การควบคุมชั่วคราวของรัสเซีย หรือการปฏิเสธการอ้างเพื่อจัดตั้งสิ่งที่ไลซัคเรียกว่าเป็น ‘สาธารณรัฐประชาชนปลอม’ ในเมืองเคอร์ซอนโดยผู้ยึดครองชาวรัสเซีย
ไลซัคยังกล่าวถึงสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมว่ากำลังย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว โดยระบุถึงการโจมตีในหลายเมือง ความสูญเสียต่อชีวิต อาคารสถานที่ และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงกล่าวหาว่าเขตฉนวนเพื่อมนุษยธรรมนั้นถูกละเมิดอย่างเป็นปกติโดยทหารรัสเซีย นอกจากนี้เขายังอ้างถึงตัวเลขจำนวนผู้บาดเจ็บ 1,174 ราย และเสียชีวิตอีก 726 ราย ตลอดจนผู้อพยพอีกกว่า 3.1 ล้านรายจากหน่วยงานของสหประชาชาติ
เขายังระบุว่ายูเครนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน และเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ พิจารณาให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศให้มีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครนมากขึ้น และระบุถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกว่า 70,000 ตันที่ยูเครนได้รับ
“อย่างไรก็ดี ยูเครนยังคงสู้ต่อไปและเราจะชนะ” ไลซัคระบุ พร้อมกล่าวถึงการต่อสู้ของยูเครนต่อรัสเซีย อาสาสมัครกว่า 20,000 คนจาก 52 ประเทศที่กำลังมาจากต่างชาติเพื่อสมทบกองกำลังนานาชาติ ตลอดจนความพยายามของรัฐบาลต่างชาติและสถาบันระหว่างประเทศในการนำรัสเซียสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมถึงคำสั่งศาลโลกที่ให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครน พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศดำเนินการขั้นตอนอื่นเพิ่มเติมอีก เช่น การจัดตั้งเขตห้ามบินในยูเครน, การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบต่อต้านทางอากาศของยูเครน ซึ่งรวมถึงการจัดหาอากาศยานทางทหาร, การตัดธนาคารรัสเซียทั้งหมดออกจากระบบ SWIFT, การแบนการค้ากับรัสเซีย ซึ่งรวมถึงภาคน้ำมันและแก๊ส และการขายทองคำและแร่ธาตุ, การแบนสิ่งที่อุปทูตยูเครนระบุว่าเป็น ‘ช่องโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียทั้งหมด’ ที่ถ่ายทอดความเท็จเกี่ยวกับสงคราม, การที่รัฐบาลทั่วโลกจะเรียกร้องให้ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียยุติสงคราม ฯลฯ และกล่าวถึงการประท้วงต่อต้านการรุกรานของรัสเซียที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ต่อมา ไลซัคกล่าวถึงการเจรจาระหว่างผู้แทนสองชาติที่เกิดขึ้น โดยย้ำถึงลำดับความสำคัญในการเจรจาสำหรับ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ซึ่งรวมถึงการสิ้นสุดของสงคราม, การประกันความมั่นคง, อำนาจอธิปไตย และการฟื้นฟูบูรณภาพแห่งดินแดน รวมถึงข้อเสนอของเซเลนสกีให้จัดตั้งสมาคมแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ ‘U-24’ ซึ่งที่มีความเข็มแข็งและสำนึกในการยุติความขัดแย้ง โดยมีเป้าหมายเริ่มต้นเพื่อให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นทั้งหมดด้วยการสนับสนุนทางทหาร มนุษยธรรม การเมือง และการเงิน ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อบรรลุสันติภาพ สมาคมนี้สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของวิกฤตด้านมนุษยธรรมหรือโรคระบาดได้
จากนั้นจึงเป็นการถามคำถามโดยสื่อมวลชน ซึ่งมีคำตอบที่น่าสนใจ อาทิ อุปทูตยูเครนยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีอาสาสมัครคนไทยอยู่ในยูเครนและทำหน้าที่ทหารในยูเครน หรือการเผยว่ามีชาวยูเครนอยู่ในไทยมากกว่า 3,000 คนในขณะนี้ ซึ่งไม่สามารถเดินทางกลับยูเครนได้ โดยในเรื่องนี้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย และการให้ความช่วยเหลือ เช่น การจัดทำเว็บไซต์เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเสนอที่พักฟรีให้กับชาวยูเครนที่ต้องการ การประสานไปยังหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อขอให้พิจารณาขยายเวลาการอยู่ในประเทศไทย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน โดยบางคนสามารถเช่าอพาร์ตเมนต์ หรือมีความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ได้
ไลซัคยังระบุว่าครอบครัวของเขาอยู่ในกรุงเคียฟและได้คุยกันทุกวัน โดยพวกเขาหวาดกลัวกับสถานการณ์นี้และกลัวการทิ้งระเบิดด้วย
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตภายในงานว่า มีการนำธงชาติไทยที่ตั้งคู่กับธงชาติยูเครนบนโต๊ะแถลงข่าวออกก่อนการแถลงข่าวจะเริ่มขึ้น ทำให้เหลือเพียงธงยูเครนเท่านั้นที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ ซึ่งอุปทูตยูเครนไม่ได้ชี้แจงในเรื่องนี้แม้ถูกถาม เพียงแต่ระบุว่า เข้าใจว่ารัฐบาลไทยสนับสนุนยูเครนบนหนทางสู่การบรรลุสันติภาพ และย้ำถึงการที่ไทยโหวตสนับสนุนมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยบอกว่า “สิ่งเหล่านี้สำคัญที่สุด และเราหวังว่าการสนับสนุนนี้จะดำเนินต่อไปและความสัมพันธ์ฉันมิตรของเราจะคงอยู่ตลอดไป”
ประเด็นนี้ทีมข่าว THE STANDARD สอบถามไปยัง ณัฐภาณุ นพคุณ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งณัฐภาณุระบุว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ แต่โดยหลักพิธีการทางการทูตแล้ว หากเป็นการจัดกิจกรรมโดยประเทศใดเพียงฝ่ายเดียวก็จะใช้ธงเดียว แต่หากมีการจัดกิจกรรมร่วมกันสองประเทศก็สามารถใช้ธงสองผืนได้