×

2 ปีสงครามยูเครน ยังห่างไกลสันติภาพ

24.02.2024
  • LOADING...
สงครามยูเครน

“สงครามถ้ามันเกิดแล้ว แพ้กันทั้งหมดครับ ไม่มีใครเป็นผู้ชนะเลย”

 

นี่คือถ้อยคำที่ พ.ท. อรรถพร ประชานุกูล ศิษย์เก่าวิทยาลัยเสนาธิการแห่งกองทัพรัสเซีย กล่าวขึ้นมาในโอกาสที่สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียเวียนมาครบ 2 ปีเต็ม 

 

  • 2 ปีที่ผ่านมา สูญเสียไปเท่าไร

 

ข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ในฝั่งของยูเครนมีประชากรมากกว่า 14 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน หรือเทียบให้เห็นภาพที่คนในกรุงเทพฯ ทั้งหมดต้องแตกกระเจิงไปคนละทิศคนละทาง และคูณเข้าไปอีกเกือบๆ 3 เท่า ขณะข้อมูลของ Oxfam รายงานว่า มีพลเรือนกว่า 10,500 คนเสียชีวิต หรือทุกๆ วันเฉลี่ยแล้วจะมีคนเสียชีวิต 44 คน 

 

ส่วนในฝั่งรัสเซียนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าไม่เคยมีการเปิดเผยยอดความเสียหายจากสงครามอย่างเป็นทางการ แต่มีตัวเลขประมาณการออกมาจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ที่คาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตจากสงครามราว 60,000 คน และยังไม่นับรวมผู้บาดเจ็บอีกซึ่งคาดว่าจะมากกว่านี้ 3-4 เท่าตัว อีกทั้งยังมีสารพัดมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกที่ทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียบอบช้ำถึงขั้นดิ่งเหว นักธุรกิจและประชาชนทั่วไปลำบากกันถ้วนหน้า หลายคนเลือกหนีออกนอกประเทศเพื่อความอยู่รอด บ้างก็ไม่อยากเกณฑ์ทหาร โดยคาดว่ามีประชาชนเกือบ 1 ล้านคนที่หนีออกจากรัสเซียนับตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2022

 

  • ความหวังเจรจาแสนริบหรี่

 

ท่ามกลางสงครามที่ดำเนินมากว่า 2 ปี ยังไม่เคยมีสักครั้งที่โลกได้เห็นแสงแห่งความหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะยอมนั่งโต๊ะเจรจา แม้จะมีความพยายามจากบางประเทศที่ปรารถนาเข้ามารับบทกาวใจไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง เช่นชาติแอฟริกาหรือจีน แต่ทั้งประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ต่างก็ไม่มีใครยอมก้มหัวให้กับใคร

 

ฉะนั้นปี 2024 ฉากทัศน์ที่คาดว่าเป็นไปได้มากที่สุด คือสงครามจะยังยืดเยื้อต่อไป เพราะยูเครนก็ยังมุ่งมั่นที่จะสู้ต่อเพื่อทวงคืนดินแดนที่ทหารรัสเซียยึดครองไปได้ ส่วนความพึงพอใจเดียวของปูตินในเวลานี้ คือเห็นยูเครนยอมศิโรราบให้ตนเองอย่างไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใดๆ

 

หากย้อนไปดูบทสัมภาษณ์ของปูตินที่ให้กับ ทักเกอร์ คาร์ลสัน พิธีกรชื่อดังของสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2024 จะเห็นว่าปูตินกล่าวว่าตนเองมีความสนใจที่ใช้แนวทางการเจรจา แต่เงื่อนไขของฝั่งรัสเซียอาจมากเกินไปจนฝั่งยูเครนไม่ยอมรับการเจรจาดังกล่าว

 

ฟีโอดอร์ ลุคยานอฟ หัวหน้าสภานโยบายต่างประเทศและกลาโหม (Council on Foreign and Defense Policy) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังความคิดของรัสเซีย ระบุว่า ตัวเขาไม่คิดว่าจะได้เห็นการเจรจาใดๆ ในเร็ววันนี้ เพราะดูเหมือนว่าจะไม่มีประเด็นใดเลยที่สองฝ่ายจะนำมาตกลงกันได้

 

มาจนถึงตอนนี้หลายคนอาจมีคำถามในใจว่า “เมื่อการเจรจาดูไม่น่ามีหวัง แล้วสงครามจะขยายวงไปไกลกว่าเดิมแค่ไหน” 

 

พ.ท. อรรถพร กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า หากดูในแง่ของพื้นที่ รัสเซียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าไทยถึง 23 เท่า แต่หากดูในแง่ของจำนวนประชากรแล้ว รัสเซียมีคนมากกว่าไทยแค่ 1 เท่า ฉะนั้น รัสเซียจึงจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังพลอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็มีการสูญเสียไพร่พลที่มีความชำนาญการรบไปแล้วด้วยส่วนหนึ่ง 

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ฉากทัศน์ที่ พ.ท. อรรถพรคาดการณ์ไว้ คือรัสเซียไม่น่าจะบุกรุกคืบไปได้ไกลกว่าปัจจุบันมากนัก และอีกเหตุผลหนึ่งคือยูเครนได้เตรียมการตั้งรับมานานมากแล้ว และเป็นการตั้งรับอย่างแข็งขันด้วย จึงคิดว่าในปี 2024 แม้สงครามจะยืดเยื้อ แต่ก็ไม่น่าจะกินดินแดนไปได้ไกลมากนัก เต็มที่อาจจะแค่แนวแม่น้ำดนิโปรเท่านั้น

 

  • สงครามของยูเครน-รัสเซีย หรือใครกันแน่

 

แม้ตัวแสดงหลักของสงครามที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือยูเครนและรัสเซียซึ่งมีปมความขัดแย้งกันมายาวนาน แต่เราทุกคนต่างรู้ดีว่ายังมีตัวแสดงอื่นๆ ที่เข้ามาเอี่ยวจนทำให้สงครามที่เกิดขึ้นยืดเยื้อมาจนถึงเวลานี้

 

อ.ดร.รุสตั้ม หวันสู อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ย้อนภาพของสงครามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาให้ได้เห็นภาพชัด โดยแบ่งเป็น 3 เฟสด้วยกัน 

 

เฟสที่ 1 รัสเซียได้รุกเข้าไปในยูเครน ก่อนที่จะครอบครองพื้นที่ได้จำนวนมาก พร้อมนำกำลังบุกไปประชิดกรุงเคียฟ และยึดพื้นที่ในเมืองทางใต้และตะวันออกได้ส่วนหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ติดข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ จนทำให้ต้องถอนกำลังออกจากบางพื้นที่ 

 

โดยดินแดนหลักๆ ที่รัสเซียยึดได้ในช่วงนี้คือ 4 แคว้น ได้แก่ ลูฮันสก์, โดเนตสก์, เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย ซึ่งคิดเป็นพื้นที่เกือบ 1 ใน 5 ของยูเครน และยังมีไครเมียที่ยึดมาได้ก่อนหน้านี้ ทำให้รัสเซียประสบความสำเร็จในการเชื่อมระเบียงทางบกที่เชื่อมต่อจากชายแดนด้านตะวันตกของรัสเซียไปยังไครเมีย

 

ต่อมาในเฟสที่ 2 ยูเครนทำการโต้กลับ แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก บทเรียนในครั้งนั้นทำให้ยูเครนรู้ว่าตัวเองมีข้อจำกัดด้านกำลังทหารและอาวุธ แม้จะได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกอย่างมากก็ตาม 

 

เหตุผลเพราะว่าหากมองในแง่ของภูมิศาสตร์ จะเห็นว่าสงครามเกิดขึ้นในชายแดนของรัสเซีย ทำให้การส่งกำลังบำรุงมายังทหารของรัสเซียในแนวรบต่างๆ ทำได้รวดเร็ว อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เดินทางแค่ไม่กี่ร้อยกิโลเมตรก็ส่งถึงที่ ผิดกับยูเครนที่กว่าอาวุธต่างๆ จากชาติตะวันตกจะมาถึงต้องใช้ระยะทางหลายพันกิโลเมตร 

 

ส่วนเฟสที่ 3 ซึ่งเป็นเฟสปัจจุบัน ยูเครนได้ปรับเข้าสู่โหมดการป้องกันเชิงรุก (Active Defense) เพราะในเมื่อเรียนรู้แล้วว่าตนเองไม่สามารถรุกเข้าไปในรัสเซียได้ ก็ต้องตั้งรับให้เหนียวแน่น เน้นใช้อาวุธที่ดีขึ้น รวมถึงมีการใช้ขีปนาวุธและโดรนโจมตีเข้าไปในรัสเซียเป็นระยะ

 

หากถามว่าถ้า 2 ประเทศนี้รบกันจริงๆ โดยไม่มีตัวแปรอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง อ.ดร.รุสตั้ม กล่าวว่า แน่นอนว่ารัสเซียคงชนะไปนานแล้ว เพราะสถานะของยูเครนและรัสเซียต่างกันมาก ถึงแม้ยูเครนจะมีความสามารถในการผลิตอาวุธก็จริง แต่ก็เทียบไม่ได้เลยกับรัสเซียที่มีศักยภาพในการผลิตอาวุธสูงมากเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลก แถมยังเป็นชาติที่มีความโดดเด่นในด้านการทหาร

 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าสงครามในครั้งนี้มีตัวแสดงอื่นๆ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ จนทำให้มีคนตั้งคำถามว่า “หรือสงครามนี้จะเป็นสงครามระหว่างรัสเซียและ NATO ที่นำโดยสหรัฐฯ”

 

สงครามที่เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านระบบการเมืองระหว่างประเทศ ปัจจุบันสหรัฐฯ ไม่ใช่อภิมหาอำนาจเดี่ยวเพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไป เพราะมีมหาอำนาจรองๆ เข้ามามีอำนาจแข่งขันกันมากขึ้น เช่น จีน และรัสเซีย แน่นอนว่าสถานการณ์นี้เป็นสิ่งที่สั่นคลอนและสร้างความหวั่นใจให้กับสหรัฐฯ อยู่ไม่น้อย

 

ก่อนเกิดสงคราม จีนและรัสเซียผงาดขึ้นมาเป็น 2 ชาติมหาอำนาจที่มีความเข้มแข็งทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและการทหาร ส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องแก้เกมด้วยทำให้ 2 ประเทศนี้มีอ่อนแอลง ซึ่งการที่สหรัฐฯ เข้ามาเอี่ยวในสงครามครั้งนี้ จุดประสงค์คือทำอย่างไรให้อำนาจของชาติที่มาท้าทายตนน้อยลงมาที่สุด โดยสิ่งที่สหรัฐฯ ทำนอกเหนือจากการสนับสนุนความช่วยเหลือไปยังยูเครนแล้ว คือสารพัดชุดมาตรการคว่ำบาตรที่กระหน่ำยิงออกมาประหนึ่งกระสุนที่สาดเข้าใส่รัสเซีย 

 

ผลที่ตามมาทำให้โลกได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่หลายประการ กล่าวคือ รัสเซียโดดเดี่ยวจากสังคมโลกมากขึ้น และเมื่อโดดเดี่ยวไร้เพื่อนก็กลายเป็นว่ารัสเซียได้หันไปกระชับจับมือกับจีนมากขึ้น เช่น ในเรื่องของพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค และการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน 

 

แม้จีนจะไม่ได้เปิดหน้าสนับสนุนรัสเซียแบบตรงๆ แต่การที่ให้ความช่วยเหลือในทางอ้อมนั้น สิ่งที่จีนต้องแลกคือการถูกมองด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นภัยต่อยุโรปมากขึ้น สิ่งนี้เห็นได้ชัดตั้งแต่วันที่ NATO ประกาศว่า จีนคือ ‘ความท้าทายต่อระบบ’ ของประชาคมโลก หรือวันที่แผนสันติภาพของจีนที่เสนอออกมานั้นถูกชาติยุโรปปัดตกไป 

 

สิ่งที่น่าจับตาต่อคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การเมืองโลกถูกแบ่งขั้ว คือสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตร และ จีน-รัสเซีย รวมถึงชาติพันธมิตร สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะส่งผลไปยังระบบระหว่างประเทศของชาติอื่นๆ ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ตามมานี้ รวมถึงไทยเราด้วย

 

  • เลือกตั้งสหรัฐฯ อาจเป็นจุดพลิกผันสงครามยูเครน

 

หากให้ทำนายอนาคตว่าสงครามครั้งนี้จะจบลงเมื่อใด อ.ดร.รุสตั้ม มองว่าในความขัดแย้งครั้งนี้ทางยูเครนสามารถยืนหยัดอยู่ได้เพราะความช่วยเหลือจาก NATO และชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสหรัฐฯ ฉะนั้นแล้วจุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามในครั้งนี้คือการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2024 ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป

 

ความเป็นไปได้แรกคือ หากไบเดนได้ตำแหน่งนี้ หรือใครก็ตามที่มีนโยบายสนับสนุนยูเครนต่อไป ยูเครนก็จะมีสรรพกำลังสู้รบกับรัสเซียต่อ แต่ถึงกระนั้น โอกาสจะชนะรัสเซียก็คงเป็นไปได้ยาก สงครามก็จะอยู่ในภาวะ Stalemate หรือคุมเชิงกันแบบนี้ต่อไป 

 

ความเป็นไปได้ที่สองคือ หากทรัมป์ได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกสมัย หรือใครก็ตามที่มีแนวคิดในทิศทางเดียวกัน สงครามยูเครนก็อาจจะจบ แต่จบในทางที่สหรัฐฯ หยุดสนับสนุนยูเครน ซึ่งจะนำความพ่ายแพ้มาสู่ดินแดนนี้ ยูเครนจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว (Failed State) และกลายเป็นพื้นที่กันชนหรือ Buffer Zone ระหว่างรัสเซียและ NATO โดยสมบูรณ์

 

แต่ทั้งสองความเป็นไปได้ ยูเครนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย มีแต่เสียประโยชน์ แค่จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง

 

ภาพ: 

  • Presidency of Ukraine/Handout / Anadolu Agency via Getty Images
  • Contributor / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising