กระทรวงศึกษาธิการอิตาลีเตรียมบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืนลงในหลักสูตรการเรียนการสอนภาคบังคับในโรงเรียนเป็นชาติแรกของโลก โดยจะเริ่มต้นสอนเนื้อหาใหม่ในปีการศึกษาหน้า
ลอเรนโซ ฟิโอรามอนตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของอิตาลี ประกาศว่า โรงเรียนของรัฐทุกแห่งจะสอนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกปีการศึกษาละ 33 ชั่วโมง หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง พร้อมกับบรรจุมุมมองเรื่องความยั่งยืนในวิชาตามหลักสูตรหลักเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น ภูมิศาสตร์, คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ในปีการศึกษาหน้า ซึ่งเปิดภาคเรียนในเดือนกันยายน ปี 2020
“ทั้งกระทรวงกำลังปรับเปลี่ยน เพื่อทำให้เรื่องของความยั่งยืนและสภาพอากาศเป็นศูนย์กลางของโมเดลการศึกษา” ฟิโอรามอนตีกล่าวกับ Reuters
“ผมต้องการให้ระบบการศึกษาของอิตาลีเป็นแห่งแรกของโลกที่ผลักดันให้เรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นแกนกลางของทุกสิ่งที่เราเรียนในโรงเรียน” ฟิโอรามอนตีให้สัมภาษณ์
อย่างไรก็ตาม ฟิโอรามอนตีตกเป็นเป้าหมายโจมตีทางการเมืองของพรรคการเมืองฝ่ายขวาตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งนี้ได้ 2 เดือน หลังจากที่เสนอนโยบายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำไม้กางเขนที่มีรูปพระเยซูถูกตรึงบนกางเขนออกจากห้องเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศให้กับนักเรียนที่ไม่ใช่ชาวคริสต์ รวมไปถึงการเสนอนโยบายขึ้นภาษีตั๋วเครื่องบิน พลาสติก และภาษีความหวาน ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ชาวอิตาลีต้องจ่ายภาษีมากเกินไปอยู่แล้ว
ขณะที่ผลสำรวจระบุว่า ชาวอิตาลีกว่า 70-80% สนับสนุนให้มีการเก็บภาษีตั๋วเครื่องบินและพลาสติก โดยนักการเมืองร่วมรัฐบาลของเขาเสนอว่า พวกเขาจะแก้ไขงบประมาณ จากนั้นจึงจะนำเสนอต่อรัฐสภา ก่อนการอนุมัติงบประมาณภายในสิ้นปีนี้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- uk.reuters.com/article/uk-climate-change-italy-exclusive-idUKKBN1XF1E5
- www.independent.co.uk/news/world/europe/italy-climate-change-lessons-school-environment-global-warming-children-a9187216.html
- www.theguardian.com/global-development/2019/nov/06/italy-to-school-students-in-sustainability-and-climate-crisis