กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ฮีโร่ อีทีเอฟ หรือ UHERO ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนหลักอย่าง Global X Video Games & Esports ETF (HERO) ซึ่งกองทุนดังกล่าวมีการลงทุนในบริษัทอย่าง Nvidia (9.38%), Electronic Arts (6.83%), Netease (6.36%), Nintendo (6.12%) และ Activision Blizzard (6.12%) เป็นต้น
ล่าสุด กองทุน UHERO เข้าซื้อขายในกระดานเป็นวันแรกในวันนี้ (7 กุมภาพันธ์) โดยมีราคาแรกที่ซื้อขายกันที่ 11.10 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่า NAV ของกองทุนซึ่งอยู่ที่ 10.3978 บาทต่อหน่วย และระหว่างการซื้อขายในช่วงครึ่งวันแรก ราคาของ UHERO ได้พุ่งขึ้นไปสูงสุดที่ 13.40 บาท หรือเพิ่มขึ้น 28.87% จาก NAV ซึ่งถือว่ามีค่า Premium เกิดขึ้นจำนวนมาก
“หากมองแบบกลางๆ ไม่ใช่ในฐานะคนขายกองทุนหรือคนซื้อ ราคาในกระดานไม่ว่าจะเป็น Premium หรือ Discount สามารถเกิดขึ้นได้” จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน สายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าว
สำหรับกรณีของ UHERO กองทุนหลักอยู่ที่สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อวันศุกร์ปรับขึ้นมาสูง ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียช่วงเช้านี้เปิดบวกได้พอสมควร ทำให้อาจมีแรงซื้อบางส่วนที่คาดหวังว่าจะเห็นการเพิ่มขึ้นของ NAV ในวันพรุ่งนี้
“แต่จะคาดหวังให้ NAV ไปถึง 12-13 บาทในทันทีก็ดูจะเป็นไปไม่ได้”
จิติพลกล่าวต่อว่า แรงซื้อที่เข้ามาดันให้ราคาเกิด Premium อาจจะเป็นเพราะนักลงทุนบางส่วนที่ออกไปลงทุนต่างประเทศเองไม่ได้ และอีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะนักลงทุนที่ไม่อยากจะซื้อขายกองทุนนี้ในรูปของสกุลดอลลาร์
นอกจากนี้ราคาที่ยัง Premium อยู่นี้ เป็นเพราะนักลงทุนไม่สามารถที่จะทำ Arbitrage ได้โดยตรง สำหรับใครที่อาจจะรู้สึกว่าราคาตอนนี้แพงเกินไป ก็อาจจะขายหน่วยลงทุนในกระดาน แล้วไปซื้อ Mutual Fund โดยตรงผ่านธนาคาร ซึ่งจะได้ราคาเท่ากับ NAV ของวันพรุ่งนี้ หรืออาจจะซื้อกองทุน HERO โดยตรง แต่ต้องรอซื้อในเวลาที่ตลาดสหรัฐฯ เปิดทำการ
“หากต้องการจะซื้อเพื่อลงทุนระยะยาว อาจต้องพิจารณาราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน และความสามารถในการทำกำไรของกองทุน การที่กองทุน UHERO ออกขายในจังหวะที่ตลาดปรับฐานพอดี การซื้อในระดับ NAV ปัจจุบัน ดูแล้วไม่แพงนัก และหุ้นแต่ละตัวในพอร์ตยังพอมี Upside 30-40% แต่ถ้าต้องซื้อที่ราคา Premium ในระดับ 30% อาจจะไม่คุ้มกับการถือยาวเท่าใดนัก”
ขณะที่ วิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ไพรเวทเมเนจท์เม้นท์ ธนาคารกรุงไทย มองว่า ราคาที่ซื้อขายสูงกว่า NAV ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงซื้อของนักลงทุนที่ไหลเข้ามามากในวันแรก ซึ่งต้องรอดูว่า Market Maker จะจัดการอย่างไรในระยะถัดไป
“โดยทั่วไปแล้วในต่างประเทศ เราอาจจะเห็น Market Maker ขายหน่วยลงทุนออกมาที่ราคากระดาน แล้วไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนหลักที่ราคา NAV แทน”
สำหรับนักลงทุนที่สนใจจะเข้าลงทุนในกองทุน ETF โดยภาพรวมหากกองทุนที่สนใจมี Premium สูงเกินไป อาจจะมองหากองทุนอื่นที่ติดตามกองทุนหลักเดียวกัน และอาจจะเลือกลงทุนในกองทุนที่มี Premium ต่ำกว่า
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP