×

สรุปกรณีศึกษากองทุน UHERO ทำไมหน่วยลงทุนราคาพุ่ง และนักลงทุนต้องจ่ายแพงเกือบเท่าตัวผ่านกระดานหุ้น

09.02.2022
  • LOADING...
UHERO Fund

เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับราคาซื้อขายของหน่วยลงทุนในกระดานของกองทุนเปิด ยูไนเต็ด ฮีโร่ อีทีเอฟ หรือ UHERO ที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีการจับคู่ซื้อขายกันครั้งแรกที่ราคา 11.10 บาท ก่อนที่ราคาหน่วยลงทุนดังกล่าวจะปิดตลาดในวันเดียวกันที่ระดับ 12.65 บาท เพิ่มขึ้น 2.60 บาท

 

ในวันถัดมา (8 กุมภาพันธ์) ราคาหน่วยลงทุน UHERO ยังคงปรับขึ้นร้อนแรง โดยปิดตลาดในวันดังกล่าวที่ระดับ 16.44 บาท เพิ่มขึ้น 3.79 บาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 29.96% ซึ่งถือเป็นเพดานสูงสุด (ซิลลิ่ง) ของวัน

 

กระทั่งในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ราคาหน่วยลงทุน UHERO ยังคงปรับขึ้นร้อนแรงในช่วงการซื้อขายเกือบตลอดทั้งวัน ซึ่งราคาทำจุดสูงสุดของวันที่ระดับ 21.37 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 4.93 บาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 29.99% และถือเป็นซิลลิ่งที่สอง นับตั้งแต่หน่วยลงทุนนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายก่อนปิดตลาดของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เริ่มมีแรงเทขายหน่วยลงทุนดังกล่าวออกมาจนกระทั่งราคาปรับตัวลดลงมาปิดตลาดที่ระดับ 15.10 บาท ลดลง 1.34 บาท คิดเป็นการลดลง 8.15% แต่หากนับจากราคาสูงสุดของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ราคาหน่วยลงทุนของกองทุน UHERO ลดลงมาถึง 6.27 บาท คิดเป็นการลดลง 29.34%

 

โดยถ้าดูมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value: NAV) ซึ่งสะท้อนมูลค่าที่เป็นจริงของหน่วยลงทุนของกองทุน UHERO ยังคงอยู่ที่เพียง 10.4618 บาทต่อหน่วย ทำให้ราคาที่ซื้อขายในกระดานสูงกว่า NAV อยู่ถึงประมาณ 100% ในช่วงที่ราคาพุ่งขึ้นไปแตะ 21.37 บาท 

 

ทั้งนี้ นโยบายการลงทุนของ UHERO จะเน้นลงทุนในธุรกิจเกมและอีสปอร์ต โดยจะนำเงินลงทุนส่วนใหญ่ไปลงทุนผ่านกองทุนหลักคือ กองทุน Global X Video Games & Esports (HERO)

 

คำถามสำคัญที่ตามมาหลังการปรับขึ้นแรงของราคาของ UHERO ในช่วง 2 วันทำการที่ผ่านมาคือ เหตุใดนักลงทุนจึงยอมไล่ซื้อหน่วยลงทุนนี้ที่ราคาสูงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริง และในท้ายที่สุดแล้วราคาในกระดานกับราคา NAV จะวิ่งเข้าหากันหรือไม่? 

 

แหล่งข่าววงการตลาดทุนเปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นคือ ปัญหาในเรื่องของสภาพคล่อง ปัจจุบันคนที่ซื้อหน่วยลงทุนผ่าน Mutual Fund และ ETF ยังไม่ได้เชื่อมต่อกันได้ 100% จึงเกิดจังหวะที่สภาพคล่องในตลาดตามไม่ทัน ประกอบกับการที่มีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามากวาดซื้อหน่วยลงทุนไปเกือบหมด และในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ก็มีนักลงทุนรายย่อยบางส่วนที่เข้าใจผิดว่าเป็นหุ้น IPO เข้าไปไล่ซื้อตาม 

 

“ปัญหาสภาพคล่องส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ Dealer หลายรายยังไม่อยากจะเข้ามาเป็นตัวแทนขายให้ แต่หลังจากที่ราคาในกระดานลอยขึ้นมาสูง ก็เริ่มเห็นว่ามี Dealer ที่สนใจมากขึ้น” 

 

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาดังกล่าวอาจต้องอาศัยการทำงานของ Market Maker เข้ามาช่วยมากขึ้น เพื่อสร้างสภาพคล่องเพิ่มเติมในตลาดผ่านการซื้อหน่วยลงทุนใหม่จากกองทุน และนำไปเติมในกระดานซื้อขาย 

 

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ มองว่า ผู้ลงทุนที่เข้าซื้อ UHERO น่าจะมีการศึกษาข้อมูลก่อนเข้าลงทุนและน่าจะพอทราบอยู่แล้วว่า NAV ของ UHERO อยู่ตรงไหน ซึ่งคำถามที่ว่า ‘ทำไม’ ราคาในกระดานยังสามารถเพิ่มขึ้นมาขนาดนี้ได้ ส่วนตัวมองว่าเป็นไปได้จากหลายปัจจัย 

 

อาทิ เรื่องของสภาพคล่องที่น้อยเกินไปก็มีส่วนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ได้ หรือเรื่องของ Demand และ Supply ระหว่างความต้องการซื้อที่เข้ามา และการออกหน่วยลงทุนใหม่ 

 

“กรณีของ UHERO อาจจะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการออก ETF ในไทย ซึ่งคงจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพคล่องด้วยเช่นกัน และการที่ UHERO เพิ่งเข้ามาจดทะเบียนไม่นานนัก อาจมีนักลงทุนบางส่วนที่ได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ” 

 

คำถามสำคัญที่ตามมาจากการกรณีดังกล่าวคือ หลังจากนี้ราคาของ UHERO จะวิ่งกลับเข้าหา NAV เมื่อใด 

 

ณัฐชาตกล่าวต่อว่า ด้วยความที่ ETF มีลักษณะเหมือนเป็นหุ้นสามัญทั่วไปตัวหนึ่ง และไม่ได้มีกระบวนการชำระราคา (Settlement) เหมือนอย่างสัญญา Futures รวมถึงไม่ได้มีกำหนดวันครบอายุ หากนักลงทุนส่วนมากยังยินดีที่จะซื้อขายในราคาพรีเมียมต่อไป ก็มีโอกาสที่ราคาของ UHERO จะไม่ได้วิ่งกลับลงมาทันที หรือเป็นเช่นนี้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดก็เป็นได้

 

ในขณะเดียวกัน การจะคาดหวังให้ NAV ซึ่งอิงอยู่กับกองทุนต่างประเทศวิ่งตามขึ้นไปโดยเร็วก็ดูจะเป็นเรื่องยากเช่นกัน 

 

“ในอนาคตราคาของ UHERO น่าจะต้องสะท้อน NAV ที่แท้จริง แต่คงจะตอบได้ยากว่าจะเกิดขึ้นเร็วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในกองทุนหลักเดียวกันก็ยังมีทางเลือกจากกองทุน ETF เจ้าอื่นที่นำเงินไปลงทุนกับกองทุน HERO เช่นกัน หรือแม้แต่การเปิดพอร์ตลงทุนต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันค่าธรรมเนียมต่ำลงมาก ก็จะช่วยให้เราสามารถเข้าลงทุนได้ในราคาที่แท้จริงที่ซื้อขายกันที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ”

 

ด้าน จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน สายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า แรงผลักดันให้ราคาในกระดานเพิ่มขึ้นไปส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการซื้อจากลูกค้าบางส่วนที่พลาดการจองซื้อช่วง IPO และอีกส่วนหนึ่งเข้าใจผิดว่ากองทุนนี้สามารถซื้อได้ผ่าน ETF เท่านั้น แต่ก็ไม่ได้เป็นกลุ่มที่ใหญ่นัก 

 

ทั้งนี้ เชื่อว่าราคาจะค่อยๆ ปรับเข้าสู่จุดที่เหมาะสม ซึ่งจะคล้ายกับตัวอย่างของหน่วยลงทุนในลักษณะนี้ แม้แต่ในตลาดขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ กองทุนอย่าง HERO หรือ ARKK ที่เข้าซื้อขายในช่วงแรกก็มี Premium หรือ Discount เช่นกัน หรือกรณีของกองทุนเปิด KTAM SET Energy ETF Tracker (ENY) ซึ่งเป็นหน่วยลงทุน ETF ในไทย ก็เคยขึ้นไปซื้อขาย Premium กว่า 20% ในช่วงปี 2020-2021 ที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจเข้าลงทุนในกองทุนนี้ยังมีทางเลือกอื่น โดยสามารถเข้าลงทุนผ่านกองทุนรวมโดยตรงและสามารถเข้าซื้อที่ราคา NAV ได้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising