×

5 ประเด็นสำคัญการประชุมใหญ่ ‘ยูฟ่า’ กำหนดทิศทางลูกหนังยุโรปวันนี้

01.04.2020
  • LOADING...
ทิศทางยูฟ่า ช่วงโควิด-19

วันนี้ (1 เมษายน) จะมีการประชุมทางไกลร่วมกันของ 55 สมาชิกสหพันธ์ยุโรป (ยูฟ่า) เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวงการฟุตบอลยุโรป โดยมีหลากหลายประเด็นที่จำเป็นจะต้องพูดคุยและพยายามหาทางออกร่วมกัน

 

ก่อนหน้านี้ยูฟ่าได้พยายามปลดล็อกขั้นแรกด้วยการเลื่อนการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ออกไปเป็นปีหน้า เพื่อให้ทุกลีกที่ได้รับผลกระทบมีเวลาในการที่จะจัดการแข่งขันฤดูกาล 2019-20 ที่ค้างอยู่ให้เรียบร้อย แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน การระบาดของโควิด-19 ยังระบาดอย่างรุนแรงและไม่มีวี่แววว่าจะสงบลง ทำให้เริ่มมีความกังวลว่าเป้าหมายในการกลับมาแข่งขันให้จบภายในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นกำหนดการตามปฏิทินฟุตบอลรายปีเดิมอาจจะไม่สามารถทำได้

 

เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อใหญ่ของการประชุมใหญ่ในวันนี้ โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่หลายฝ่ายกังวลคือ การที่ฟุตบอลจะกลับมาแข่งขันได้อีกครั้งควรจะเกิดขึ้นต่อเมื่อทุกคนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้โดยปกติ

 

แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่จำเป็นต้องหารือกัน โดยมีหัวข้อใหญ่ดังนี้

 

การปิดฉากฤดูกาล

ในการประชุมครั้งที่แล้วของยูฟ่าเมื่อ 17 มีนาคม ยูฟ่าได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้น 2 คณะเพื่อร่วมหาทางออกในวิกฤตครั้งนี้ โดยเป้าหมายหลักอยู่ที่การทำให้ฤดูกาลที่แข่งค้างอยู่จบลงให้ได้ เนื่องจากหากไม่สามารถปิดฤดูกาลได้ตามปกติจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงอย่างยิ่ง 

 

ไม่เพียงในแง่ของการแข่งขันที่จะไม่มีการตัดสินแชมป์, สโมสรที่ได้สิทธิ์ไปแข่งฟุตบอลรายการสโมสรยุโรปของยูฟ่าเอง หรือการขึ้นชั้น-ตกชั้น แต่ยังกระทบต่อเรื่องเงินของเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและสปอนเซอร์ที่จะสร้างปัญหาอย่างเลวร้าย

 

ดังนั้นเรื่องนี้ถือเป็น ‘ความเป็นความตาย’ ของวงการฟุตบอลที่จะต้องหาทางแข่งต่อให้จบฤดูกาลให้ได้

 

แล้วจะปิดฉากได้เมื่อไร

เดิมมีการขีดเส้นตายไว้คือฤดูกาลต้องจบลงภายในสิ้นเดือนมิถุนายน โดยไม่กี่วันก่อนหน้านี้ อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานยูฟ่าเคยกล่าวว่า หากแข่งไม่จบตามเดิมฤดูกาลนี้อาจจะ ‘สูญ’ 

 

แต่จากสถานการณ์เวลานี้ เชื่อว่าสิ่งที่ดีกว่าคือการช่วยกันกำหนดกรอบระยะเวลาที่เป็นไปได้ตามความเป็นจริงว่าทุกอย่างจะกลับมาปกติและจะเริ่มแข่งฟุตบอลอีกครั้งได้เมื่อไร

 

ช่วงเวลาที่หลายฝ่ายทดไว้ในใจ คือแทนที่จะจบภายในเดือนมิถุนายน ก็เป็นเริ่มในเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนสิงหาคมแทน และไปเริ่มต้นฤดูกาลใหม่หลังจากนั้นแทนน่าจะเหมาะสมกว่า

 

ทิศทางยูฟ่า ช่วงโควิด-19

 

แชมเปียนส์ลีกกับยูโรปาลีกจะทำอย่างไร

ไม่เพียงแค่ลีกภายในประเทศที่มีปัญหา รายการระดับทวีปอย่างยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกและยูฟ่ายูโรปาลีกเองก็ประสบปัญหาหนักไม่แพ้กัน และอาจจะหนักกว่าด้วยเมื่อคิดถึงเงื่อนไขของการเดินทางระหว่างประเทศที่อาจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยในสถานการณ์นี้ ต่อให้แข่งภายในประเทศได้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะเดินทางระหว่างประเทศได้

 

เรื่องนี้ยูฟ่าเองก็คิดหนัก และดูเหมือนจะยังไม่มีใครมีไอเดียที่ทุกคนฟังแล้ว ‘ซื้อ’ ในทันที

 

หนึ่งในทางออกที่มีการพูดถึง มีแค่การเตะนัดเดียวแทนที่จะเป็น 2 นัดในรอบ 8 ทีมสุดท้ายและรอบรองชนะเลิศ และที่เคยมีการเสนอกันคือการจัดแข่งแบบมหกรรมในเมืองที่ได้เป็นเจ้าภาพของนัดชิงชนะเลิศปีนี้คืออิสตันบูลที่ตุรกี ในรายการแชมเปียนส์ ลีก และ กดังสก์ ในประเทศโปแลนด์ เจ้าภาพนัดชิงยูโรปาลีก

 

ฤดูกาล 2020-21 จะทำอย่างไร

เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าฤดูกาลนี้จะจบลงเมื่อใด ทำให้ไม่มีใครรู้อยู่ดีว่าฤดูกาลนี้จะเอาอย่างไรกันดี

 

แต่คาดว่าในการประชุมวันนี้น่าจะพอได้เห็น ‘ทิศทาง’ บ้าง โดยเริ่มจากกรอบระยะเวลาที่จะกลับมาทำการแข่งในฤดูกาลนี้ต่อ ร่วมด้วยหากเป็นไปได้ คือการประกาศวันแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 (ที่จะแข่งในปี 2021) อย่างเป็นทางการที่จะทำให้ทุกฝ่ายเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นว่าหน้าตาของฤดูกาลต่อไปจะเป็นอย่างไร

 

สิ่งที่มีการพูดถึงกันคือ การกระชับการแข่ง หรือตัดรายการฟุตบอลถ้วยออกไป แต่คาดว่าในการประชุมนี้จะไม่มีการเสนอเรื่องดังกล่าว แนวทางที่พอจะเป็นไปได้คือการร่นระยะเวลาพักเบรกฤดูหนาวของหลายลีก (เช่น บุนเดสลีกที่พักยาว 1 เดือน) ให้สั้นลงเพื่อให้มีเวลาสำหรับการแข่งมากขึ้น

 

สัญญาผู้เล่น-ตลาดนักเตะ

ประเด็นที่สโมสรทุกแห่งกังวลนอกจากเรื่องการแข่งขันและผลกระทบต่อธุรกิจแล้วคือ เรื่องของสัญญาผู้เล่นจำนวนมากที่จะหมดลงในวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งเป็นเวลาตามปฏิทินฟุตบอลเดิม ที่จะเป็นปัญหาขึ้นมาหากไม่สามารถกลับมาแข่งต่อให้จบภายในสิ้นเดือนมิถุนายน

 

เรื่องนี้คณะกรรมการชุดที่ 2 ของยูฟ่าที่ดูแลผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจ, ระเบียบการต่างๆ รวมถึงเรื่องของสัญญาผู้เล่น ได้ทำงานร่วมกับฟีฟ่าในการผ่าทางตันให้ โดยคาดว่าจะเสนอให้มีการขยายเวลาในสัญญาออกไป แต่การจะทำแบบนั้นได้ต้องได้รับการยินยอมจากทุกสโมสร และสัญญานั้นจะต้องมีผลกับ ‘นักฟุตบอลทุกคน’ ไม่ใช่เลือกปฏิบัติแค่กับนักฟุตบอลที่สโมสรต้องการให้อยู่ต่อ เพื่อจะให้เกิดความเท่าเทียม

 

อีกเรื่องที่ต้องพูดคุยกันคือกรอบระยะเวลาของตลาดการซื้อ-ขายผู้เล่นที่เดิมจะเปิดในวันที่ 1 กรกฎาคม และสิ้นสุดในวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับระยะเวลาใหม่ โดยอาจจะขยายเวลาออกไปเป็นทั้งฤดูกาล เพื่อลดภาระและความตึงเครียดของสโมสรที่ประสบปัญหาทางการเงินถ้วนหน้า

 

ทั้งนี้เชื่อว่าการประชุมวันนี้อาจจะไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนทุกเรื่อง และน่าจะต้องมีการหารือร่วมกันต่อในอนาคตแต่เราน่าจะพอเห็นทิศทางที่ชัดเจนของวงการฟุตบอลยุโรปมากขึ้นจากการประชุมครั้งนี้

 

โดยเฉพาะแผน A, B, C ที่เซเฟรินเคยกล่าวไว้ อาจจะมีการแจงให้เห็นชัดเจนขึ้น บนความหวังว่าทุกอย่างจะจบ และทุกคนจะได้กลับมามีความสุขกับเกมฟุตบอลอีกครั้ง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X