×

รู้จักกฎการเงินรูปแบบใหม่ของยูฟ่า ที่หวังควบคุมสโมสรเศรษฐีแทน Financial Fair Play

08.04.2022
  • LOADING...
ยูฟ่า

เป็นระยะเวลา 12 ปีนับจากที่สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ได้ประกาศใช้กฎการเงิน Financial Fair Play (FFP) เพื่อควบคุมการใช้จ่ายของสโมสรที่มีเจ้าของสโมสรความร่ำรวย เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบหรือเสียเปรียบมากเกินไปในการแข่งขัน

 

แต่ดูเหมือนความพยายามนั้นจะไม่เป็นผลนัก การบังคับใช้กฎ FFP เต็มไปด้วยคำถาม ทีมใหญ่ยังคงหาช่องทางที่จะ ‘อัดฉีด’ เงินเข้าสู่สโมสรโดยไม่ต้องแคร์อะไร ขณะที่ทีมอื่นทำได้แค่มองตาปริบๆ และยอมรับบทลงโทษหากสโมสรไม่สามารถปฏิบัติตามกฎได้

 

จุดต่ำสุดของกฎ FFP เกิดขึ้นในกรณีที่ยูฟ่าสั่งลงโทษแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยการแบนจากการแข่งขันในรายการฟุตบอลของยูฟ่าเป็นระยะเวลา 2 ปี พร้อมปรับเงินมหาศาล แต่สุดท้ายถูกย้อนกลับเมื่อแมนฯ ซิตี้ เป็นฝ่ายชนะในการอุทธรณ์ต่ออนุญาโตตุลาการกีฬา (CAS) จากการที่หลักฐานที่ใช้ซึ่งมาจากอีเมลลับจาก Football Leaks ไม่มีน้ำหนักที่มากพอ

 

ณ จุดนั้นคือจุดล่มสลายในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของกฎ FFP และทำให้ อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ในฐานะประธานยูฟ่าและฝ่ายบริหาร ยอมรับชะตากรรมในการคิดกฎใหม่ขึ้นมา


เรื่องนี้ไม่มีคำตอบมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนกระทั่งยูฟ่าได้ผ่านมติในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยจะมีการใช้กฎใหม่ที่เรียกว่า Financial Sustainability and Club Licensing Regulations (FSCLR) หรือกฎการเงินเพื่อความยั่งยืนและการออกใบอนุญาตของสโมสร

 

กฎใหม่นี้เป็นอย่างไร?

 

ตามคำนิยามของยูฟ่า กฎใหม่นี้จะตั้งอยู่บน ‘เสา’ ทั้งหมด 3 ต้นด้วยกัน อันประกอบไปด้วย ความสามารถในการชำระหนี้ (Solvency), เสถียรภาพ (Stability) และการควบคุมต้นทุน (Cost Control) โดยแต่ละข้อมีความหมายดังนี้

 

  • Solvency หมายถึงการที่สโมสรจะไม่สามารถใช้เงินได้มากกว่าความสามารถในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ยกตัวอย่างเช่น การจ่ายภาษี สโมสรเจ้าหนี้หรือลูกจ้าง ซึ่งความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นกฎเดิมอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เพิ่มคือยูฟ่าเพิ่ม ‘ความเข้มงวด’ ในการตรวจ โดยจะมีการตรวจบัญชีทุก 4 เดือน ซึ่งหากไม่สามารถปฏิบัติตามได้จะถูกลงโทษโดยอัตโนมัติ

 

  • Stability คำว่าเสถียรภาพในความหมายของยูฟ่าคือ การดูว่าสโมสรจะยอมให้มีการขาดทุนได้มากแค่ไหน ซึ่งจากเดิมมีการระบุว่า จะยอมให้ขาดทุนได้ 30 ล้านยูโร ต่อ 3 ฤดูกาล ได้มีการเพิ่มเป็น 60 ล้านยูโร ต่อ 3 ฤดูกาล และหากสโมสรมี ‘สถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง’ จะได้รับอนุญาตให้ขาดทุนเพิ่มได้อีก 10 ล้านยูโร

 

  • ทีนี้มาถึงคำสำคัญที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ Cost Control ตามความหมายของยูฟ่าคือ การที่สโมสรจะสามารถจ่ายเงินค่าการย้ายทีม (Transfers), ค่าเหนื่อย (Wages) และค่าธรรมเนียมเอเจนต์ (Agent Fees) ได้ไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ของรายรับสโมสร หรือสมมติสโมสรมีรายรับ 100 ล้านยูโร ก็จะสามารถใช้ได้แค่ 70 ล้านยูโรเท่านั้น

 

สิ่งสำคัญอีกเรื่องที่มีความแตกต่างกันระหว่างกฎ FFP เดิม กับ FSCLR คือเรื่องของมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) และรายการที่เกี่ยวโยงกัน (Related-Party Transactions)​ ซึ่งเป็นเรื่องของรายละเอียดทางบัญชี โดยในกฎใหม่ รายการที่เกี่ยวโยงกันทั้งหมดจะต้องเป็นมูลค่ายุติธรรม

 

กฎ FSCLR จะมีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป โดยจะให้เวลาสโมสรในการปรับตัวกับกฎใหม่ 3 ปีด้วยกัน โดยจะเริ่มการลดการใช้จ่ายเหลือ 90 เปอร์เซ็นต์ของรายรับในฤดูกาล 2023/24 ก่อนจะลดเหลือ 80 เปอร์เซ็นต์ และ 70 เปอร์เซ็นต์ในฤดูกาล 2025/26

 

สำหรับกฎใหม่นี้ทางด้านยูฟ่าได้หารือร่วมกับสมาคมสโมสรฟุตบอลยุโรป (ECA) เพื่อหาทางออกร่วมกันในการปรับปรุงกฎ FFP ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2010 และดูเหมือนจะล้าสมัยและอ่อนแอเกินไป แม้ว่าทางยูฟ่าจะยืนยันว่า FFP เป็นกฎที่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือสโมสรต่างๆ ไม่ให้เผชิญปัญหาทางการเงินก็ตาม

 

สำหรับสโมสรที่ฝ่าฝืนกฎใหม่จะมีบทลงโทษตั้งแต่การตัดแต้ม การถูกลดชั้นลงไปแข่งในระดับที่ต่ำกว่า และการลงโทษขั้นสูงสุดคือ การตัดสิทธิ์จากการเข้าแข่งขันในรายการสโมสรฟุตบอลยุโรป

 

โดยยูฟ่าเชื่อว่า กฎใหม่นี้จะช่วยให้สโมสรต่างๆ รับมือกับความท้าทายของโลกลูกหนังหลังยุคโควิด (ซึ่งได้รับผลกระทบร้ายแรงอย่างมากในช่วงปี 2020-2021) และจะช่วยปกป้องเกมฟุตบอล รวมถึงสามารถปกป้องตัวเองจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคตได้

 

และที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่เกมฟุตบอลที่ทุกคนรัก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising