‘อุดรธานี’ กำลังได้รับความนิยมมากในฐานะดินแดนแห่งความเชื่อ มีนักเดินทางชาวไทยและเทศต่างพากันมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดนี้มากมาย ตั้งแต่ไหว้พญานาคที่คำชะโนด ไปจนถึงการเป็นทางผ่านเพื่อไปยังถ้ำนาคา เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้การท่องเที่ยวตลอดจนการค้ายังสามารถคึกคัก ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิดที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลดลงอย่างน่าใจหาย
ธนกร วีรชาติยานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุดรพลาซ่า จำกัด ฉายภาพว่า หลังจากประเทศไทยเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดอุดรธานีอย่างเห็นได้ชัด โดยเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดโควิด มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาอุดรธานีประมาณ 4 ล้านคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ธนกร วีรชาติยานุกูล ผู้บริหารศูนย์การค้ายูดี ทาวน์ – THE STANDARD BizKlass 31 สิงหาคม 2561
- Udonthani 8 ที่เที่ยวสายมูเสริมมงคล ‘มูกลางคืนก็ปังมูกลางวันก็เฮง’ ที่อุดรธานี ดินแดนแห่งความเชื่อ
- สุดารัตน์-สุพันธ์ ลุยอุดรธานี ชูทะเลบัวแดงเป็นแลนด์มาร์กท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้เมืองรอง
“แต่ในปี 2565 ที่ผ่านมาพบว่านักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดมากกว่า 11 ล้านคน ที่สำคัญจังหวัดอุดรธานีเป็นจุดยุทธศาสตร์การคมนาคมขนส่ง และมีจำนวนเที่ยวบินต่อวันสูงที่สุดในภาคอีสาน ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเดินทางเข้ามายังจังหวัดสูงกว่า 1.77 ล้านคน”
ขณะเดียวกันคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาอุดรธานีเติบโตทะลุ 100% หลังจากนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาท่องเที่ยวโดยเข้าทาง สปป.ลาว แวะเวียงจันทน์ แวะหนองคาย นอกจากนี้นักท่องเที่ยวคนไทยได้เริ่มกลับมาท่องเที่ยวในภาคอีสาน ซึ่งสามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดู ทั้งฤดูหนาวและฤดูฝน โดยเฉพาะคณะแสวงบุญ ปฏิบัติธรรม
การกลับมาของนักท่องเที่ยวได้สร้างประโยชน์ให้กับ ‘ยูดี ทาวน์’ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าท้องถิ่นที่เปิดมานานกว่า 16 ปี ซึ่งวันนี้ได้ขยายธุรกิจไปยังศูนย์ประชุมที่มีความจุ 400 คน และโรงแรมอีก 68 ห้อง
อภิชา วีรชาติยานุกูล บุตรสาวคนโตของธนกรที่ได้เข้ามานั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเผยว่า โปรเจกต์ส่วนต่อขยายที่ปักหมุดไว้ในปี 2566 ตั้งเป้าเพิ่มร้านค้าให้มากยิ่งขึ้น โดยในไตรมาส 2 จะมีการขยายอีกหลายเฟสของพื้นที่เปล่าเพื่อสร้างสีสันให้กับศูนย์การค้าฯ เติมเต็มและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าหลากหลายกลุ่มอย่างครบวงจร
“ปัจจุบันเรามีร้านค้าที่มาจากส่วนกลางประมาณ 80 ร้าน และเป็นผู้ค้าท้องถิ่นอีกกว่า 500-600 ร้าน โดยมีทราฟฟิกเฉลี่ย 8,000 คนต่อวัน ลดลงจากช่วงก่อนที่มี 10,000 คนต่อวัน แต่เราพบว่ายอดจับจ่ายไม่ได้ลดไปไหน” อภิชากล่าว พร้อมเสริมว่าแม้ในจังหวัดจะมีศูนย์การค้าระดับประเทศมาตั้ง แต่มองว่ามีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่ได้เข้ามาแข่งกันตรงๆ
“เนื่องจากยูดี ทาวน์ เป็นห้างโอเพนแอร์ มีพื้นที่กว้าง หลักการบริหารไม่ใช่แค่ใช้พื้นที่ให้ก่อเกิดรายได้ในทุกมุม อีกหนึ่งไฮไลต์อันเป็นหัวใจสำคัญของยูดี ทาวน์ คือการจัดภูมิทัศน์โดยรอบให้มีเสน่ห์เข้ากับช่วงเทศกาลต่างๆ เพื่อให้ประทับใจผู้มาเยือนมากกว่าการเป็นศูนย์การค้า”
ล่าสุดได้วางแผนใช้งบ 30-40 ล้านบาท จัดบิ๊กอีเวนต์ UDON SONGKRAN FESTIVAL 2023 ซึ่งเป็นการกลับมาในรอบ 3 ปี มีกำหนดการจัดงาน 5 วัน 5 คืนเต็ม มีพื้นที่ขนาดใหญ่ 12,000 ตารางเมตร สามารถจุคนได้ถึง 20,000 คน ทำให้คาดว่าตลอดระยะเวลาจัดงานจะมีผู้คนเข้ามาร่วมกว่า 1 แสนคน มีค่าใช้จ่ายต่อหัวราว 1,000 บาท สร้างเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านบาท
ด้าน ภาสกร วีรชาติยานุกูล บุตรชายคนรอง ได้เข้ามานั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนาทิพย์ 456 จำกัด บริหารงานโรงแรมโมโคและศูนย์ประชุมนานาชาติมลฑาทิพย์ ได้กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจกลุ่มโรงแรมโมโคและศูนย์ประชุมนานาชาติมลฑาทิพย์ เติบโตไปในทิศทางที่ดี
โดยเฉพาะโรงแรมโมโคซึ่งเป็นสไตล์บูติกระดับ 4 ดาว ที่เปิดมาเกือบ 2 ปี นับว่าเป็นสีสันของจังหวัดอุดรธานี ได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง ในสัดส่วนนักเดินทางภายในประเทศ 80% และจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 20% ซึ่งถือว่าเจาะกลุ่มลูกค้าได้ตรงเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้ราคาห้องพักแพงกว่า แต่เป็นที่ต้องการในกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์มาก
“หากเทียบกับคู่แข่งในระดับเดียวกันที่มีอยู่ 2-3 ราย เราถือว่ามีราคาห้องพักสูงที่สุด โดยวันธรรมดาอยู่ที่ 2,856 บาท และวันหยุดอยู่ที่ 3,356 บาท ซึ่งตอนนี้มีอัตราเข้าพัก 60% เราคาดว่าจะเพิ่มเป็น 80%”
โรงแรมดังกล่าวใช้งบลงทุนทั้งหมด 280 ล้านบาท คาดหวังว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 5 ปี
อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจยูดี ทาวน์ ยังมีที่ดินขนาด 4 ไร่อีก 2 แปลง ในเมืองที่รอพัฒนา โดยที่ดินที่อยู่ติดกับศูนย์การค้ามีแผนจะสร้างโรงแรมอีก 2 อาคาร รวม 140 ห้อง ใช้งบลงทุน 400 ล้านบาท โดยจะจับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ส่วนอีกแปลงที่ขยับออกมาวางแผนจะสร้างอสังหาริมทรัพย์เพื่อการขาย ใช้งบลงทุน 300 ล้านบาท
“โครงการทั้งสองจะยังไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่เราจะดูสถานการณ์ต่างๆ ก่อน ซึ่งคาดว่าอย่างน้อยอีก 5 ปีถึงจะได้ลงมือก่อสร้าง” ธนกรกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘กรุงไทย’ เปิด 4 ปัจจัยหนุนท่องเที่ยวไทยฟื้นตัว คาดต้องใช้เวลาถึงปลายปี 2567 จึงจะกลับสู่ระดับก่อนโควิด
- รมว.ท่องเที่ยว ซาอุดีอาระเบีย หวังจีนเลิกคุมเข้มโควิด และเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง
- คลัง ‘หั่น’ คาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือ 3.4% เหตุการณ์ลงทุนภาคเอกชนจ่อทรุด พิษต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้น ยังหวังท่องเที่ยวดึง GDP ปีหน้าโต 3.8%