วันนี้ (23 กันยายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. กล่าวก่อนการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่าถ้าดูตัวเลขวันนี้มีผู้ป่วยและเฝ้าระวัง 800-1,000 คน และหากรวมยอดจาก ATK ทั้งที่รายงานและไม่รายงานเข้าระบบ มีคนไข้ที่เป็นโควิดประมาณ 30,000-40,000 รายต่อวัน ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลทำไมเราถึงเปลี่ยนผ่านจากโรคติดต่อร้ายแรงเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น ซึ่งการเปลี่ยนผ่านเราก็จะสบายขึ้น ทุกอย่างจะผ่อนคลายเกือบหมด แต่สิ่งที่ต้องย้ำ เราต้องดูแลตนเอง เพราะอัตราการตายของไทยอยู่ที่ 0.1% ซึ่งทั่วโลกเฉลี่ยที่ 1% ถือว่าเรายังน้อยกว่าทั้งโลก แต่ก็ไม่อยากให้มีใครตายเลยสักคน จึงต้องให้มีคนเสียชีวิตน้อยกว่านี้โดยต้องไม่ติดเลย เพราะถ้าติดยังมีโอกาสและเกิดลองโควิดได้ และจะบั่นทอนสุขภาพมาก
นพ.อุดมกล่าวอีกว่า วันนี้ส่วนใหญ่ที่ประชุมจะหารือเรื่องแผนการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในส่วนการเดินทางเข้าประเทศ วันนี้ไม่ดู ATK และวัคซีนแล้ว แต่ยังเน้นว่าประชาชนต้องดูแลตนเอง เพราะโควิดยังอยู่กับเราไม่ต่ำกว่า 1 ปี ถึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ดังนั้นยังต้องดูแลตัวเองและประเมินความเสี่ยง โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยยังมีความจำเป็น รวมทั้งอยากย้ำในเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น อย่างน้อยควรเข็ม 3 ซึ่งวันนี้มีผู้ฉีดเข็ม 3 เฉลี่ย 46-47% อยากให้ได้ 70% เพราะวัคซีนมีความจำเป็น ทำให้อาการไม่รุนแรง
เมื่อผู้สื่อถามว่า กังวลหรือไม่หากหลังจากนี้จะมีการระบาดระลอกใหม่ นพ.อุดมกล่าวว่า ตอนนี้ไม่กลัวระบาดระลอกใหม่ เพราะเราวางระบบไว้หมดแล้ว เราเรียนรู้โควิดมา 3 ปี ระบบทุกอย่างเตรียมไว้หมดแล้ว ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข แต่ยังรวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศที่เกี่ยวกับคนเข้าประเทศ กระทรวงแรงงานที่ดูแลแรงงาน รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ระบบเซ็ตไว้หมดแล้ว จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน ที่ทำให้สามารถเชื่อมโยงได้ แต่ถ้า 1 ตุลาคมนี้ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็มีคำถามกลับมาว่าแล้วจะทำอย่างไร ซึ่ง ครม. ก็ต้องมอบหมายกระทรวงต่างๆ แทน ศบค. เพื่อให้ทำหน้าที่ต่างๆ ซึ่งได้แก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อไว้แล้ว เพื่อให้มีโครงสร้างบางส่วนเหมือน ศบค. แต่ขณะนี้ยังรอให้ พ.ร.บ.โรคติดต่อเข้าสภา โดยหลัง 1 ตุลาคม ก็ใช้มติคณะะรัฐมนตรี (ครม.) ไปก่อนในการมอบหมายให้กระทรวงอื่นๆ ทำหน้าที่ ทั้งนี้เคยเสนอให้นายกฯ ออก พ.ร.ก.โรคติดต่อไปก่อนระหว่างรอ พ.ร.บ. แต่อยู่ในช่วงยุ่งๆ เลยยังไม่มีการออกมา
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในช่วงสุญญากาศมีความกังวลจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ นพ.อุดมกล่าวว่า เชื่อว่าไม่มีปัญหา แต่อาจไม่เข้มข้นเหมือนตอน ศบค. แต่ขณะนี้กระทรวงต่างๆ ทำงานเข้มข้นอยู่แล้ว งานก็เดินไปแม้ไม่มี ศบค.