วันนี้ (8 มิถุนายน) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (UddC-CEUS) ร่วมกับภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, we!park, PNUR, Local Dialects, User-Friendly และ BUILK ONE GROUP ร่วมกันจัดงาน ‘พระโขนง-บางนา 2040 อนาคต ความฝัน ย่านของเรา’ ที่ห้อง Amber 1-3 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยมี ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเปิดงาน
ในงานมีการจัดแสดงผลงานการออกแบบเมือง พระโขนง-บางนา 2040 ใน 33 จินตนาการทางเลือก โดยนิสิตสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการออกแบบแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และมีการจัดเสวนาพูดคุยถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่และการพัฒนาเชิงนโยบาย
ส่วนสำคัญของงานนี้คือการนำเสนอ ‘โครงการร่วมสร้างย่านพระโขนง-บางนา’ เพื่อพัฒนาพื้นที่โดย 3 ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่
- ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล อาจารย์ประจําภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการ UddC
- ยศพล บุญสม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉมา จำกัด และผู้ก่อตั้งกลุ่ม we!park
- พิชชาภา จุฬา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
โดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.), ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. และ ชนะ รุ่งแสง กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมฟังการนำเสนอ
ผศ.ดร.นิรมลได้กล่าวถึงศักยภาพของพื้นที่พระโขนง-บางนาในการพลิกจากย่านชายขอบสู่การเป็นเกตเวย์ของ กทม. ด้วย 3 ปัจจัยที่เข้าถึงได้ง่าย ได้แก่ ราคาที่อยู่อาศัย การสัญจร และสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้เกิดกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่กระจุกตัวกันอย่างหนาแน่น มีการรวมกลุ่มขององค์กรด้านนวัตกรรม ทำให้เกิดโอกาสในการเป็นแหล่งงาน
ถึงอย่างไรก็ตามนั่นเป็นเพียงศักยภาพสูงสุดของพื้นที่ แต่ในปัจจุบันพระโขนง-บางนายังประสบปัญหาสภาพแวดล้อมและสาธารณูปโภค เช่น มีซอยตันจำนวนมาก มีสัดส่วนพื้นที่เดินได้เพียง 8% จากพื้นที่ทั้งหมด มีการจราจรติดขัด พื้นที่สีเขียวต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดแคลนพื้นที่การเรียนรู้ สาธารณสุขขาดแคลน พื้นที่เปราะบางน้ำท่วมง่าย และมีคลองยาวหลาย 10 กิโลเมตรที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์
เพื่อผลักดันให้พระโขนง-บางนากลายเป็นใจกลางเมือง (Downtown) ทาง UddC ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และชุมชนทั้ง 79 เขต ได้ลงพื้นที่ ศึกษา และพูดคุยก่อนจะกำหนดเป็น 11 ทิศทางใหม่ในการพัฒนาพื้นที่ ได้แก่
- แผนพัฒนาระดับย่านจากการมีส่วนร่วม
- ย่านน่าอยู่ดึงดูดเศรษฐกิจใหม่
- ย่านเดินได้เดินดี
- พัฒนาพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก
- ปรับปรุงอาคารเก่าเป็นพื้นที่เรียนรู้
- พัฒนาที่ดินรอการพัฒนาสู่พื้นที่สร้างสรรค์
- พัฒนาพื้นที่ริมคลอง
- พัฒนาการสัญจรเชื่อม รถ/ราง/เรือ
- พัฒนาพื้นที่ทดลองนวัตกรรม
- พัฒนาโมเดล ‘จตุรภาคี’
- ทดลองจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม
ผศ.ดร.นิรมลยังได้กล่าวเสริมถึงทิศทางใหม่ในการกระจายเศรษฐกิจระดับย่านสู่รายย่อย และเน้นย้ำถึงการมีส่วนรวมของจตุรภาคี หรือ PPPPs ได้แก่ ภาครัฐส่วนกลาง ภาครัฐท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อก้าวข้ามการทำงานแบบแยกส่วน
ทางด้านยศพลจาก we!park ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวใน กทม. ด้วยการผลักดันพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กตามพื้นที่รกร้าง ซึ่งต้องผสมผสานความช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการวางแผน ก่อสร้าง และดูแลรักษา ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง แต่ยังเป็นการสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่อย่างการว่าจ้างคนดูแลสวนหรือรุกขกร โดยยศพลได้ยกตัวอย่างพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จแล้ว เช่น สวนหัวลำโพงรุกขนิเวศน์, สวนชุมชนโชฎึก, Sansiri Backyard และสวนสาธารณะคลองสาน
การนำเสนอส่วนสุดท้ายของพิชชาภา ที่ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อย่านและชุมชน ด้วยการสร้างกระบวนการหรือเทคโนโลยีที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น เท่าเทียมมากขึ้น หรือสามารถปรับตัวได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม
ด้านชัชชาติกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการฟังเสียงของภาคเอกชนและประชาชน เพื่อหาสมดุลระหว่างปัญหาในอดีตและแนวทางแก้ไขสู่อนาคต ย้ำภาคเอกชนต้องมีส่วนในการสร้างกระจายงานสู่พระโขนง-บางนา ขอให้โครงการนี้เป็นต้นแบบที่จะขยายต่อไป และฝาก กทม. ทำให้เป็นรูปธรรม พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่าไม่สำคัญว่าจะใช้เวลาพัฒนา 10 หรือ 20 ปี แต่สิ่งสำคัญคือก้าวแรกของการพัฒนา