เช้าวันนี้ที่ศาลอาญา นายแพทย์เหวง โตจิราการ, นางธิดา ถาวรเศรษฐ, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำนวน 15 คน เดินทางมาที่ศาลตามที่พนักงานอัยการนัดเพื่อส่งฟ้องต่อศาลคดีการชุมนุมปี 2552 ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล ในข้อหาร่วมกันยุยงส่งเสริมก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องเดียวกันกับการชุมนุมที่แกนนำ นปช. ได้นำมวลชนกลุ่มคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมอาเซียนที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช เมืองพัทยา ในปี 2552 ซึ่งได้มีการส่งฟ้องต่อศาลไปแล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา
นายแพทย์เหวงมองว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นในปี 2552 เป็นกรณีเดียวกัน แต่มีเหตุการณ์ย่อยเกิดขึ้นหลายจุด ดังนั้นหากจะมีการดำเนินคดีก็ควรรวมเป็นสำนวนคดีเดียวกัน ควรจะฟ้องในจุดที่เป็นศูนย์กลางใหญ่ จึงตั้งขอสังเกตว่าเหตุใดจึงได้มีการนำคดีนี้ขึ้นมาดำเนินการอีกครั้ง ทั้งที่เหตุการณ์ผ่านไปนานแล้วถึง 9 ปี ซึ่งการที่อัยการปัดฝุ่นนำคดีนี้ขึ้นมาส่งฟ้องในครั้งนี้ สงสัยว่าเป็นความตั้งใจของ คสช. หรือไม่
ด้านนายณัฐวุฒิให้สัมภาษณ์ก่อนยื่นขอประกันตัวต่อศาลอาญาภายหลังอัยการส่งฟ้องในคดีชุมนุมปี 2552 ว่าไม่มีข้อกังวลใดๆ เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์และพยานหลักฐาน แต่สงสัยว่าการส่งฟ้องครั้งนี้ถือเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีชุมนุมที่พัทยาหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ นปช. ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมแล้ว และอยู่ในกระบวนการพิจารณาของอัยการ แต่ในที่สุดกลุ่ม นปช. ก็ถูกฟ้อง ทั้งนี้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมจะต้องเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ถ้าจะเทียบเคียงกับคดีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่มีการดำเนินคดีกับกลุ่ม กปปส. พัทลุง ที่ขัดขวางการจัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 ดังนั้นจะต้องดำเนินคดีกับแกนนำที่ขึ้นเวทีกลางใน กทม. ที่ยุยงปลุกปั่นกลุ่มผู้ชุมนุมที่พัทลุงด้วยหรือไม่
นายณัฐวุฒิยังกล่าวถึงกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า เห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมสามารถดูแลกันได้ดี และฝ่ายความมั่นคงก็ปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่มีความรุนแรงหรือกระทบกระทั่งได้ เพียงแต่ผู้มีอำนาจควรที่จะเปิดใจให้ผู้เห็นต่างได้แสดงออกบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่ากำหนดการเลือกตั้งเคลื่อนออกไป ทำให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจึงอยากถามถึงความชัดเจน มองว่าการเคลื่อนไหวจะไม่นำไปสู่สถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายอย่างที่ผู้มีอำนาจกังวล
ส่วน นปช. จะร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่จะปักหลักชุมนุมในเดือนพฤษภาคมหรือไม่นั้น กลุ่ม นปช. ยังไม่มีการหารือกันในเรื่องนี้ พร้อมยืนยันว่า เงื่อนไขที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงไม่ได้อยู่ที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง แต่อยู่ที่กลุ่มคนไม่อยากเลือกตั้ง ซึ่งไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าใด และแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจด้วยหรือไม่ เพราะหากมีจำนวนมาก สถานการณ์ก็น่าเป็นห่วง
นายณัฐวุฒิกล่าวถึงการยืนยันการเป็นพรรคเพื่อไทยของกลุ่ม นปช. ด้วยว่ายังไม่ได้หารือกัน รอให้ถึงวันที่ 1 เมษายนนี้ ซึ่งเป็นวันที่ คสช. อนุญาตให้พรรคการเมืองเดิมทำกิจกรรมได้เสียก่อน แต่สมาชิก นปช. ทุกคนมีสิทธิ์ทางการเมืองที่จะไปร่วมกิจกรรมกับพรรคการเมืองใดก็ได้ ตราบใดที่อุดมการณ์ทางการเมืองตรงกัน คือไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนนอก และไม่สนับสนุนรัฐประหาร