วันนี้ (22 มิถุนายน) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ว่าการระบาดในระลอก 3 ของไทยคือสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ซึ่งระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 1.7 เท่า ทำให้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในบ้านเรา แต่ตามวัฏจักรของไวรัสจะระบาดไปประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งตอนนี้มีสายพันธุ์เดลตา พบเริ่มต้นในแคมป์คนงานก่อสร้างหลักสี่ ซึ่งแพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟา 1.4 เท่า ทำให้ตามวัฏจักรของมันอีก 4-5 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์เดลตาจะระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดทั่วโลกสายพันธุ์เดลตาก็จะกลบสายพันธุ์อัลฟา และเมื่อหมดสายพันธุ์อินดียแล้วก็เชื่อว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น มันคงไม่สิ้นสุดแค่สายพันธุ์เดลตา แต่ไม่ว่าจะสายพันธุ์อัลฟาหรือเดลตา ความรุนแรงของโรคไม่ได้รุนแรงขึ้น
แต่สิ่งที่เราจับตากันคือประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ซึ่งวัคซีนทั้งโลกนี้พัฒนาขึ้นมาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ประสิทธิภาพในการป้องกันจะลดลงเรื่อยๆ จนกว่าจะมีวัคซีนในรุ่นที่สองที่เจาะจงที่สายพันธุ์ใหม่มากขึ้น ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ถึงแม้จะดื้อวัคซีนแต่ไม่น่ากังวล เพราะความสามารถในการแพร่โรคต่ำกว่า
ศ.นพ.ยงกล่าวด้วยว่า การป้องกันสายพันธุ์เดลตาต้องใช้ภูมิที่สูงพอ ที่สำคัญวัคซีนไม่ว่าจะ Pfizer หรือ AstraZeneca การฉีดวัคซีนเข็มเดียวภูมิขึ้นไม่เพียงพอที่จะป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ การป้องกันโรคจะเหลือแค่ 20-30% สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือเราจะต้องชะลอการระบาดของสายพันธุ์เดลตาให้มากที่สุด และเมื่อถึงตอนที่มีสายพันธุ์เดลตาระบาดมากขึ้น การศึกษาของเราก็จะรู้ว่าเราอาจต้องให้วัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 เร็วขึ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันที่สูง หรือแม้แต่วัคซีนจีนทั้ง Sinovac และ Sinopharm เมื่อฉีดสองเข็มแล้วภูมิต้านทานอาจจะยังต่ำอยู่ เราต้องกระตุ้นเข็มที่สามเข้าไป เราก็เชื่อว่าเข็มที่สามจะทำให้ภูมิต้านทานสูงเป็นน้องๆ ของ Pfizer
“ทรัพยากรของเรามีจำกัด ทุกคนอยากได้วัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันสูง ระหว่างที่รอวัคซีน Pfizer หรือ Moderna ซึ่งเชื่อว่าจะได้ในเดือนตุลาคม สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือชะลอการระบาดของสายพันธุ์เดลตาให้มากที่สุด และระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันการระบาดของสายพันธุ์อัลฟาที่ยังเป็นสายพันธุ์หลักในตอนนี้ แล้วเมื่อถึงเวลานั้นที่สายพันธุ์เดลตา เราคงมีกลยุทธ์ในการปรับแผนการให้วัคซีน”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinovac ครบสองเข็มแล้ว ควรจะให้วัคซีนยี่ห้ออื่นเช่น AstraZeneca ในเข็มที่สามใช่หรือไม่
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ข้อมูลทั้งหมดยังไม่มี แต่หลักการของการให้วัคซีนโดยทั่วไป การให้วัคซีนเข็มที่สามจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่า 10 เท่า แม้จะเป็นวัคซีนตัวเดียวกัน ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ โดยการให้เข็มที่สามจะเว้นระยะประมาณ 3-6 เดือน โดยเชื่อว่าการให้วัคซีนเข็มที่สาม แม้จะเป็น Sinovac ตัวเดิม หรือ AstraZeneca ก็จะให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น 10 เท่า
แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือความปลอดภัย จึงต้องมีการศึกษาก่อนว่าการให้ตัวเดิมหรือเปลี่ยนตัวมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ทั้งสองแบบที่จะให้ตัวเดิมหรือเปลี่ยนตัววัคซีน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล