ความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 2 ทศวรรษระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จบสิ้นอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเวลา 22.40 น. ของคืนวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา
เมื่อ เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และผู้บริหารพรรค แถลงมติตอบรับคำเชิญร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี แพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้นำรัฐบาล พร้อมส่งชื่อตนเองและ เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามสัดส่วนโควตา
‘พระแม่ธรณีบีบมวยผม’ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพรรค
ซึ่งประดิษฐานไว้ ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์
ภาพ: ฐานิส สุดโต
หลังการปฏิวัติสยาม 2475 ให้หลังจากนั้น 14 ปี พรรคประชาธิปัตย์ถูกก่อตั้งขึ้นโดย ควง อภัยวงศ์ และกลุ่มคนที่มีแนวคิดและอุดมการณ์เหมือนกันมารวมตัวกันในปี 2489
หากต้องเปรียบเทียบพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้เป็นมนุษย์แล้ว ก็น่าจะเข้าสู่ช่วงวัยผู้สูงอายุ ด้วยนับเนื่องตามอายุขัยแล้วยาวนานถึง 78 ปี ถือว่าผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองไทยมาอย่างโชกโชน
เคยเป็นทั้งแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 4 คน คือ ควง อภัยวงศ์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ชวน หลีกภัย และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือกระทั่งฝ่ายค้าน ที่ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีผู้นำฝ่ายค้านมากที่สุด
กล่าวโดยสรุป เส้นทางของพรรคการเมืองนี้ผ่านมาทุกฉากทัศน์การเมืองไทยแล้ว
และเส้นทางที่หลายฝ่ายไม่คาดคิด หรืออาจกล่าวได้ว่าอะไรที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็นก็คือ เหตุการณ์ที่ต้องบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือการที่พรรคประชาธิปัตย์จับมือร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยต่างได้รับ ‘ก้อนหิน’ และ ‘ก้อนอิฐ’ มากเป็นพิเศษ เนื่องจากการเมืองไทยตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่ ทักษิณ ชินวัตร ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยจนถึงปัจจุบันคือพรรคเพื่อไทย
พรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นศัตรูคู่อาฆาต มีอุดมการณ์คนละขั้วมาโดยตลอด
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2541 ทักษิณก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และนำทัพชนะศึกเลือกตั้ง 2 สมัยต่อเนื่องในการเลือกตั้งปี 2544 และปี 2548 จากนั้นในปี 2549 เขาถูกยึดอำนาจทำรัฐประหารโดย คมช. ทำให้ทักษิณต้องหลบภัยการเมืองไปอยู่นอกแผ่นดินเกิดยาวนานถึง 17 ปี
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ยื่นฟ้องต่อ กกต. ให้ดำเนินคดียุบพรรคไทยรักไทย ด้วยสาเหตุเพราะทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง ในเวลาต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกพรรคไทยรักไทยฟ้องกลับว่ามีการสร้างพยานเท็จขึ้นมาป้ายสีปรักปรำ
ท้ายที่สุด คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอันมีที่มาจากคณะรัฐประหาร ได้วินิจฉัยยกคำร้องในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กที่ถูกฟ้องร่วมในคดี รวมทั้งตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจำนวน 111 คนและพรรคเล็กทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี
จากนั้นพรรคไทยรักไทยขนองคาพยพมาอยู่พรรคใหม่ที่ชื่อว่า ‘พลังประชาชน’ เข้าสู่การเลือกตั้งในปี 2550 ที่นำโดย สมัคร สุนทรเวช แม้พรรคประชาธิปัตย์จะแพ้การเลือกตั้งและเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็ได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเงา เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ควบคู่ไปกับรัฐบาล ก่อนที่ในเวลาต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินให้สมัครพ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีจากกรณีรายการ ชิมไปบ่นไป
ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบ 3 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ด้วยข้อกล่าวหากระทำการที่เข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรคจำนวน 109 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
คดีนี้เป็นผลมาจากการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเสียงข้างมากให้ใบแดง ยงยุทธ ติยะไพรัช สส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เนื่องจากพบว่ามีการกระทำที่น่าเชื่อได้ว่าทุจริตการเลือกตั้ง ก่อนที่จะมีการตัดสินยุบพรรคตามมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่กรรมการบริหารพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเช่นกัน
จากคดีดังกล่าวกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทย เพราะ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการถูกตัดสิทธิทางการเมืองด้วยเช่นกัน
จากนั้น สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เดินหน้าดีลใหญ่กับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมคือ พรรคชาติไทย, พรรคเพื่อแผ่นดิน (บางส่วน), พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา รวมไปถึง สส. กลุ่มเพื่อนเนวิน (ที่เคยสังกัดพรรคพลังประชาชน) ที่ต่อมาก่อตั้งเป็นพรรคภูมิใจไทย ให้สนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของพรรค และถูกจดจำจากสาธารณชนว่ารัฐบาลชุดนี้ก่อตั้งขึ้นในค่ายทหาร
ขณะที่พรรคพลังประชาชนเดิมได้ก่อกำเนิดเปลี่ยนรูปใหม่เป็น ‘พรรคเพื่อไทย’ ในเวลาต่อมา ทำให้ฝ่ายทักษิณต้องเผชิญชะตากรรมทางการเมือง กลายเป็นฝ่ายค้านครั้งแรกด้วย
อย่างไรก็ตาม ห้วงเวลาดังกล่าวยังเป็นช่วงเดียวกับที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในนาม ‘คนเสื้อแดง’ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการต่อต้านการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 และการแสดงพลังของคนชนบทที่เป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในเดือนเมษายน 2552
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, ธิดา ถาวรเศรษฐ และ เหวง โตจิราการ
ขณะร่วมชุมนุมกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
รำลึกครบรอบ 14 ปี เหตุสลายการชุมนุม
และมีภาพถ่ายของคนที่เสียชีวิตเป็นฉากหลัง
ภาพ: ฐานิส สุดโต
‘คนเสื้อแดง’ เลือกสถานที่ในการปักหลักชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมานำไปสู่การมีมาตรการทางทหารในการสลายการชุมนุมโดยใช้ยุทธการล้อมปราบใหญ่ในเมือง และมีคนเสื้อแดงจำนวน 99 ชีวิตถูกสังหารกลางใจเมือง ทั้งยังบาดเจ็บกว่า 2,000 คน และกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่สังคมไทยอยู่ในภาวะกล้ำกลืน ลืมไม่ได้ จำไม่ลง กับป้ายที่เขียนว่า ‘เขตใช้กระสุนจริง’
จากนั้นเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2554 จากพรรคพลังประชาชนสู่พรรคเพื่อไทย และทักษิณก็เปิดหน้าส่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว เข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัว โดยใช้เวลาเพียง 49 วันก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์เป็น ‘นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย’ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังคงพ่ายแพ้การเลือกตั้งหนนี้เช่นเดิม
การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยของยิ่งลักษณ์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบนัก ตั้งแต่ต้องเจอกับมหาอุทกภัยใหญ่ในปี 2554 ขณะที่อีก 2 ปีต่อมาได้ก่อเกิดกลุ่มการเมืองที่ทำให้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกต้องพลัดพรากจากแผ่นดินเกิด นับเนื่องจนถึงเวลานี้ก็เกือบ 1 ทศวรรษแล้ว
คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่รู้จักกันในนาม ‘กปปส.’ ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเลขาธิการ คือพายุลูกใหญ่ทางการเมืองของยิ่งลักษณ์ ที่ปมเหตุเริ่มต้นประท้วงจนหลุดเก้าอี้มาจากกรณีการเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ที่อาจรวมถึงทักษิณด้วย
การชุมนุมประท้วงกินเวลาเกือบปี ก่อนจะนำมาซึ่งการก่อรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะก่อการ ก่อนที่ในเวลาต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ด้วยตนเอง และอยู่ในตำแหน่งนี้ยาวนานถึง 8 ปี 363 วัน
ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตแกนนำ นปช.
ระหว่างร่วมกิจกรรม ‘รำลึกและสดุดีวีรชน 14 ปี เมษา-พฤษภา 2553’
ภาพ: ฐานิส สุดโต
THE STANDARD สนทนากับ ธิดา ถาวรเศรษฐ ในฐานะอดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และอดีตคนเสื้อแดง ถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ที่มี แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวนายใหญ่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ส่วนตัว ณ เวลานี้ไม่ได้รู้สึกอะไรตั้งแต่พรรคเพื่อไทยได้ข้ามขั้วไปแล้ว ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ก็เกือบจะได้เข้าร่วมรัฐบาลตั้งแต่ 16 เสียงโหวตเห็นชอบ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว
พรรคประชาธิปัตย์เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่อยู่ในขั้วรัฐบาลเดิม (รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์) ดังนั้นบริบททางสังคมก็หมายความว่า “คุณเป็นพวกเดียวกันอยู่แล้ว” ดังนั้นการจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ก็เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น และเพื่อป้องกันพรรคการเมืองอื่นออกเสียงได้เท่าที่ควรจะเป็น
“ส่วนตัวอาจารย์ก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจ เรื่องใหญ่คือเขาตัดสินใจไปแล้ว ประชาธิปัตย์เป็นแค่ส่วนเล็กๆ เป็นส่วนย่อยที่เข้าไปเสริม”
ธิดากล่าวอีกว่า หากให้เธอพูดในฐานะอดีตประธาน นปช. และพูดความรู้สึกแทนคนเสื้อแดงก็รู้สึกว่าเหมือนถูกตอกย้ำ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นตัวแทนของฝั่งอำมาตย์และขั้วอนุรักษนิยมในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์มีอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อปี 2553 ที่ปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน และการร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการตอกย้ำให้แผลของคนเสื้อแดงที่เคยมีอยู่ ‘ถูกกระทุ้ง’ ให้เจ็บปวดมากขึ้นอีกครั้ง
ในส่วนของคนเสื้อแดงที่ยังสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ธิดากล่าวว่า ไม่ใช่ว่าคนเหล่านั้น ‘ไม่เจ็บ’ กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ยังมีความจงรักภักดีกับพรรคเพื่อไทย กล่าวคือถึงอย่างไรก็หยวนๆ ไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้
ขณะเดียวกันเวลานี้ความคิดของคนเสื้อแดงกระจายไปเป็นโหวตเตอร์ให้กับพรรคก้าวไกลและพรรคอนาคตใหม่ไปบ้างแล้ว แต่ส่วนที่ยังเหลืออยู่ คนที่ยังเลือกอยู่ ก็เพราะยังเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยยังอยู่ในฟากฝั่งประชาธิปไตย ยังอยู่ในดินแดนเดียวกัน ส่วนตัวคิดว่าคนส่วนนี้น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
ธิดาขยายความเพิ่มว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยมีการข้ามขั้วเพื่อจัดตั้งรัฐบาล สำหรับตนเองมองว่า ณ เวลานี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้อยู่ในฝั่งพรรคประชาธิปไตยอีกต่อไป และได้เข้าไปเป็นแกนนำของฝั่งจารีตนิยมแล้ว แต่ยังไม่ถือว่าเป็นศัตรู เนื่องจากเพิ่งก้าวข้ามไปได้ไม่นาน ยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่สุดท้ายต้องรอดูว่าจะถูกกลุ่มอำมาตย์จัดการอย่างไร เนื่องจากฝั่งอำมาตย์ก็ยังไม่ได้ไว้ใจพรรคเพื่อไทยขนาดนั้น
“ถ้าไม่มีพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีวันนี้ เขาไม่ได้ไว้ใจและยังต้องการให้พรรคเพื่อไทยอยู่ใต้อาณัติ เชื่อว่าคุณทักษิณจะต้องถูกดำเนินคดีอีกมาก เพราะฝั่งอนุรักษนิยมยังคงกลัวและเกลียด”
ถึงกระนั้นธิดาก็กล่าวว่า ยังถึงไม่เวลาที่จะต้องมองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นศัตรู เพราะยังหวังความร่วมมือในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม รวมถึงแก้กฎหมายต่างๆ หากทำได้สำเร็จก็อาจจะรักษาฐานเสียงของคนเสื้อแดงที่ยังรักทักษิณและยังพอที่จะลงคะแนนเสียงให้อยู่
ธิดายังมองสถานการณ์ภายในพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ล่มสลายในฐานะแกนนำพรรคอนุรักษนิยมไปแล้ว ในเวลานี้จึงทำได้เพียงแค่พยายามที่จะเกาะติดไปกับพรรคแกนนำรัฐบาลเท่านั้น
ธิดาประเมินสถานการณ์อนาคตของรัฐบาลของแพทองธารว่า ตนเองไม่สามารถตอบได้ว่าจะอยู่ครบเทอมหรือไม่หรือนานแค่ไหน แต่เท่าที่ตนเองทราบ ความเป็นเอกภาพและความเกลียดชังของฝั่งอนุรักษนิยมที่มีต่อพรรคเพื่อไทยนั้นยังมีสูงมาก
ดังนั้นเสถียรภาพของรัฐบาลไม่ได้อยู่ที่เสียงในสภามีเพียงพอหรือไม่ แต่จะรัฐบาลจะถูกช่องโหว่ทางกฎหมายเล่นงาน
แม้จะมีความเชื่อมั่นว่ามีบิ๊กดีล กล่าวคือฝั่งจารีตนิยมยังต้องการตัว แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การถูกควบคุม โดยที่ไม่สามารถทำอะไรตามใจได้ ดังนั้นเราจะเห็นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตก็ไม่ได้อนุญาตให้ถูกทำตามใจชอบ ไม่สามารถทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่เคยโฆษณาไว้ได้
“ต้องอยู่ภายใต้กรอบที่อนุญาตให้ทำได้ อย่าเกินขอบเขตและอย่าเปิดช่องโหว่ โดยเฉพาะการพูดว่าไม่ใช่การครอบงำแต่เป็นครอบครองนั้น ครอบครองนั้นแย่กว่าครอบงำด้วยซ้ำ เรื่องดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรโอ้อวด ที่จะต้องเที่ยวไปประกาศหรือต้องพูด” ธิดากล่าวทิ้งท้าย