×

เปิด 2 คดีชี้ชะตาพิธาและพรรคก้าวไกลในกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ ยังไร้การนัดหมายฟังคำวินิจฉัย

โดย THE STANDARD TEAM
14.11.2023
  • LOADING...

ช่วงค่ำวันนี้ (14 พฤศจิกายน) พรรคก้าวไกลส่งข้อความถึงสื่อมวลชนระบุว่า ตามที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีจดหมายข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ 35/2566 ฉบับลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ระบุเกี่ยวกับคดีหุ้น ITV (เรื่องพิจารณาที่ 23/2566) และคดีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 (เรื่องพิจารณาที่ 19/2566) ว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 น. นั้น 

 

พรรคก้าวไกลระบุว่า พนักงานคดีเจ้าของสำนวนในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองคดียืนยันว่า วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 น. เป็นการประชุมภายในองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญตามปกติเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับคู่ความในคดีแต่อย่างใด หากจะมีการนัดไต่สวนหรือนัดฟังคำวินิจฉัย ศาลจะส่งหมายเรียกมาที่คู่ความในคดีเป็นการล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้ศาลยังไม่ได้มีหมายแจ้งคำสั่งศาลใดๆ เกี่ยวกับการไต่สวนหรือการฟังคำวินิจฉัยมาถึงคู่ความทั้งสองคดีทั้งสิ้น

 

ทั้งนี้ ในข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ 35/2566 ยังระบุว่า เป็นกำหนดนัดพิจารณามิใช่กำหนดนัดไต่สวนพยาน หรือกำหนดนัดฟังคำวินิจฉัยแต่อย่างใด ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงยังไม่มีการเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญในวันและเวลาดังกล่าว

 

2 คดีชี้ชะตาที่พรรคก้าวไกลเผชิญคืออะไร?

 

1. คดี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นสื่อ ITV

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล สส. บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวของพรรค ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับหัวหน้าพรรคร่วมอุดมการณ์ก่อนหน้านี้คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในคดีการถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และอาจจะทำให้หลุดจากเก้าอี้ สส. ทันทีหากศาลมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด

 

การถือหุ้น ITV ของพิธากลายเป็นเรื่องร้อนไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 หลังถูก เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สอบกรณีที่พิธาถือหุ้น ITV 

 

ก่อนที่ กกต. จะส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับคำร้อง และสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในวันเดียวกับที่รัฐสภากำลังถกเถียงว่าจะสามารถลงมติให้ความเห็นชอบพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 ในสมัยประชุมเดียวกันได้หรือไม่

 

แม้ระหว่างนั้นจะมีการถกเถียงจากหลายฝ่ายว่าตกลงแล้ว ITV ถือเป็นหุ้นสื่อหรือไม่ เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้หยุดออกอากาศเป็นระยะเวลากว่า 15 ปีแล้ว คงเหลือไว้เพียงตัวบริษัทที่ใช้ในการสู้คดีความ 

 

และมีการตรวจสอบพบว่า รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ประจำปี 2566 ระบุว่า “บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่” ขณะที่คลิปบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ที่ระบุว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ” ซึ่งไม่ตรงกัน จนแกนนำพรรคก้าวไกลเชื่อว่านี่คือกระบวนการปลุกผี ITV ขณะที่พิธาเองก็ยืนยันว่าการถือหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นที่มาจากผู้เป็นบิดา โดยตนเองถือในฐานะผู้จัดการมรดก

 

จนถึงขณะนี้คดีความยังอยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลยังไม่ได้นัดหมายคู่ความในการฟังคำวินิจฉัยแต่อย่างใด

 

2. คดีเสนอนโยบายแก้ ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครอง

 

วันที่ 29 มิถุนายน 2566 ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระวัย 49 ปี และยังเป็นทนายให้กับ สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ อดีตแกนนำ กปปส. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

 

คำร้องจำนวน 18 หน้าได้ยกพฤติการณ์ของพรรคก้าวไกลและพิธาระหว่างการหาเสียงบนเวทีดีเบต เวทีหาเสียงต่างๆ รวมถึงการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข ม.112 มาใช้ประกอบคำร้อง

 

อีกทั้งคำร้องดังกล่าวได้อ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2564 กรณี ณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งให้คณะบุคคลเลิกการกระทำที่ขัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 และให้ยุติการกระทำตามวรรคสอง

 

การกระทำที่ว่านั้นคือ การเสนอ 10 ข้อปฏิรูปสถาบันฯ​ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยมีผู้ถูกร้อง 3 คนคือ อานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1, ภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 และสั่งให้ยุติการกระทำดังกล่าว

 

และ 1 ใน 10 ข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ คือ ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

อย่างไรก็ตาม คำร้องดังกล่าวขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกร้องยุติการกระทำ แต่ไม่ได้ขอให้ศาลยุบพรรคผู้ถูกร้องแต่อย่างใด

 

โดยคดีนี้ยังอยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลยังไม่ได้นัดหมายคู่ความในการฟังคำวินิจฉัยแต่อย่างใดเช่นเดียวกัน

 

อ้างอิง: 

 


อ่านเพิ่มเติม:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X