ราวช่วงกลางปีที่แล้ว Twitter ได้เริ่มปักป้าย ‘กำกับบัญชี’ กับแอ็กเคานต์ผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มที่เป็น 1. บัญชีผู้ใช้งานของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สำคัญ และ 2. บัญชีที่เป็นขององค์กรสื่อในเครือของรัฐ กับแพลตฟอร์มของพวกเขาใน 5 ประเทศ ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน, ฝรั่งเศส, สหพันธรัฐรัสเซีย, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากสำหรับผู้ใช้งานทั่วๆ ไป เพราะช่วยให้ผู้ใช้ Twitter สามารถล่วงรู้ได้ว่า ข้อมูลหรือทวีตข้อความนั้นๆ ที่ถูกทวีตออกไปถูกเผยแพร่โดยหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความเชื่อมโยงกับ ‘รัฐบาล’ และผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศหรือไม่
และจากผลของการที่ได้ทดลองเพิ่ม ‘ป้ายกำกับ’ ดังกล่าวไปใน 5 ประเทศนำร่อง บวกกับข้อเสนอแนะที่ Twitter ได้รับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม พวกเขาจึงตัดสินใจจะขยายการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวเพิ่มในประเทศกลุ่ม G7 และประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย โดยจะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้
โดย Twitter ประเทศไทยระบุว่า “ตามที่ได้ชี้แจ้งในประกาศของเรา Twitter จะทำการติดป้ายกำกับสำหรับบัญชีผู้ใช้งานของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สำคัญ และบัญชีที่เป็นขององค์กรสื่อในเครือของรัฐตามประเภท และคำจำกัดความในประกาศนี้ ทั้งนี้ เราจะแจ้งเตือนไปยังบัญชีที่ถูกติดป้ายกำกับ และหากเจ้าของบัญชีเชื่อว่าเราได้ติดป้ายกำกับผิดพลาด พวกเขาสามารถส่งฟีดแบ็กให้กับทีมงานของ Twitter ได้โดยตรง”
ทั้งนี้ ในกลุ่มประเทศระยะ 2 ประกอบด้วย แคนาดา, สาธารณรัฐคิวบา, เอกวาดอร์, อียิปต์, เยอรมนี, ฮอนดูรัส, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, อิตาลี, ญี่ปุ่น, ซาอุดีอาระเบีย, สาธารณรัฐเซอร์เบีย, สเปน, ไทย, ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สำหรับการเพิ่มป้ายกำกับบัญชี Twitter จะประกอบด้วย 2 ป้ายกำกับดังนี้
- บัญชีผู้ใช้งานที่ได้รับการยืนยันตัวตนแล้วว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สำคัญ – รัฐมนตรีต่างประเทศ, หน่วยงานของสถาบัน, เอกอัครราชทูต, โฆษกรัฐบาล และผู้นำทางการทูตคนสำคัญ
- บัญชีส่วนบุคคลของผู้นำของรัฐในประเทศที่อยู่ในระยะที่ 1 และระยะที่ 2
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์