เป็นเวลากว่า 9 ปีแล้วที่ YouTube เปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ แม้ปัจจุบันผู้บริโภคจะมีพฤติกรรมในการรับชมวิดีโอที่หลากหลายมากขึ้น แต่ยักษ์วิดีโอก็ยืนยันผ่านผลสำรวจของ Kantar ว่าตัวเองนั้นเป็นแพลตฟอร์มวิดีโออันดับ 1 ของคนไทย โดยผู้ชมชาวไทยใช้เวลารับชมวิดีโอบน YouTube มากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ
ข้อมูลจาก YouTube ประเทศไทย ระบุว่า ในทุกๆ 1 นาทีมีการอัปโหลดคอนเทนต์ลงบน YouTube จากทั่วโลกมากกว่า 500 ชั่วโมง และครอบคลุมเนื้อหาหลายพันประเภท และแม้ว่าจะมีช่องโทรทัศน์และแอปพลิเคชันวิดีโอสตรีมมิงต่างๆ ให้เลือกชมหลายร้อยเจ้า “คนไทยก็ยังคงเลือก YouTube ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นเพราะ YouTube ตอบโจทย์ในทุกด้าน โดยมีคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่วิดีโอความยาว 6 วินาที ไปจนถึงสตรีมแบบสดที่ยาวเป็นชั่วโมง” แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าว
จากผลสำรวจของ Kantar พบว่า เวลาที่คนไทยรับชม YouTube ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากถึง 60% และ YouTube Shorts ซึ่งเป็นวิดีโอสั้นที่ปัจจุบันมียอดดูรายวันกว่า 7 หมื่นล้านครั้ง โดยยอดดูเฉลี่ยรายวันของ YouTube Shorts เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นถึง 130% จากปีที่ผ่านมา
สำหรับคนไทยนั้นมีการดูคอนเทนต์ผ่าน 3 รูปแบบหลักๆ คือ Long-Form, Live Streams และ Shorts ซึ่งหากเจาะลึกลงไปมีพฤติกรรมที่น่าสนใจดังนี้
- คนไทยในช่วงอายุ 18-24 ปี, 25-29 ปี, 30-39 ปี และ 40 ปีขึ้นไป ดูคลิปบน YouTube มากกว่าช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ และทีวี
- ผู้ชมวัย 25-29 ปี เป็นกลุ่มคนที่ดู YouTube มากที่สุด
- ผู้ชมชาวไทยบอกว่าโฆษณาบน YouTube นั้นน่าเชื่อถือที่สุด
- 86% ของผู้ชม Gen Z เห็นด้วยว่าโฆษณาในวิดีโอบน YouTube ทำให้มีแนวโน้มที่จะพิจารณาแบรนด์หรือสินค้ามากขึ้น
- คน Gen Z มองว่า YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เวลาด้วยแล้วคุ้มค่าที่สุด
- ชาวไทย 2 ใน 3 มองว่า YouTube เข้ามาแทนที่ทีวีแล้ว ไม่ว่าจะดูผ่าน Device ไหนก็ตาม โดยมีการรับชมคลิปผ่านทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ และจอทีวี
- ผู้ชม YouTube มากกว่าครึ่งมีแนวโน้มเชื่อคำพูดครีเอเตอร์มากกว่าคนใกล้ตัว
- ในกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 50 ปีขึ้นไป) คอนเทนต์เกี่ยวกับการทำอาหารและการท่องเที่ยวกำลังมาแรงในประเทศไทย
- คนไทยใช้เวลาน้อยกว่า 20% ในการรับชมคอนเทนต์ใน 1 ฟอร์แมต ชี้ให้เห็นว่า ผู้ชมต้องการดูวิดีโอคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ ทั้งคลิปสั้น คลิปยาว และไลฟ์
- Podcast เป็นคอนเทนต์ที่มาแรงบน YouTube Music ในประเทศไทย
ขณะเดียวกันยังมีธีมที่น่าสนใจ ได้แก่
- Worthwhile Experience: ประสบการณ์ที่คุ้มค่า
คอนเทนต์บันเทิงไปได้ดีในประเทศไทย ภาพรวมคอนเทนต์มีการแนะนำให้เจาะลึกไปในสิ่งที่ผู้คนหลงใหลแบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่คุ้มค่าของผู้ชม โดย Shorts ไม่ได้มาแทนที่ Long-Form แต่มีไว้เพื่อส่งเสริมกัน
- Drive Needs Various: ขับเคลื่อนคอนเทนต์ที่หลากหลาย
พฤติกรรมของผู้ชมสนใจในเรื่องที่หลากหลายมากขึ้น YouTube ตอบโจทย์เรื่องคอนเทนต์ที่หลากหลายรูปแบบให้กับทุกคนได้ ขอบเขตของการทำเนื้อหามีความกว้างขึ้น ไม่จำกัดว่าช่องเดียวจะต้องทำคอนเทนต์แนวเดียวอีกต่อไป และหลายช่องมีการแตกช่องย่อยเพื่อขยายขอบเขตเนื้อหาของตัวเอง ขณะที่การทำคอนเทนต์แบบ Storytelling และ Viral Video ก็คงยังมีความน่าสนใจ
- Trust: ความน่าเชื่อถือ
คนไทยสัดส่วนกว่า 70% กลัว Fake News บนโลกออนไลน์ ห่วงว่าจะได้รับข่าวสารที่ไม่ถูกต้องจนนำไปสู่ความเข้าใจผิด ซึ่งจากการสำรวจของ Nielsen พบว่า YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่คนไทย 80% มั่นใจว่ามีเนื้อหาที่เชื่อถือได้และเกี่ยวข้องกับตัวเอง
นอกจากนี้ YouTube ประเทศไทย ยังได้ให้เทรนด์หลักๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนอนาคตของการสร้างสรรค์คอนเทนต์บน YouTube ในตอนนี้มีอยู่ 3 เทรนด์ด้วยกัน
- Tech: เทคโนโลยี
ตอนนี้มีเครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้การสร้างคอนเทนต์ยากๆ เป็นไปได้มากขึ้นและสร้างสรรค์มากขึ้น โดยเฉพาะ AI ที่มีส่วนเข้ามาช่วยในการพัฒนาคอนเทนต์จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น มีการใช้ AI ช่วยแปลภาษาและจับคำกับปากแต่ละภาษาให้ตรงกันได้ ซึ่ง 60% ของผู้บริโภคยอมรับคอนเทนต์ที่สร้างโดย AI มากขึ้น
- Culture: วัฒนธรรมแฟนคลับ
สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือ ปัจจุบันผู้ชมได้เปลี่ยนจากการสร้าง Community ไปสู่ Super Fandom แนะนำให้สร้างเนื้อหาเพื่อข้ามไปสู่คอมมูนิตี้ที่หลากหลาย ผู้ชมมีความฉลาดขึ้น ความแมสไม่สำคัญเท่าความลึกของเนื้อหา วัฒนธรรมแฟนคลับเติบโตขึ้นมาก ทำให้เกิดเป็นชุมชนย่อยๆ มากมาย และยังทำให้การสร้างสรรค์คอนเทนต์ของบรรดาแฟนคลับเติบโตขึ้นด้วย
- Creativity: ความสร้างสรรค์
แนวโน้มคอนเทนต์ Live Stream เพิ่มขึ้น และแชตใน Live Stream สูงขึ้น 20 เท่าจากปกติ โดย Freedom of Genres ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องยึดกับประเภทเดิมๆ ขึ้นอยู่กับการจับเทรนด์ ทำให้มีความสร้างสรรค์และความหลากหลายมากขึ้น ส่วนผู้ใช้ YouTube เองก็ติดตามคอนเทนต์ที่พวกเขาสนใจและหลงใหลแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเช่นกัน
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร