×

ตำรวจตุรเคียจับกุมผู้ร่วมขบวนพาเหรดงานไพรด์เกือบ 400 คน ก่อนปล่อยตัวแล้ววันนี้

27.06.2022
  • LOADING...
ตำรวจตุรเคีย

วานนี้ (26 มิถุนายน) เจ้าหน้าที่ตำรวจตุรเคียได้บุกเข้าสลายฝูงชนที่มาร่วมเดินขบวนพาเหรดงานไพรด์ ณ เมืองอิสตันบูล โดยได้จับกุมประชาชน 373 คน รวมถึงช่างภาพของสำนักข่าว AFP โดยรายงานล่าสุดระบุว่า ผู้ที่ถูกคุมขังทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวแล้วในวันนี้ (27 มิถุนายน)

 

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ของเมืองอิสตันบูลได้สั่งห้ามไม่ให้มีการเดินขบวนรอบจัตุรัสทักซิม แต่ผู้ชุมนุมก็ยืนยันที่จะมารวมตัวกันในบริเวณใกล้เคียง ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ได้หยิบหม้อและกระทะออกมาเคาะที่หน้าระเบียงและหน้าต่างห้อง เพื่อส่งกำลังใจให้กับผู้ที่ร่วมเดินขบวน

 

ทางการตุรเคียพยายามกีดกันไม่ให้จัดขบวนพาเหรดงานไพรด์อย่างเต็มที่ เริ่มตั้งแต่ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมายืนคุมสถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างหนาแน่นตั้งแต่ช่วงก่อนเริ่มงาน และส่งเฮลิคอปเตอร์มาบินวนรอบบริเวณ ส่วนเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลได้ตั้งแผงเหล็กทำแนวกั้นรอบจัตุรัสทักซิม อีกทั้งยังสั่งให้รถไฟฟ้าใต้ดินรอบพื้นที่ปิดให้บริการเป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนงานเริ่ม

 

ผู้สื่อข่าวของ AFP ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่คุมตัวผู้ประท้วงหลายร้อยชีวิตขึ้นไปในรถบัสจำนวน 4 คัน ซึ่ง บิวเลนต์ คีลิช หัวหน้าช่างภาพของ AFP ก็ถูกจับกุมตัวไปด้วย ขณะผู้เห็นเหตุการณ์คนอื่นๆ เล่าว่า มีผู้ประท้วงหลายคนถูกเจ้าหน้าที่ทุบตี โดยเจ้าหน้าที่พยายามห้ามไม่ให้สื่อบันทึกภาพหรือวิดีโอ 

 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมืองอิสตันบูลได้สั่งห้ามไม่ให้ชาว LGBTQA+ มาเดินขบวนพาเหรดงานไพรด์ตั้งแต่ปี 2015 โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ถึงเช่นนั้น ประชาชนจำนวนมากก็ยังคงมารวมตัวกันในทุกๆ ปี เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ขณะที่ผู้จัดงานกล่าวว่าคำสั่งแบนของรัฐบาลนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

“เราจะไม่ยอมแพ้ เราไม่เคยกลัว! เราจะสานต่อการจัดกิจกรรมในสถานที่ปลอดภัย รวมถึงจัดงานในรูปแบบออนไลน์” คณะกรรมการจัดงาน LGBTI+ Pride Week เปิดเผยผ่านทางทวิตเตอร์

 

ก่อนหน้านี้ ตรุเคียเคยเป็นหนึ่งในชาติมุสลิมที่เปิดกว้างให้สามารถเดินขบวนพาเหรดงานไพรด์ได้ โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี 2003 หลังจากที่ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ขึ้นครองอำนาจ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลตุรเคียได้หันมาใช้มาตรการที่รุนแรงต่อต้านกิจกรรมที่รัฐมองว่าขัดต่อหลักศาสนา ซึ่งรวมถึงการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางต่อผู้ชุมนุมด้วย อีกทั้งยังมีกระแสความไม่พอใจจากกลุ่มชาตินิยมและชาวอิสลามบางส่วนที่มองว่า LGBTQA+ เป็นอันตรายต่อค่านิยมของชาติด้วยเช่นกัน

 

ภาพ: Kemal Aslan / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising