×

ข้อมูลชี้ อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าโลกปั่นป่วน ทำสินค้าขาดแคลน-ราคาพุ่ง ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซ

โดย THE STANDARD TEAM
28.03.2021
  • LOADING...
ข้อมูลชี้ อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าโลกปั่นป่วน ทำสินค้าขาดแคลน-ราคาพุ่ง ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซ

การเคลื่อนย้ายเรือส่งสินค้าขนาดยักษ์ Ever Given น้ำหนักกว่า 200,000 ตันที่เกยตื้นขวางคลองสุเอซ เส้นทางเดินเรือสินค้าสายสำคัญจากเอเชียสู่ยุโรป คาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกหลายวันหรือหลายสัปดาห์

 

ผลกระทบจากเหตุการณ์ ‘เรือขวางคลอง’ ที่ถูกเปรียบเหมือน ‘วาฬเกยตื้น’ ครั้งนี้ รุนแรงมากเป็นอันดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์การเดินเรือ และสร้างความเสียหายต่อการค้าโลก คิดเป็นชั่วโมงละกว่า 400 ล้านดอลลาร์ จนถึงตอนนี้ยังมีเรือสินค้าอีกมากกว่า 200 ลำต่อแถวรอความหวัง เพื่อไม่ต้องเดินทางอ้อมโลก

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนเกิดวิกฤตการณ์นี้ อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทั่วโลกก็อยู่ในภาวะปั่นป่วนมากพออยู่แล้ว อันเป็นผลจากห่วงโซ่อุปทานโลกที่ยืดยาวจนถึงขีดจำกัด จากความต้องการนำเข้าสินค้าที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องกว่า 7 เดือน หลังจากที่ซบเซาอย่างหนักในช่วงปี 2020 จากวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้อุปทานทั่วโลกพุ่งสูงมาจากความต้องการซื้อของผู้บริโภคในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ

 

ข้อมูลจาก S&P Global Panjiva ผู้ให้บริการข้อมูลการค้าโลกเผยว่า อัตราการนำเข้าสินค้าทางเรือนั้นพุ่งสูงเกือบ 30% ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 20%

 

การนำเข้าสินค้าที่เพิ่มปริมาณอย่างมากในสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ส่งผลให้ตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าขาดแคลน สินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะรถยนต์ เครื่องจักร เสื้อผ้าหรือลวดเย็บกระดาษ ต่างขนส่งใส่ตู้เหล็กเหล่านี้ ซึ่งโรงงานผู้ผลิตส่วนมากอยู่ในจีน และจำนวนมากต้องปิดไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่การขนส่งทั่วโลกหยุดชะงัก ทำให้จำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ผลิตใหม่มีไม่พอต่อความต้องการใช้งาน

 

ค่าขนส่งที่สูงลิ่ว

มากกว่า 80% ของการค้าทั่วโลกนั้นขับเคลื่อนผ่านการขนส่งทางทะเล ซึ่งวิกฤตเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซทำให้ค่าใช้จ่ายของห่วงโซ่อุปทานยิ่งเพิ่มขึ้นหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ข้อมูลจาก S&P Global Platts ชี้ว่า ก่อนเกิดวิกฤตนี้ ค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 1,040 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เป็น 4,570 ดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

 

และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค่าขนส่งสำหรับสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าเท่าตัว หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่มีค่าขนส่งรวมประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

อีกทั้งค่าขนส่งเหล่านี้ยังสามารถสูงขึ้นได้อีก จากแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์นี้ถือเป็นฝันร้ายของนักลงทุนในตลาดหุ้น Wall Street ที่กำลังกังวลว่าราคาสินค้าที่พุ่งสูงอาจบีบให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาด

 

“ในขณะนี้ค่าใช้จ่ายมากมายเหล่านี้อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ผมคิดว่ามันไม่สามารถเลี่ยงได้ที่ผลกระทบจะส่งต่อไปถึงผู้บริโภค มันแค่ต้องใช้เวลาเท่านั้น” คริส โรเจอร์ นักวิเคราะห์ของ S&P Global Panjiva กล่าว

 

ขณะที่การล็อกดาวน์เพื่อป้องกันโควิด-19 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการปิดโรงงานและการชะงักงันของกระแสการค้าทั่วโลก ซึ่งการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วภายหลังการผ่อนคลายของวิกฤตโควิด-19 ที่บรรเทาลง ทำให้โรงงานผู้ผลิตและจัดหาวัตถุดิบสำหรับผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ประสบความยากลำบากในการจัดหาวัตถุดิบให้เพียงพอต่อคำสั่งซื้อ

 

ภาวะขาดแคลนวัถุดิบทำให้ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ เช่น บริษัทผลิตรถยนต์อย่าง Ford และ Volkswagen ต้องระงับการผลิตภายในโรงงาน เนื่องจากขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ที่ถูกนำไปใช้ในการผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์แก็ดเจ็ตต่างๆ

 

คอนเทนเนอร์จำนวนมากกองอยู่ผิดที่

การส่งออกของจีนนั้นฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ในขณะเดียวกันเส้นทางขนส่งสินค้าสายสำคัญต้องยกเลิกการอนุญาตเดินเรือส่งสินค้า ท่ามกลางภาวะการค้าทั่วโลกที่หยุดนิ่ง

 

ซึ่งผลที่ตามมาทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ว่างเปล่าจำนวนมาก ถูกกองไว้ผิดที่ และไม่สามารถนำมาใช้งานรองรับการขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยังประเทศในยุโรปหรืออเมริกาเหนือได้

 

Hapag-Lloyd หนึ่งในบริษัทขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เพิ่มเรืออีก 52 ลำเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่าหลายแสนตู้ไปยังประเทศที่ต้องการใช้งานมากที่สุด ซึ่งในช่วงเวลาปกตินั้นจะใช้เรือเพียงไม่ถึง 10 ลำในการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเหล่านี้

 

“นั่นคือความเป็นจริงเกี่ยวกับเรือ หนึ่งสัปดาห์ที่ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์เปล่า” รอล์ฟ ฮับเบิน แวนเซ่น แจ้งต่อนักลงทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ราคาสินค้าพุ่งสูงกำลังมา

หลายบริษัทแทบไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อแผนรับมือจากค่าขนส่งสินค้าที่พุ่งสูง แต่มีสัญญาณขั้นต้นบ่งชี้ถึงราคาสินค้าที่อาจเพิ่มสูงขึ้น

 

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานพบว่า ค่านำเข้าสินค้าในเดือนมกราคมนั้นเพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2012 ซึ่งคาดว่าความต้องการสินค้าของผู้บริโภคจะเพิ่มสูงต่อเนื่องในอีก 2 เดือนข้างหน้า และคาดว่าผลกระทบจากค่าขนส่งที่สูงขึ้นอาจทำให้สินค้าหลายรายการ โดยเฉพาะสินค้านำเข้านั้นเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ขณะที่นักวิเคราะห์ของ Commerzbank ธนาคารรายใหญ่ของเยอรมนีมองเหตุการณ์ที่คลองสุเอซว่าอาจทำให้ราคาน้ำมันยิ่งพุ่งสูงตามไปด้วย เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับเรือขนส่งสินค้าเหลว (Tanker) ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกจากเหตุการณ์นี้

 

ขณะเดียวกันบริษัทผู้ผลิตสารเคมีที่ใช้เรือ Tanker ก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจที่ผลิตสินค้าจากสารเคมี เช่น แชมพูหรือเครื่องสำอางนั้นจะผลักภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไปที่ผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาสินค้า

 

“ราคาส่วนใหญ่ตามห่วงโซ่อุปทานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือราคาขึ้น ดังนั้นมันต้องไปโผล่ที่ไหนสักแห่ง” โจแอนนา โคนิง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ ING Group กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการธนาคาร การเงินและการบริหารสินทรัพย์ กล่าว

 

ภาพ: Stringer / Anadolu Agency via Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X