เกิดอะไรขึ้น:
บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ได้วางแผนที่จะเปลี่ยนแหล่งเงินทุนระยะยาวจากแหล่งเงินทุนแบบดั้งเดิม 100% ในปี 2563 มาใช้แหล่งเงินทุนที่ส่งเสริมความยั่งยืนในสัดส่วน 50% ในปี 2565 และ 75% ในปี 2568
ข้อมูล ณ 3Q64 TU มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจำนวน 6.8 หมื่นล้านบาท โดย 16% เป็นเงินกู้ระยะสั้น และ 84% เป็นเงินกู้ระยะยาว ขณะที่เมื่อจำแนกตามสกุลเงินพบว่า 84% เป็นหนี้สินสกุลบาท 13% เป็นหนี้สินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และ 3% เป็นหนี้สินสกุลยูโรและเยน
สำหรับเงินกู้ระยะสั้นของบริษัท (ตั้งเป้าที่ 20-25% ของหนี้สินทั้งหมด) TU วางแผนที่จะมุ่งเน้นทำการกู้ยืมจากธนาคาร เนื่องจากมีความยืดหยุ่น อัตราดอกเบี้ยที่แข่งขันได้ และบริการด้านการธนาคารอื่นๆ และกำลังพิจารณาที่จะเพิ่มองค์ประกอบด้าน ESG สำหรับเงินกู้ยืมระยะยาว (ตั้งเป้าที่ 75-80% ของหนี้สินทั้งหมด) ส่วนใหญ่จะมาจากตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เนื่องจากความแน่นอนของแหล่งเงินทุนและอัตราดอกเบี้ยที่แข่งขันได้ และส่วนหนึ่งมาจากตลาดสินเชื่อในประเทศและต่างประเทศหากพิสูจน์ได้ว่าผลประโยชน์ที่ได้รับเทียบเคียงกันได้
นอกจากนี้บริษัทยังคงสำรวจทางเลือกอื่นๆ (พิจารณาต้นทุนการกู้ยืมหลังป้องกันความเสี่ยง) ในสกุลเงินใดๆ ก็ตาม และวางแผนที่จะทำ ‘Blue Finance’ (การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อมหาสมุทร) มากขึ้น เพื่อส่งเสริมความพยายามในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 วันที่ผ่านมานั้น ราคาหุ้น TU ปรับตัวลดลง 4.8%MoM สู่ระดับ 19.70 บาท เทียบกับ SET Index ที่ปรับตัวลดลง 1.4%MoM สู่ระดับ 1,590.81 จุด (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2564)
มุมมองต่อการเคลื่อนไหวครั้งนี้:
SCBS มองว่าความคลื่อนไหวแสดงถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาสู่ความยั่งยืนและช่วยลดต้นทุนทางการเงินได้ ซึ่งจากการประเมินของ SCBS พบว่า ต้นทุนทางการเงินของ TU ลดลง 0.05-0.12% ต่อปี ในปี 2568 และจะช่วยหนุนให้ประมาณกำไรของปี 2568 ปรับขึ้นอีกไม่เกิน 1% แต่ยังไม่มีผลกระทบเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการในระยะสั้นนี้
สำหรับแนวโน้มกำไร 4Q64 ของ TU SCBS คาดว่าจะทรงตัวทั้ง YoY และ QoQ เพราะอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นเนื่องจากโรงงานกลับมาเปิดดำเนินการหลังจากถูกปิดชั่วคราวสืบเนื่องจากการระบาดของโควิด แต่ถูกหักล้างบางส่วนจากส่วนแบ่งกำไรจาก Red Lobster ที่ลดลงตามปัจจัยฤดูกาล