×

งานวิจัย มธ. ถอดผลกระทบพิษโควิด ‘หนี้รัฐ-เอกชน-ครัวเรือน’ พุ่งต่อเนื่อง วิถีชีวิตคนเปลี่ยน แนะเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เกาะกระแส Metaverse-ลดพึ่งพาท่องเที่ยว

16.11.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) เปิดเผยผลวิจัย ‘ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และการพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศ’ โดยสรุปภาพรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาใน 8 ด้านสำคัญ ดังนี้

 

  1. หนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในปี 2563 เพิ่มขึ้นแตะ 51.83% และคาดว่าเพิ่มต่อเนื่องอีกเป็น 55.59% ในปี 2564 ซึ่งใกล้ระดับเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60%
  2. หนี้เอกชน ซึ่งเป็นการกู้ยืมเงินจากภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เพิ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงแรกของการระบาดของโรคโควิด เพื่อจะให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการต่อได้ โดยเฉพาะการระบาดระลอก 3 ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 จึงทำให้มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 61.90% และคาดการณ์ว่าครึ่งหลังปี 2564 จะมีการออกตราสารหนี้ใหม่อีกกว่า 4 แสนล้านบาท
  3. หนี้ครัวเรือน ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 คนไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 13.59 ล้านล้านบาท และเพิ่มต่อเนื่องจนไตรมาสที่ 1 ในปี 2564 มีประมาณ 14.13 ล้านล้านบาท โดยผู้กู้มีทั้งเพื่ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย และรถยนต์ และกลุ่มผู้กู้เพื่อหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
  4. การท่องเที่ยว ในปี 2563 รายได้จากการท่องเที่ยวหดตัวลงเหลือเพียง 0.8 ล้านล้านบาท ลดลง 72% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีประมาณ 3 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 6.7 ล้านคน ขณะที่ปี 2562 มีสูงถึง 40 ล้านคน โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ‘Phuket Sandbox’ ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ แต่ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ
  5. การว่างงาน มีผู้ว่างงานกว่า 7 แสนคน ตลอดช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งสูงขึ้นจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดที่มีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 3 แสนคน
  6. ธุรกิจเลิกกิจการ โดยในปี 2563 มีถึง 20,920 ราย ทุนจดทะเบียน 91,859 ล้านบาท โดยธุรกิจที่เลิกกิจการสูงสุดคือ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และภัตตาคาร/ร้านอาหาร
  7. โรงงานอุตสาหกรรม ในปี 2563 มีโรงงานประกอบกิจการใหม่ 2,633 โรงงาน เงินลงทุนรวม 171,054 ล้านบาท คนงาน 86,797 คน ซึ่งลดลงกว่าปีก่อนที่มีโรงงานประกอบกิจการใหม่ 3,175 โรงงาน เงินลงทุนรวม 301,418 ล้านบาท คนงาน 96,492 คน และมีโรงงานที่เลิกกิจการทั้งหมด 716 โรงงาน โดยกิจการที่มีการปิดสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์จากพืช ผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์อโลหะ
  8. การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การเข้ามาของโรคโควิดเป็นตัวเร่งให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น เกิดการทำงานและการสื่อสารในรูปแบบใหม่ๆ อย่างการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัวสูงถึง 80% จากปีก่อนหน้า หรือมีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท ตรงข้ามกับมูลค่าการซื้อขายผ่านหน้าร้านที่หดตัวถึง 11% ในปีเดียวกัน สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างชัดเจน รวมถึงการดูแลใส่ใจสุขภาพทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ลดการปฏิสัมพันธ์ เว้นระยะห่างทางสังคม และใส่หน้ากากอนามัย

 

อย่างไรก็ดี TU-RAC มองว่า การที่ภาครัฐมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง, เราชนะ, ม.33 เรารักกัน, ยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมถึงมีแผนจัดหาวัคซีนจาก 3 วัคซีนหลัก คือ AstraZeneca, Sinovac และ Pfizer รวม 127.1 ล้านโดส และหากรวมวัคซีนทางเลือกจะเท่ากับ 179.1 ล้านโดส พร้อมตั้งเป้าหมายการฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จะทำให้เศรษฐกิจของไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัว

 

ทั้งนี้ หากการบริหารจัดการวัคซีนเป็นไปตามแผนภายในเดือนธันวาคม 2564 จะส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศลดลงเหลือประมาณ 2,500 คนต่อวัน ผู้เสียชีวิตลดลงเหลือประมาณ 40 คนต่อวัน และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ 

 

โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเพิ่มเกือบ 3 แสนคน และเกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในประเทศ กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 10.38% อยู่ที่ระดับ 70.39% สูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ดัชนีการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 6.95% รวมทั้งผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมลดลง 32.23% หรือประมาณ 4.5 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

 

“หากคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าคือ 70% ของประชากร หรือ 100 ล้านโดส จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งปัจจุบันคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 85 ล้านโดส ทำให้มีโอกาสสูงที่เราจะทำได้ตามเป้า โดยในกรณีดีที่สุดที่หากไทยสามารถฉีดวัคซีนได้ถึง 8 แสนโดสต่อวันในช่วงที่เหลือของปี จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงมาเหลือ 1,000 คนต่อวัน ขณะที่ผู้เสียชีวิตจะลดลงเหลือ 20 คนต่อวัน” สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัยกล่าว

 

สุทธิกรกล่าวว่า ด้วยอัตราดังกล่าวจะทำให้การระบาดของโรคโควิดของไทยลดลงเกือบเป็นศูนย์ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 และจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.1 ล้านคน ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 11.26% ดัชนีการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 39.29% ผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมลดลงกว่า 70,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับปีก่อน โดยคาดการณ์ไว้ด้วยว่าปี 2565 GDP ไทยจะขยายตัวได้ 3.9%

 

สุทธิกรกล่าวอีกว่า แม้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่การเติบโตก็ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด โดยคาดว่าไทยอาจต้องใช้เวลาถึงปี 2567 ในการฟื้นตัวเพื่อกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด ขณะเดียวกัน ยังต้องจับตาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อาจเร่งตัวขึ้นได้อีกหากมาตรการช่วยเหลือและการผ่อนคลายการจัดชั้นหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยสิ้นสุดลง

 

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่อาจนำไปสู่วิกฤตหากเศรษฐกิจเกิดช็อกขึ้นมาอีก โดยเฉพาะในภาวะที่โรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นถี่ขึ้นอย่างเช่นในปัจจุบัน ดังนั้นไทยอาจต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระยะยาว ลดการพึ่งพาภาคท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวต่างชาติ หันไปพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น Cross Border E-Commerce ซึ่งสอดคล้องกับโลกที่กำลังเข้าสู่ยุค Metaverse หรือโลกเสมือน ซึ่งจะช่วยชดเชยเศรษฐกิจรูปแบบเดิมได้หากเกิดการระบาดขึ้นอีก” สุทธิกรกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising