นับเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและยินดีเป็นอย่างมาก เมื่อ ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยหนึ่งเดียวของไทยที่ได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมเครือข่ายพันธมิตรการบริหารระหว่างประเทศ (Partnership in International Management-PIM) กำลังจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมนานาชาติระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม 2562 ที่จะถึงนี้
ต้องบอกว่าการประชุม PIM ถือเป็นการประชุมที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนี่เป็นการประชุมของเครือข่ายพันธมิตรการบริหารระหว่างประเทศ (PIM) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1973 เป็นที่รวมของสมาชิกสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ หรือ Business School ชั้นนำของโลก แต่ละประเทศจะมีเพียงสถาบันการศึกษาเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 65 มหาวิทยาลัย 30 ประเทศ และในอาเซียนเองก็มีแค่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Singapore Management University ของสิงคโปร์เท่านั้นที่เป็นสมาชิก
ที่ผ่านมาเครือข่ายของ PIM ได้สร้างความร่วมมือระหว่างกันไปทั่วโลก ทั้งการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ การร่วมวิจัย การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเรื่องการบริหาร การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงธุรกิจจากแต่ละภูมิภาค โดยกิจกรรมที่ทำทุกปีคือการประชุมประจำปีเพื่อแบ่งปันความรู้ กิจกรรมในระหว่างปีก็จะมีการสำรวจข้อมูลเพื่อขยายช่องทางความร่วมมือด้านบริหารธุรกิจระหว่างกัน
ดังนั้นการที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ จึงถือได้ว่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับความเชื่อมั่นอย่างสูงจากมวลสมาชิก หลังจากที่คณะฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจาก 3 สถาบันระดับโลก หรือการรับรองระดับสามมงกุฎ (Triple Crown Accreditation) ทั้งจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร
สำหรับการประชุมครั้งที่ 46 ในปีนี้มีมหาวิยาลัยเข้าร่วมประชุม 50 กว่ามหาวิทยาลัย เช่น Tsinghua University, School of Economics and Management, China-Rotterdam School of Management, Erasmus University, Netherlands-AGSM, The University of New South Wales, Australia-Bocconi University, Italy
รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเวทีใน “การแสวงหาแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับประเทศไทย และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีของรัฐบาล” ในโอกาสนี้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาร่วมงานและพูดคุยภายใต้ธีมหลักของการประชุม Thai Creative Economy
เนื่องด้วย ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ จะเป็นตัวหนึ่งที่เข้ามาสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระยะยาวของไทย เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจของไทยเน้นพึ่งพาหลายทรัพยากรในประเทศเป็นหลัก ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้กำลังหมดลงไปทุกวันๆ แต่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เกิดขึ้นบนแนวความคิดที่ใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา (Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity) และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) มาเชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม (Culture) การสั่งสมความรู้ของสังคม (Wisdom) เทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่ ก่อให้เกิดเป็น ‘การสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิด’
นี่จึงนับว่าเป็นความหวังของประเทศและของรัฐบาลในการสร้าง S-Curve ใหม่ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งถือเป็นหนทางความอยู่รอดของประเทศ ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และไม่สามารถยกระดับรายได้ของประชาชน ความสำเร็จจะเกิดได้ต้องเดินไปพร้อมกัน ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ และปัจจัยเกื้อหนุนอื่นๆ ที่แวดล้อม
“ในฐานะสถาบันการศึกษา ถือว่าเรามีบทบาทสำคัญในการผลักดันทั้งด้านการผลิตบุคลากร และการสร้างเครือข่ายจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อระดมกำลังในการสนับสนุน ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็จะยากที่จะประสบความสำเร็จ” รศ.ดร.พิภพ กล่าว
รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภายใต้การประชุมในครั้งนี้ ‘ไทย’ สามารถถอดบทเรียนจากสมาชิกกว่า 60 ประเทศมาสร้างกลไกผลักดันให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยเกิดได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมราว 120 คน ส่วนใหญ่เป็นระดับอธิการบดี และคณบดีจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์หลากหลาย หลายคนมาจากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมีประสบการณ์ก่อตั้งหรือร่วมลงทุนในธุรกิจสร้างสรรค์ นี่จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับบ้านเรา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
8 เกณฑ์คัดเลือกในการเป็นเครือข่ายพันธมิตรการบริหารระหว่างประเทศ
1. มีหลักสูตรภาษาอังกฤษในหลากหลายสาขาที่ครอบคลุมทั้ง Undergrad และ Grad
2. Business School ต้องมีการรองรับนักศึกษาแลกเปลี่ยน
3. มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่าง PIM Member ในระดับปริญญาโทขึ้นไป อย่างน้อย 20% หรือในระดับปริญญาโทขึ้นไปและตรีรวมกัน 30%
4. มี Support Service ที่มีการดูแลนักศึกษาแลกเปลี่ยนเป็นเลิศ
5. ผู้บริหารระดับสูง (Dean, President, Rector) ต้องมีการเข้าประชุมอย่างสม่ำเสมอ
6. มีความเต็มใจและยืดหยุ่น ในการรองรับ Academic Calendar ปัญหา หรือความต้องการพิเศษที่จะเกิดขึ้น
7. มีเครือข่ายที่ดีกับรัฐบาล มีพันธมิตร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ Business School
8. ต้องเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงในแวดวงวิชาการ และแวดวงธุรกิจ ซึ่งจะเห็นได้จากการได้รับการรับรองจาก International Accreditations (AACSB, EQUIS, AMBA)