×

ธรรมศาสตร์สร้าง ‘กิติยาคาร’ อาคารแห่งความยุติธรรม แลนด์มาร์กแห่งใหม่เพื่อประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
29.09.2020
  • LOADING...
กิติยาคาร

การเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองฟ้าอมรที่เต็มไปด้วยความหวังสำหรับนักแสวงหา ขณะนี้กำลังสร้างปัญหาในมุมกลับต่อผู้อยู่อาศัย 

 

เมืองในอุดมคติ ทุกวันนี้ถูกแทนที่ด้วยสภาพความแออัด ถนนทุกสายแน่นขนัดไปด้วยการจราจรที่คับคั่ง ปัญหามลพิษ-ฝุ่นละออง ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตผู้คน ความเร่งรีบผลักไสให้ต้องแข่งขัน และผู้ที่ชนะเท่านั้นที่จะได้รับอนุญาตให้อยู่รอดในเมืองศิวิไลซ์แห่งนี้ต่อไปได้

 

ที่ผ่านมา นักวิชาการ นักพัฒนา รวมถึงนักสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ได้ออกมาประสานเสียงท้วงติงนโยบายแห่งรัฐ โดยเห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะ ‘ชะลอ’ หรือ ‘หยุด’ การเติบโตของกรุงเทพฯ เปิดโอกาสให้ ‘เมืองส่วนขยาย’ หรือพื้นที่ชานเมือง (Sub-Urban) รับหน้าที่นี้แทน

 

แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนบนของ กทม. ที่พรั่งพร้อมด้วยโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชน และยังเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ที่มีทรัพยากรทั้งในแง่องค์ความรู้ นักวิชาการ ตลอดจนพื้นที่ที่กว้างขวาง

 

“เรามั่นใจว่าเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับกิจกรรมขนาดใหญ่ของคนจากพื้นที่ภาคกลางตอนบน ทั้งจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ฯลฯ ได้ ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของกรุงเทพฯ ชั้นในได้” รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ

 

กิจกรรมขนาดใหญ่ในที่นี้ หมายถึงการจัดมหกรรมการประชุม นิทรรศการขนาดยักษ์ คอนเสิร์ตหรืออีเวนต์ระดับประเทศ เทียบเท่าสเกลงานที่จัดในเมืองทองธานี

 

จุดชี้ขาดที่ทำให้ธรรมศาสตร์มีศักยภาพในการรองรับคนจากภาคกลางตอนบน ส่วนสำคัญเป็นเพราะได้บูรณะจัดสร้าง ‘กิติยาคาร’ อาคารแห่งใหม่ที่ได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติ  ยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

สำหรับอาคารแห่งนี้ จัดสร้างขึ้นจากสองแนวคิดหลักคือ ‘ความยั่งยืน’ และ ‘ความยุติธรรม’ ซึ่งไม่อาจแยกขาดจากกันได้ ดั่งพระราชดำรัสของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ตอนหนึ่งว่า “เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายของความยั่งยืนได้อย่างไร หากความไม่เท่าเทียมกันยังคงสร้างความขัดแย้งในสังคม และในขณะที่ยังมีประชากรอีกมากที่ยังถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงความยุติธรรม”

 

ภายในอาคารประกอบด้วยหอประชุมใหญ่ ขนาดความจุ 3,500 ที่นั่ง ห้องประชุมขนาดกลาง ห้องสัมมนาขนาดเล็ก และยังเชื่อมต่อกับ ‘อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี’ ที่มีทั้งลานขนาดใหญ่ Concert Hall ห้องสมุดประชาชน Co-working Space พื้นที่ Urban Farming ฯลฯ 

 

นอกจากฟังก์ชันที่หลากหลายแล้ว ส่วนสำคัญที่สุดของอาคารแห่งนี้ก็คือการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ‘ธรรมประภา’ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทรงงานด้านความยุติธรรม การช่วยเหลือผู้ต้องหาให้เข้าถึงหลักนิติธรรม (Rule of Law) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของอดีตผู้ต้องขังหญิง โครงการกำลังใจเพื่อให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม

 

“ข้าพเจ้าอยากสะท้อนให้เห็นว่า การทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสหรือพลั้งพลาด สามารถทำได้ตั้งแต่จุดใกล้ตัวที่สุดคือตัวเรา ซึ่งเป็นผู้ให้หรือผู้ที่จะช่วยเหลือ สร้างกำลังใจให้ผู้อื่น” ตามพระราชดำรัสฯ เนื่องในวาระ 8 ปี กับการทรงงานช่วยเหลือและลดผู้ต้องขังหญิง

 

มากไปกว่านั้น หากย้อนกลับไปในปี 2554 ท่ามกลางวิกฤตการณ์อุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ กิติยาคารซึ่งขณะนั้นยังเป็นอาคารยิมเนเซียม 2 ได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างเสมอหน้าโดยไม่เลือกปฏิบัติมาแล้ว ด้วยการเป็น ‘ศูนย์พักพิงชั่วคราว’ บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยมากกว่า 1,500 ชีวิต

 

“กิติยาคารจึงมีความเป็นมา มีสายสัมพันธ์ผูกโยงอย่างเป็นเนื้อเดียวกับประชาชน เป็นอาคารที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเสมอหน้า เท่าเทียม ซึ่งตรงตามหลักการทรงงานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ” รศ.เกศินี ระบุ

 

รศ.เกศินี บอกอีกว่า ธรรมศาสตร์มีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่ ด้านหนึ่งเราตั้งใจจะสร้างเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ จังหวัดปทุมธานี-นวนคร เพื่อเป็นต้นแบบของประเทศไทย อีกด้านหนึ่งเราเต็มใจที่จะใช้พื้นที่ของเราบรรเทาปัญหาของ กทม. เพื่อรับใช้สังคมในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

 

 

 

ภาพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X