เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) รายงานกำไรสุทธิ 2Q67 ออกมาตามคาดที่ 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19%YoY และ 6%QoQ หากตัดขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนออกไป พบว่ากำไรปกติ 2Q67 อยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%YoY และ 60%QoQ สูงกว่าที่ INVX และตลาดคาดอยู่ 10-20% จากอัตรากำไรขั้นต้นและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่ดีกว่าคาด กำไรที่เพิ่มขึ้น YoY มาจากยอดขายที่ดีขึ้น (ได้ผลบวกจากการแปลงอัตราแลกเปลี่ยนจากการอ่อนค่าของเงินบาทและธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่ดีขึ้น)
อัตรากำไรขั้นต้นที่กว้างขึ้น (ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง) และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่สูงขึ้น (ส่วนแบ่งกำไรจาก Avanti ดีขึ้น และไม่มีการบันทึกขาดทุนจาก Red Lobster เหมือนใน 2Q66) ซึ่งมากเกินพอชดเชยอัตราส่วนค่าใช้จ่าย SG&A/ยอดขายที่สูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายการตลาดและค่าที่ปรึกษาที่สูงขึ้น ในขณะที่กำไรที่เพิ่มขึ้น QoQ เกิดจากยอดขาย (ทุกธุรกิจ) และอัตรากำไรขั้นต้น (ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปและธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง) ที่ดีขึ้น
TU ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.31 บาทต่อหุ้น (XD วันที่ 21 สิงหาคม) สำหรับ 3Q67 คาดกำไรแข็งแกร่งขึ้น และ TU มีการปรับเป้าหมายปี 2567 เพิ่มขึ้น ราคา Spot ปลาทูน่าท้องแถบค่อยๆ ปรับตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี จากปัจจัยฤดูกาล (การห้ามจับปลาด้วยเครื่องล่อ (FAD) ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกใน 3Q67) สถานการณ์เช่นนี้จะช่วยสนับสนุนธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปของ TU จากราคาผลิตภัณฑ์ OEM ที่ดีขึ้น (สัญญาระยะสั้น)
ท่ามกลางต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าระดับต่ำ (มีสต็อกอยู่ในมือราว 5 เดือน) ใน 2H67 คาดว่ากำไร 3Q67 จะเพิ่มขึ้น QoQ จากปัจจัยฤดูกาล และ YoY จากยอดขายที่ดีขึ้นและมาร์จิ้นที่กว้างขึ้น หลักๆ เกิดจากธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป (เพิ่มขึ้น YoY และ QoQ) จากส่วนต่างระหว่างราคากับต้นทุนที่ดีขึ้น และส่วนหนึ่งเกิดจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง (เพิ่มขึ้น YoY) จากยอดขายผลิตภัณฑ์พรีเมียมที่มีมาร์จิ้นสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาพใน 2H67 ดีกว่า 1H67 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการที่ TU ปรับเป้าหมายสำหรับปี 2567 เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้ายอดขายเติบโต 4-5%YoY (เทียบกับเป้าเดิมที่ 3-4%YoY; สูงกว่า 2.7%YoY ใน 1H67) และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 18-18.5% (เทียบกับเป้าเดิมที่ 17-18%; สูงกว่า 17.9% ใน 1H67)
ผลกระทบเชิงบวกเล็กน้อยจากการทำสัญญากู้เงินฉบับใหม่กับ ITC เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 คณะกรรมการของ TU มีมติอนุมัติการกู้ยืมเงินจาก ITC วงเงินไม่เกิน 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในกิจการทั่วไปและ/หรือเพื่อการชำระคืนเงินกู้ โดยประกอบด้วย: วงเงินกู้ระยะยาวไม่เกิน 6 พันล้านบาท ระยะเวลาการกู้ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.1% ต่อปี และวงเงินกู้หมุนเวียนไม่เกิน 5 พันล้านบาท ระยะเวลาการกู้ 1 ปี อัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ประกาศโดย กนง. เพิ่มขึ้น 0.1% ต่อปี โดยการกู้ยืมทั้งสองประเภทนี้สามารถต่ออายุได้ รวมอายุทั้งสิ้นไม่เกิน 6 ปี
การกู้ยืมเงินดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลังจาก ITC ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 30 กันยายน เหตุผลในการทำธุรกรรมครั้งนี้คือ เพื่อให้ TU ได้รับประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าสถาบันการเงิน และเพิ่มผลตอบแทนให้กับ ITC จากการบริหารเงินสดส่วนเกิน ซึ่งประเมินว่ากำไร (หลังภาษี) ของ TU จะปรับเพิ่มขึ้นได้เฉลี่ย 0.4-1.4% ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง (เริ่มตั้งแต่ 4Q67 ซึ่งยังไม่รวมอยู่ในประมาณการ)
กระทบอย่างไร:
หลังรายงานผลประกอบการ ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2567 ราคาหุ้น TU ปรับขึ้น 3.00% อยู่ที่ระดับ 14.80 บาท ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 0.40% สู่ระดับ 1,295.65 จุด
กลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ:
InnovestX Research คาดว่าราคาหุ้น TU ที่ปรับตัว Underperform SET อยู่ 2% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จะพลิกกลับมาปรับตัวดีขึ้นจาก:
- กำไรปกติ 2Q67 ที่ออกมาสูงกว่าคาดที่ 1.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%YoY และ 60%QoQ จากอัตรากำไรขั้นต้นและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่แข็งแกร่ง
- กำไร 3Q67 ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยจะเพิ่มขึ้น QoQ จากปัจจัยฤดูกาล และ YoY จากธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปและธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่ดีขึ้น
- การประกาศเป้าหมายปี 2567 ใหม่ โดยตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายและมาร์จิ้นสูงกว่าตัวเลขที่บริษัททำได้จริงใน 1H67 ซึ่งช่วยสนับสนุนมุมมองเชิงบวกใน 2H67
- ผลกระทบเชิงบวกเล็กน้อยจากการทำสัญญากู้เงินฉบับใหม่กับ ITC (กำไรของ TU จะมี Upside 0.4-1.4% จากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง) ซึ่งรอการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ITC ในวันที่ 30 กันยายน
กลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ คงคำแนะนำ Outperform สำหรับ TU โดยให้ราคาเป้าหมายกลางปี 2568 ที่ 18 บาทต่อหุ้น อ้างอิง PE 14 เท่า (-0.5SD จาก PE เฉลี่ย 10 ปี)
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือแรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการแข็งค่าของเงินบาท ปัจจัยเสี่ยงด้าน ESG ที่สำคัญ ได้แก่ การบริหารจัดการพลังงาน ของเสีย และน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่ยังยืน (E) นโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงาน (S)