เกิดอะไรขึ้น:
InnovestX Research ได้จัดทำบทวิเคราะห์พรีวิวผลประกอบการ 1Q66 ของ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ซึ่งคาดว่าจะประกาศผลประกอบการวันที่ 9 พฤษภาคม 2566
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น TU ปรับลดลง 12.82%MoM อยู่ที่ระดับ 13.60 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 0.80%MoM อยู่ที่ระดับ 1,594.05 จุด
พรีวิวผลประกอบการ 1Q66:
InnovestX Research คาดการณ์กำไรสุทธิ 1Q66 ที่ 855 ล้านบาท ลดลง 51%YoY และ 31%QoQ หากไม่รวมขาดทุนพิเศษ 268 ล้านบาท (การเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของหุ้นบุริมสิทธิใน Red Lobster จำนวน 318 ล้านบาท หักล้างกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 50 ล้านบาท) กำไรปกติ 1Q66 จะอยู่ที่ 1.1 พันล้านบาท ลดลง 36%YoY และ 47%QoQ กำไรที่ลดลง YoY ได้รับผลกระทบจากยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลง เพราะปริมาณการขายลดลงในทุกธุรกิจเนื่องจากระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งสินค้าทางเรือที่กลับสู่ภาวะปกติและราคาปลาทูน่าสูงส่งผลทำให้ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อใหม่
และกำไรจาก ITC ที่ลดลงจากการลดสัดส่วนการถือหุ้นลงจาก 98% สู่ 78% ผลกระทบดังกล่าวจะหักล้างส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นจาก Red Lobster ที่ 100 ล้านบาท (เทียบกับ -240 ล้านบาท ใน 1Q65) จากฐานต่ำของปีก่อนเนื่องจากจำนวนลูกค้าน้อยสืบเนื่องมาจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน
สำหรับเป้าหมายของธุรกิจอาหารทะเลลดลงในปี 2566 TU ปรับเป้าการเติบโตของยอดขายลดลงสู่ 3-4%YoY (จากเป้าเดิมที่ 5-6%YoY) และปรับเป้าอัตรากำไรขั้นต้นลดลงสู่ 17.5-18% (จากเป้าเดิมที่ 18-18.5%) หลักๆ เป็นเพราะปริมาณการขายต่ำกว่าคาด เนื่องจากระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งสินค้าทางเรือกลับสู่ภาวะปกติและราคาปลาทูน่าสูง
ราคาปลาทูน่าท้องแถบ (Spot Price) เพิ่มขึ้นสู่ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ (เพิ่มขึ้น 9%YoY และ 7%MoM) โดยมีสาเหตุมาจากการจับปลาได้ลดลงในสภาพอากาศที่แปรปรวน และอยู่ที่ 1,740 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ใน 1Q66TD (เพิ่มขึ้น 1%YoY, 5%QoQ) TU คาดว่าราคาปลาทูน่าท้องแถบ (Spot Price) จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงในเดือนมีนาคม-มิถุนายน ก่อนที่จะลดลง HoH จากสภาพอากาศที่ดีขึ้นใน 2H66
ส่วนเป้าหมาย Red Lobster TU ยังคงเป้าส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานของ Red Lobster ในปี 2566 ไว้ที่ -600 ล้านบาท (จาก -1.2 พันล้านบาทในปี 2565) โดยได้รับการสนับสนุนจากการนำเสนอเมนูที่เข้าถึงง่ายขึ้น การจัดโปรโมชันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับราคา (ในเดือนสิงหาคม 2565) และต้นทุนวัตถุดิบบางส่วนที่ลดลง เช่น ล็อบสเตอร์
การดำเนินงานของ Red Lobster ใน 1Q66 เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัท งานสำคัญเร่งด่วนในระยะสั้นของ TU คือการพลิกฟื้นธุรกิจให้เป็นไปตามคำมั่นที่ให้ไว้กับเจ้าหนี้ของ Red Lobster ว่าจะสร้าง EBITDA ให้ถึงเป้าที่ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน 1H66 หากไม่เป็นไปตามเป้า TU อาจพิจารณาขาย Red Lobster TU ยังคงเป้ารายได้เงินปันผลจากหุ้นบุริมสิทธิของ Red Lobster ไว้ที่ศูนย์ในปี 2566 (เทียบกับศูนย์ในปี 2565 และ 1.2 พันล้านบาทในปี 2564 คำนวณจาก PV ของมูลค่ายุติธรรมของหุ้นบุริมสิทธิ) สะท้อนถึงอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ
แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:
ด้วยปริมาณการขายที่ฟื้นตัวช้าท่ามกลางต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าที่สูงขึ้นอาจจะกดดันยอดขายและมาร์จิ้นในธุรกิจอาหารทะเลอย่างต่อเนื่องใน 2Q66 ด้วยโครงการริเริ่มใหม่ๆ ท่ามกลางปริมาณลูกค้าที่ชะลอตัวลงสืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอลง การดำเนินงานใน 2Q66 ของ Red Lobster คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น YoY แต่ลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล
หากการดำเนินงานของ Red Lobster ไม่เป็นไปตามเป้าที่เจ้าหนี้วางไว้ TU อาจจะต้องบันทึกเงินค้ำประกันเงินกู้ส่วนหนึ่งจาก 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ตกลงไว้กับเจ้าหนี้ของ Red Lobster เป็นเงินให้กู้ยืมแก่ Red Lobster (โดยอาจมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ถ้ามี ตามความเห็นของผู้สอบบัญชี) ใน 2Q66
อย่างไรก็ตาม InnovestX Research คาดว่ากำไร 2Q66 จะอ่อนตัวลง YoY เพราะผลกระทบจากยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นในธุรกิจอาหารทะเลที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องจะหักล้างธุรกิจ Red Lobster ที่ดีขึ้น แต่จะเพิ่มขึ้น QoQ จากปัจจัยฤดูกาล
ขณะที่ปี 2566 คาดว่ากำไรปกติจะลดลง YoY โดยส่วนแบ่งขาดทุนปกติจาก Red Lobster ที่ลดลงจากฐานต่ำในปี 2565 เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนและเงินเฟ้อสูง จะถูกหักล้างโดยธุรกิจอาหารทะเลที่อ่อนตัวลง พร้อมกับอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงเล็กน้อย ยอดขายที่เพิ่มขึ้นปานกลาง และส่วนแบ่งกำไรจาก ITC ที่ลดลงหลังจาก TU ลดสัดส่วนการถือหุ้น ITC ลงจาก 98% สู่ 77.8% หลังจากทำ IPO ใน 4Q65
และได้ปรับประมาณการกำไรปี 2566 ลดลง 11% เพื่อสะท้อนยอดขายและมาร์จิ้นที่อ่อนแอ โดยกลยุทธ์การลงทุนให้เรตติ้ง Neutral สำหรับ TU ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ที่ปรับใหม่เป็น 16.50 บาทต่อหุ้น อ้างอิง PE 15 เท่า (-1S.D. จาก PE เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี)
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ต้องติดตามคือ แรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการแข็งค่าของเงินบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘กอบศักดิ์’ แนะทยอยซื้อหุ้นเทคสหรัฐฯ เชื่อผลตอบแทนในอีก 1-2 ปีข้างหน้าดีกว่าฝากแบงก์
- เปิดพอร์ตพันล้าน ‘เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ ถือหุ้นอะไรบ้าง
- หุ้นไทย SET ดิ่ง 90 จุด ใน 3 วัน! โบรกชี้ภาวะ Panic Sell พ่วงแรงขายจาก ‘การบังคับขาย’ แต่ 1,520 จุด อาจไม่ใช่จุดขายแล้ว!