×

ttb ห่วงหายนะภาษี 36% กระทบเศรษฐกิจไทย 1.23 ล้านล้านบาท ชี้ ‘ยอมลดภาษีให้สหรัฐฯ’ มีผลกระทบ ‘น้อยกว่า’

17.07.2025
  • LOADING...
ttb ภาษีสหรัฐฯ

วันนี้ (17 กรกฎาคม) ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) โพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม Facebook โดยแสดงความคิดเห็นว่า การโดนภาษี reciprocal tariff ในอัตรา 36% ของสหรัฐฯ จะกระทบไทยรุนแรงแบบลูกโซ่ ทั้งอุตสาหกรรม แรงงาน และการลงทุน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.23 ล้านล้านบาท ขณะที่การลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ สร้างผลกระทบต่อรายได้รัฐเพียงเล็กน้อย แต่ได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมกลับมามากกว่า

 

ขณะที่ การยอมสารภาพ ผ่านการให้ภาษีสหรัฐฯ ในอัตรา 0% และยกเลิกโควตานำเข้า จะสร้างผลกระทบน้อยกว่า และแม้มีผู้เสียผลประโยชน์ แต่โดยรวมแล้ว จะช่วยป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยดำดิ่งไปมากกว่านี้ และจะส่งผลบวกในระยะยาว

 

ปิติยังตั้งข้อสังเกตว่า ไทยอาจกำลังเผชิญภาวะ ‘ความลำบากใจของนักโทษ’ (Prisoner’s Dilemma) เมื่อเพื่อน (เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ชิงสารภาพ (เพื่อให้โดนภาษีที่ต่ำกว่า)

 

ทำไมภาษี 36% จึงเป็นหายนะ กระทบเศรษฐกิจไทย 1.23 ล้านล้านบาท?

 

ปิติระบุอีกว่า อัตราภาษี 36% จะเป็นความหายนะของประเทศไทย โดยอธิบายถึงผลกระทบ ดังนี้

 

ผลกระทบทางตรงที่จะเกิดขึ้นทันที

  • ผลกระทบต่อสินค้าส่งออก (1st Order Impact): หากสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังสหรัฐฯ เช่น อิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องประดับ และยาง ถูกเรียกเก็บภาษี 36% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนาม (20%) และอินโดนีเซีย (19%) ไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากหลายประเทศ
  • ผลกระทบต่อซัพพลายเชนในประเทศ (2nd Order Impact): สินค้าส่งออกเหล่านี้มีซัพพลายเชนในประเทศที่ซับซ้อน เช่น เซมิคอนดักเตอร์, ยาง, และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรงงานและผู้ผลิตชิ้นส่วนจำนวนมาก คาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้ในอุตสาหกรรมรวมกันถึง 497,000 ล้านบาท จากผลกระทบทางอ้อมในซัพพลายเชน
  • ผลกระทบต่อแรงงานและการบริโภค (3rd Order Impact): การประเมินชี้ว่าจะมีแรงงานสูญหายกว่า 1 ล้านคนภายในปี 2028 ส่วนใหญ่ในภาคการผลิต เช่น ยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, และยาง การว่างงานและรายได้ที่ลดลงจะส่งผลให้การบริโภคในประเทศลดลงตามไปด้วย เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคในวงกว้าง

 

ผลกระทบในระยะกลางและระยะยาว

  • สูญเสียความสามารถในการแข่งขันระยะยาว: เนื่องจากประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หากไทยถูกตั้งภาษี 36% ขณะที่คู่แข่งได้รับอัตราที่ดีกว่า ไทยจะตกอันดับในห่วงโซ่การผลิตโลก และอาจถูกมองว่าเป็น ‘ประเทศที่เสี่ยง’ สำหรับการลงทุน
  • การดึงดูด FDI ลดลง: ไทยจะเสียเปรียบมากขึ้นในการแข่งขันดึงดูด FDI โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเวียดนามที่มี FDI เพิ่มสูงกว่าไทยถึง 15 เท่าตั้งแต่ปี 2015 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์, และอาหารแปรรูป ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งของไทย อาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ได้รับสิทธิภาษีที่ดีกว่าจากสหรัฐฯ

 

ทำไมการยอมลดภาษีให้สหรัฐฯ หรือ ‘สารภาพตาม’ จึงเป็นทางออก?

 

ปิติชี้ว่า ผลกระทบจากการ ‘ลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ’ จริงๆ แล้ว ‘มีน้อย’ และอาจเป็นผลดีด้วยซ้ำ โดยอธิบายถึงผลกระทบทางลบที่จำกัด และผลบวกที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

 

ผลกระทบทางลบที่จำกัด

  • หากไทยยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ทั้งหมด จะสูญเสียรายได้จากภาษีเพียง 35,900 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นเพียง 0.2% ของรายได้ภาครัฐ เท่านั้น
  • สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีภาษีนำเข้าต่ำอยู่แล้ว และมีปริมาณการนำเข้าไม่สูงนัก จึงไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

 

ผลบวกที่อาจเกิดขึ้น

  • ลดต้นทุนอาหารสัตว์และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน: การนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ ที่มีราคาถูกกว่าเมียนมาและลาวถึง 14% จะช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ลงถึง 60,000 ล้านบาท ทำให้สินค้าแปรรูปของไทย เช่น ไก่ หมู และอาหารสัตว์เลี้ยง แข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลก นอกจากนี้ยังช่วยลดแรงจูงใจในการปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง ลดปัญหา PM2.5 จากการเผาในภาคเหนือและจากประเทศเพื่อนบ้าน
  • นำเข้ายาและเวชภัณฑ์ราคาถูกลง: การที่สินค้ากลุ่มยาและเครื่องมือแพทย์จากสหรัฐฯ มีราคาถูกลง อาจส่งผลดีต่อสวัสดิการของรัฐและการรักษาโรค โดยไม่กระทบผู้ผลิตในประเทศ เนื่องจากยังผลิตสินค้าคนละกลุ่ม

 

“ขอเป็นกำลังใจให้ทีมเจรจาสามารถก้าวข้ามผลประโยชน์และการสูญเสียเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ในองค์รวมของประเทศชาติ” ปิติกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising