ศรัณย์ ภู่พัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจตลาดเงินและบริการธุรกรรมทางการเงิน ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจนำเข้าและส่งออกมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นอย่างมาก เห็นได้จากตัวเลขสัดส่วนภาคธุรกิจนำเข้าและส่งออกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาเติบโตได้ถึง 127% ท่ามกลางสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ GDP โดยภาพรวมของประเทศไทย จากติดลบ 6% มาเป็นเติบโตได้ 1% ซึ่งถือได้ว่าธุรกิจนำเข้าและส่งออก เป็นธุรกิจที่ช่วยกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจให้กับประเทศ
อย่างไรก็ตาม มองว่าในปีนี้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าส่งออกมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนมากขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อีกทั้งผู้ประกอบการไทยที่มี Natural Hedge ลดลง (การบริหารรายได้และรายจ่ายเป็นเงินสกุลเดียวกัน) รวมถึงการซื้อ-ขายหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ ยังคงเน้นใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ซึ่งเป็นสกุลเงินที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสกุลเงินท้องถิ่น ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น
“เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์ ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยเริ่มหันมาซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น แต่ก็ยังพบความยุ่งยาก เนื่องจากหนึ่งบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) รองรับได้หนึ่งสกุลเงิน ดังนั้นหากผู้ประกอบการทำธุรกิจโดยมีคู่ค้าหลายประเทศบนหลายสกุลเงิน จำเป็นต้องเปิดบัญชี FCD หลายบัญชี” ศรัณย์กล่าว
ศรัณย์กล่าวอีกว่า เพื่อตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว ทีเอ็มบีธนชาต จึงได้พัฒนาดิจิทัลโซลูชันทางการเงิน ttb multi-currency account หรือบัญชีสำหรับบริหารหลายสกุลเงินที่ดีที่สุด เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก เพื่อลดความยุ่งยากในการบริหารจัดการหลายสกุลเงิน โดยบัญชี ttb multi-currency account มีฟีเจอร์การใช้งานที่สำคัญ ได้แก่
- สามารถรองรับการทำธุรกรรมได้มากถึง 11 สกุลเงินหลัก รวมถึงสกุลเงินหยวน
- เข้าถึงบริการได้จากทุกอุปกรณ์ ประสบการณ์เดียวกันทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ได้ทุกที่ทุกเวลา
- สามารถโอนเงินได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงธุรกรรมด้านสินเชื่อ ติดตามอัตราแลกเปลี่ยนได้ตลอดเวลา พร้อมล็อกเรตอัตราแลกเปลี่ยนทันทีที่ต้องการ ค้นหารายการได้ง่ายขึ้น ด้วย Smart Search แค่พิมพ์คีย์เวิร์ด และติดตามสถานะของรายการได้แบบเรียลไทม์
- มีการสรุปรายงานของทุกบัญชี ทุกสกุลเงินได้ภายในหน้าเดียว (11 สกุลเงิน) พร้อมดาวน์โหลดเอกสารได้ง่ายๆ สะดวก ไม่ยุ่งยาก สามารถสรุปทุกวงเงินสินเชื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ ครบถ้วนในหน้าจอเดียว รวมทั้งเรียกดูข้อมูลและบัญชีของบริษัทในเครือได้ด้วย Group Company View
“บัญชี ttb multi-currency account จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าและส่งออกสามารถบริหารจัดการเรื่องสกุลเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในหลายด้าน โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการนี้แล้วประมาณ 400-500 บัญชี และคาดว่าในปี 2565 นี้จะสามารถเพิ่มจำนวนบัญชีได้อีก 400-500 บัญชี” ศรัณย์กล่าว
ด้าน นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) คาดการณ์มูลค่าส่งออกทั้งปี 2565 จะขยายตัวที่ 4.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 2.83 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมประเมินอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปียังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ระดับ 2.5% โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวอยู่ในระดับ 0.5% เพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเด็นเงินเฟ้อและการระบาดของโควิด
สำหรับค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา คาดการณ์กรอบเป้าหมายเงินบาทในปี 2565 ที่ระดับ 33-34.5 บาทต่อดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูงตลอดปีจากกระแสเงินทุนภายในและภายนอกประเทศ
“มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะขึ้นไปแตะระดับ 4% ในช่วงปลายไตรมาสแรก เมื่อดูจากราคาน้ำมันในปัจจุบันที่ขึ้นไปถึง 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว แต่ภาพรวมทั้งปียังมองว่าน่าจะอยู่ที่ 2.5% ส่วนเงินบาทในปีนี้จะมีความผันผวนไปในทิศทางอ่อนค่า โดยมีโอกาสที่เราอาจได้เห็นเงินบาทอ่อนค่าไปถึงระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน” นริศกล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP