หลังผลรางวัลจากเวที The Asset Triple A Treasurise Awards 2024 ที่จัดโดย The Asset นิตยสารการเงินชั้นนำแห่งเอเชีย ประกาศออกมา ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี กลายเป็นองค์กรดาวเด่นของงานในปีนี้ทันที เพราะสามารถคว้าไปถึง 4 รางวัล จากความโดดเด่นในการพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจ ตอกย้ำการเป็นธนาคารพันธมิตรเคียงข้าง SMEs และลูกค้าธุรกิจในทุกสถานการณ์อย่างแท้จริง
โดยรางวัล Best in Treasury and Working Capital-SMEs in Thailand สะท้อนถึงการให้บริการที่ครอบคลุม ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะ SMEs ผ่านโซลูชันทางการเงินที่ช่วยลูกค้าบริหารสภาพคล่องและการรับจ่าย ทั้งในด้าน Cash Management และ Trade Finance ที่ครบวงจร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ
รวมไปถึงการคว้ารางวัล Best Payments and Collections Solution in Thailand ใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ Aviation and Logistics Industry, Consumer Goods and Retail Industry และ E-Commerce, Media, Technology Industry จากการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการด้าน Cash Management ยิ่งทำให้ภาพของธนาคารที่ขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ปรัชญา ‘Make REAL Change เปลี่ยน… เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น’ ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนเพื่อให้ลูกค้าสามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้ในทุกสถานการณ์ ก้าวผ่านความท้าทายต่างๆ จนประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
กนกพร จูฑา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต บอกกับ THE STANDARD ว่า “รางวัลที่ได้รับไม่เพียงสะท้อนให้เห็นว่าโซลูชันที่เราพัฒนาสร้างอิมแพ็กต์ให้กับอุตสาหกรรมของลูกค้าได้จริง แต่ยังสะท้อนความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อเรา โดยการได้มาซึ่งโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรม กุญแจสำคัญคือ ‘การทำความเข้าใจลูกค้าในเชิงลึก’
กนกพรฉายภาพเบื้องหลังการทำงานของทีมบริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผลิตภัณฑ์สินเชื่อและ Cash Management ให้กับลูกค้าธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็ก องค์กรขนาดใหญ่ หน่วยงานราชการ องค์กรการกุศล ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม
“เนื่องจากความต้องการและปัญหาของแต่ละธุรกิจ แต่ละอุตสาหกรรมต่างกัน ทีม Sales Specialist จึงต้องมีความเชี่ยวชาญและความรู้ที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อที่จะแนะนำลูกค้าได้ว่าโซลูชันไหนของธนาคารที่จะตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างตรงจุด
“การทำงานแบบ Agile เป็นสิ่งสำคัญ ทีม Product จะเป็นแกนหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำงานร่วมกับทีม Process ที่เน้นเรื่อง Customer Experience ทำอย่างไรให้ลูกค้าใช้งานง่าย สะดวก หมายความว่าเราต้องการไอเดียและมุมมองรอบด้านจากทุกทีมที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่อินไซต์ที่ได้จากทีม Sales หรือแม้แต่ทีมวางกลยุทธ์ที่แสดงมุมมองต่อภาพรวมอุตสาหกรรมอาจมีประโยชน์ต่อการพัฒนาโซลูชันที่ยั่งยืน”
แต่ใช่ว่าจะปล่อยผลิตภัณฑ์ให้ถึงมือลูกค้าง่ายๆ ทุกโซลูชันต้องผ่านการทำ Pilot Test กับลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ก่อน เพื่อนำฟีดแบ็กมาปรับปรุงและพัฒนาจนมั่นใจว่าตอบโจทย์ ตรงจุด แก้ปัญหาได้จริง และใช้งานได้อย่างราบรื่น ไร้รอยต่อ
“เราไม่อยากให้ลูกค้าใช้งานแล้วไม่ประทับใจตั้งแต่ครั้งแรก เพราะมันยากที่จะเรียกคืนความเชื่อใจนั้นกลับมา”
กระบวนการการทำงานทั้งหมดที่เล่ามา ขั้นตอนที่ท้าทายที่สุดคือการหาอินไซต์ที่ซ่อนเร้นให้เจอ
“บ่อยครั้งที่ลูกค้าเดินมาหาเราด้วยปัญหาหนึ่ง แต่พอคุยลงลึกไปเรื่อยๆ เจอปัญหาซ่อนเร้นที่บางครั้งลูกค้าเองอาจจะมองไม่เห็น พบบ่อยให้กลุ่มลูกค้า SMEs ที่เขาต้องโฟกัสไปที่การทำธุรกิจจนไม่มีเวลามาค้นหาว่ายังมีจุดไหนที่สามารถนำโซลูชันมาช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าได้”
กนกพรฉายภาพกระบวนการทำงานเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการด้าน Cash Management ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าใน 3 อุตสาหกรรมที่เพิ่งคว้ารางวัล
เริ่มที่อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics Industry) กลุ่มอุตสาหกรรมที่การบริหารจัดการค่าน้ำมันถือเป็นโจทย์ใหญ่ ทีทีบีเป็นผู้นำตลาดในการพัฒนาโซลูชันบริหารจัดการค่าใช้จ่ายน้ำมัน ttb fleet solutions ที่เข้ามาช่วยให้ธุรกิจสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายน้ำมันได้สะดวก คล่องตัว และบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ
“การทำความเข้าใจลูกค้าเพื่อออกแบบโซลูชันเราไม่ได้มองแค่ตัวองค์กรที่เป็นลูกค้า แต่มองทุกฟันเฟืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องใน Ecosystem เริ่มตั้งแต่ Fleet Manager ที่ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายและบริหารต้นทุน สิ่งที่เราพัฒนาคือออนไลน์แพลตฟอร์มที่มีฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ ให้สามารถบริหารจัดการบัตรและควบคุมค่าใช้จ่ายได้ด้วยตัวเอง ลดการใช้เงินสด ขจัดความยุ่งยากในกระบวนการเบิกจ่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่าย สามารถกำหนดวงเงินและเงื่อนไขการใช้ในแต่ละบัตร ทั้งในส่วนของจำนวนวงเงิน จำนวนลิตร ประเภทน้ำมัน และสถานีให้บริการ รวมถึงสามารถออกบัตรใหม่และบล็อกบัตรได้แบบเรียลไทม์ ไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มส่งธนาคารเพื่อรอดำเนินการ และฟีเจอร์ล่าสุดที่ช่วยลดการทุจริตด้วยเครื่องมือตรวจจับรายการต้องสงสัย
“Data ทั้งหมดเราทำเป็นรายงานส่งให้กับ Fleet Manager สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์เพื่อบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีรายงานภาษีเพื่อให้บริษัทนำไปดำเนินงานต่อได้”
ในส่วนของพนักงานขับรถซึ่งเป็นคนที่ต้องใช้บัตรเครดิตน้ำมัน ทีทีบีพัฒนาระบบที่สามารถเช็กยอดเงินคงเหลือในบัตรแบบเรียลไทม์ “การที่เราเข้าใจความต้องการของคนทั้ง 3 กลุ่ม ทำให้เราสามารถออกแบบ ttb fleet card ที่ตอบโจทย์และเอื้อประโยชน์ให้กับทั้งลูกค้าธุรกิจ พนักงานขับรถ รวมไปถึงสถานีบริการน้ำมัน สะท้อนความเป็นผู้นำตลาด Fleet Solutions จากการที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่ของประเทศไทยใช้โซลูชันของเราทั้งหมด”
ด้านอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจค้าปลีก (Consumer Goods and Retail Industry) กนกพรยกตัวอย่างการออกแบบโซลูชันให้กับ SMEs ที่มาพร้อมฟีเจอร์ที่ช่วยให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างราบรื่น
“เวลาพูดถึง SMEs ที่เปลี่ยนวิธีการรับเงินผ่าน QR Code สิ่งที่เรามองไม่ใช้การสร้าง QR Code รับเงิน แต่เป็นเรื่องของการบริหารร้านค้า การนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อลดต้นทุน วางแผนกลยุทธ์ ต่อยอดธุรกิจ ไปจนถึงป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดต่างๆ ด้านการเงิน”
เป็นที่มาของการพัฒนาโซลูชันบริหารจัดการร้านค้า ttb smart shop แอปพลิเคชันจัดการร้านค้าที่มีความแตกต่าง เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจระดับนิติบุคคล มาพร้อมความโดดเด่นที่ตอบโจทย์การบริหารจัดการธุรกิจร้านค้าได้อย่างมืออาชีพ ช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจด้วยการได้รับเงินเข้าบัญชีทันที รองรับธุรกิจที่มีหลายจุดรับชำระและหลายสาขา ทำให้การตรวจสอบและกระทบยอดการรับเงินทำได้ง่าย มี Dashboard และรายงานที่มีข้อมูลครบรอบด้าน ให้ความคล่องตัวเพราะร้านค้าสามารถกำหนดและตั้งค่าสิทธิของพนักงานได้เองอย่างไม่จำกัด
“ฟีเจอร์ล่าสุดที่เราเพิ่งเปิดตัวคือ ttb smart shop analytic report รายงานวิเคราะห์ข้อมูลการขายและลูกค้าเชิงลึกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยให้เข้าใจลูกค้าและกำหนดกลยุทธ์การตลาดได้อย่างเหมาะสม ช่วยเสริมศักยภาพให้ SMEs นำไปต่อยอดในการเพิ่มประสิทธิภาพและวางแผนกลยุทธ์การขายได้อย่างเฉียบคมยิ่งขึ้น”
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ มีเดีย และเทคโนโลยี (E-Commerce, Media, Technology Industry) กนกพรเลือกฉายภาพธุรกิจ E-Commerce โดยเล่าว่ากุญแจสำคัญของธุรกิจแพลตฟอร์ม E-Commerce นอกจากมีสินค้าที่ตอบโจทย์หลากหลายแล้ว ยังต้องสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยให้กับผู้บริโภคด้วย อย่างเช่น การมีทางเลือกการชำระเงินที่หลากหลาย มีทางเลือกให้กับผู้ซื้อจ่ายชำระค่าสินค้าทันที หรือจ่ายหลังรับสินค้า (Cash on Delivery)
“ยกตัวอย่างการทำงานกับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ทางทีมจะศึกษาและทำการบ้านเชิงลึก เพื่อหาอินไซต์ที่มากไปกว่าฉากหน้าที่เห็น ทำเวิร์กช็อปเชิงลึกกับแพลตฟอร์ม เพื่อร่วมกันออกแบบ Journey และนำเอาโซลูชันของทีทีบีเข้าไปสนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายให้กระบวนการสะดวกขึ้น ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น สำหรับลูกค้า ทั้งผู้บริโภค พนักงานส่งสินค้า และแพลตฟอร์ม”
นอกจากอุตสาหกรรมข้างต้นที่กนกพรเล่ามา ยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่ทีทีบีวางแผนที่จะเข้าไปศึกษาเพื่อหาช่องว่างในการพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจ
“เกณฑ์ในการมองหาอุตสาหกรรมของเราคือต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตและเราสามารถเข้าไปเพิ่มมูลค่าได้ ไม่ก็เป็นอุตสาหกรรมที่ยังมีความต้องการและปัญหาที่ตลาดยังตอบโจทย์ได้ไม่ดี หรืออุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดความต้องการและปัญหาใหม่ๆ หนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจสำหรับเราตอนนี้คือ Consumer Goods และ Food and Beverage เพราะเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง เราเชื่อในการทำให้ Supply Chain แข็งแรงทั้งระบบโดยต้องหาจุดที่โซลูชันของทีทีบีจะสามารถเข้าไปยกระดับและแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้”
กนกพรย้ำว่า ความสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรมผ่านรางวัลที่ได้รับหรือแม้แต่ฟีดแบ็กจากลูกค้าธุรกิจ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดทีมงานที่มีแนวทางการทำงานภายใต้วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งของทีทีบี
“ความสำเร็จในวันนี้เกิดขึ้นได้เพราะทีมเรามีสารตั้งต้นที่ดีที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรม I CARE’ ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานกับลูกค้า คู่ค้า และเพื่อนพนักงาน ที่ทุกคนในองค์กรทีทีบียึดถือร่วมกัน
“I CARE ประกอบไปด้วย I-Integrity ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ เป็นมืออาชีพ เพื่อสร้างความเชื่อใจให้กับทั้งลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน C-Challenge Status Quo กล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง และท้าทายสิ่งที่เป็นอยู่ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ A-Agility มองไปข้างหน้า ปรับตัวและเรียนรู้ เพื่อก้าวนำความเปลี่ยนแปลง R-Respect เคารพความแตกต่าง รับฟังทุกความเห็น ร่วมมือกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า สุดท้ายคือ E-Execution วางแผนอย่างเข้าใจ ให้ความสำคัญในรายละเอียด เพื่อส่งมอบผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
“ส่วนตัวเชื่อในเรื่อง Execution มาก เพราะไอเดียธุรกิจอาจจะลอกกันได้ แต่การลงมือทำให้เกิดขึ้นจริงภายใต้บริบทที่แตกต่างกันในแต่ละองค์กร คือสิ่งที่ชี้วัดว่าองค์กรไหนจะประสบความสำเร็จ”