×

ศูนย์วิเคราะห์ทีทีบี ห่วงคลัสเตอร์แรงงานต่างด้าวฉุดเศรษฐกิจไทยหนักกว่าเดิม แนะนายจ้างเร่งขึ้นทะเบียน-ฉีดวัคซีน ภาครัฐออกมาตรการดูแลจริงจัง

02.07.2021
  • LOADING...
ศูนย์วิเคราะห์ทีทีบี

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านอาจเป็นแรงฉุดให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวมากกว่าเดิมได้ หากยังไม่มีการยับยั้งหรือมีมาตรการควบคุมอย่างจริงจัง โดยเสนอแนะให้นายจ้างเร่งนำแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายและเร่งฉีดวัคซีน ขณะที่ภาครัฐต้องช่วยอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 

 

ผลการศึกษาโครงสร้างการจ้างงานของประเทศไทย (ณ เดือนพฤษภาคม 2564) ของ ttb analytics พบว่า แรงงานในประเทศไทยในปัจจุบันมีจำนวน 40 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานไทยจำนวน 37.7 ล้านคน และแรงงานต่างด้าว 2.3 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน (เมียนมา กัมพูชา และลาว) 2.1 ล้านคน หรือคิดเป็น 91% ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 

 

เมื่อพิจารณาการจ้างงานแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านในไทย พบว่าภาคธุรกิจที่จ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านสูงสุดคือภาคก่อสร้างและการผลิต มีสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน 15% และ 10% ตามลำดับ โดยคิดเป็น 28% ของ GDP ในขณะที่ภาคการค้าและบริการมีสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน 5% และ 3% ตามลำดับ

 

และเมื่อพิจารณาการจ้างงานแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน ด้วยพื้นที่ที่มีการระบาดตามประกาศของ ศบค. ล่าสุด พบว่าพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (10 จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (4.57 แสนคน) สมุทรสาคร (2.18 แสนคน) สมุทรปราการ (1.24 แสนคน) ปทุมธานี (1.11 แสนคน) นนทบุรี (0.85 แสนคน) นครปฐม (0.78 แสนคน) สงขลา (0.4 แสนคน) ปัตตานี (0.07 แสนคน) ยะลา (0.02 แสนคน) และนราธิวาส (0.01 แสนคน)) มีสัดส่วนแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน 9.3% ของแรงงานรวม หรือจำนวน 1.12 ล้านคน เทียบกับพื้นที่อื่นๆ ที่มีสัดส่วนอยู่เพียง 5.7% หรือ 0.96 ล้านคนเท่านั้น สะท้อนว่าแรงงานเหล่านี้ทำงานในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและยังอยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อลักษณะกลุ่มคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดมากขึ้นจะทำให้ภาคธุรกิจดังกล่าวอาจหยุดชะงักลงได้

 

ผลการศึกษาของ ttb analytics ระบุอีกว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกสาม นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 28 มิถุนายน 2564 พบว่าการติดเชื้อในประเทศสะสมรวมกว่า 2.2 แสนคน โดยจำนวนการติดเชื้อดังกล่าว เมื่อแยกเฉพาะแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน พบว่ามีการติดเชื้อสะสมกว่า 3.6 หมื่นคน หรือคิดเป็น 16% ของจำนวนผู้ติดเชื้อในไทย

 

เมื่อพิจารณาแหล่งเกิดคลัสเตอร์การติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน พบว่าส่วนใหญ่กว่า 36% ติดเชื้อจากสถานที่ทำงาน และ 25% จากพื้นที่เสี่ยง เช่น ตลาด ชุมชนแรงงานต่างด้าวที่แออัด โดยตัวเลขการติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่การระบาดระลอกสามช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นมา 

 

โดยเมื่อเจาะลึกเชิงพื้นที่ของการติดเชื้อ พบว่าจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ เพชรบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร มียอดการติดเชื้อสะสมคิดเป็น 72% ของการติดเชื้อแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน ซึ่งการติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม แคมป์คนงานก่อสร้าง และในตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ที่มีแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านทำงานอยู่จำนวนมาก

 

ขณะที่พื้นที่ที่มีการติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านสูงจะอยู่ในจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และเมื่อเทียบสัดส่วนการติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านต่อการติดเชื้อรวมในพื้นที่นั้นๆ พบว่าพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านติดเชื้อมาก ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี และนนทบุรี ซึ่งมีสัดส่วนการติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวต่อผู้ติดเชื้อในพื้นที่รวม เท่ากับ 60%, 41%, 37%, 27%, 17% และ 12% ตามลำดับ 

 

ทั้งนี้ หากไม่เร่งยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านในพื้นที่ดังกล่าว จะนำไปสู่การระบาดวงกว้างต่อแรงงานที่เหลือ รวมถึงในพื้นที่ชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าวได้

 

ttb analytics เสนอแนะว่า การจัดการปัญหาการระบาดของโรคโควิดในหมู่แรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน เนื่องจากแรงงานเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการผลิตและก่อสร้าง หากไม่บริหารจัดการยับยั้ง จะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังแรงงานกลุ่มอื่นๆ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานได้ นอกจากนี้ สายการผลิตในโรงงานและการก่อสร้างจะหยุดชะงัก ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่ตามมาได้

 

ในส่วนของผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวในกิจการ หากแรงงานต่างด้าวทำงานมานาน แต่ยังไม่ถูกกฎหมาย ควรเร่งนำแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นขึ้นทะเบียน เพื่อให้ภาครัฐสามารถจัดสรรวัคซีนได้ และเมื่อแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนแล้ว ให้เร่งฉีดวัคซีน โดยพิจารณาขอจัดสรรจากรัฐหรือจัดหาเอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อจนก่อให้เกิดคลัสเตอร์ในสถานประกอบการ รวมถึงจัดสถานที่ทำงานและที่พักของแรงงานไม่ให้แออัดมากเกินไป

 

ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจน สามารถควบคุมและพิจารณาจัดสรรวัคซีนได้อย่างถูกต้อง 

 

นอกจากนี้ ภาครัฐควรจัดการขบวนการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าประเทศอย่างเด็ดขาด เนื่องจากอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่นำเชื้อโรคเข้ามาแพร่กระจายในหมู่แรงงานต่างด้าวด้วยกัน รวมถึงพิจารณาแนวทางการควบคุมการระบาดในแรงงานต่างด้าว ได้แก่ 

 

  1. คัดกรองแรงงานแข็งแรงที่มีความจำเป็นในงานสำคัญออกจากที่พักไปอยู่สถานที่ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าได้ 

 

  1. วางแนวทางมาตรฐานการเคลื่อนย้ายแรงงานจากที่พักอาศัยเดินทางไปปฏิบัติงานในโรงงานหรือแคมป์ก่อสร้าง โดยควบคุมไม่ให้ปะปนกับประชาชนทั่วไป 

 

  1. พิจารณาจัดสรรฉีดวัคซีนให้แรงงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีโอกาสติดเชื้อสูง 

 

และ 4. ตรวจหาเชื้อซ้ำในสถานประกอบการและชุมชนที่แรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นประจำ เป็นต้น

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X