ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบของต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นต่อภาคธุรกิจไทย โดยพบว่าราคาวัตถุดิบ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เหล็ก สินค้าเกษตร วัตถุดิบอุตสาหกรรมและวัตถุดิบอาหาร ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลให้ธุรกิจไทยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นแล้วโดยเฉลี่ย 5.7%
โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคือ ผู้ผลิตพลังงานที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 25.8% รองลงมาเป็นกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 15.2% ตามมาด้วยกลุ่มประมง 13.2% ผู้ผลิตไฟฟ้า 11.2% เหมืองแร่ หิน ทราย 7.8% และเคมีภัณฑ์ 7.6%
นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ระบุว่า หากเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดจะพบว่าราคาน้ำมันในปัจจุบันได้ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 1.65 เท่า ส่วนเหล็กปรับขึ้นราว 1.2 เท่า สินค้าเกษตรซึ่งรวมถึงปุ๋ยปรับขึ้นมาแล้ว 1.1 เท่า ขณะที่วัตถุดิบอุตสาหกรรมและวัตถุดิบอาหารปรับขึ้นมาราว 1 เท่าตัว
“ปีที่แล้วต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 40% และคาดว่าในปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 33% ส่วนเหล็กปรับขึ้น 11.3% ในปีก่อน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 5.4% ในปีนี้ ขณะที่ต้นทุนตัวอื่นก็คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 5-8% ในปีนี้” นริศกล่าว
นริศระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเปราะบางทำให้การส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคของผู้ประกอบการยังทำได้ไม่มาก ซึ่งสะท้อนจากดัชนี PPI ที่สูงกว่า CPI ถึง 1 เท่าตัว ซึ่งหากต้นทุนวัตถุดิบยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อไปในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่เอื้อให้ส่งผ่านต้นทุน ภาคธุรกิจก็จะยิ่งเผชิญแรงกดดันให้ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น
“บริษัทขนาดใหญ่อาจจะยังพอส่งผ่านต้นทุนได้ เพราะกำหนดราคาได้มากกว่า แต่กลุ่มที่น่ากังวลคือ SMEs หรือพวกที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าควบคุม เพราะในระยะยาวจะมีความเสี่ยงที่ EBITDA และกระแสเงินสดจะติดลบ ซึ่งหากเอาปัจจัยเรื่องการขึ้นค่าแรงที่กำลังจะมาถึงมารวมกับเรื่องต้นทุนวัตถุดิบด้วย กลุ่มนี้ก็จะยิ่งถูกกระทบหนักและอยู่ได้ยากขึ้น” นริศกล่าว
อย่างไรก็ดี นริศประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจะส่งผลให้แรงกดดันจากเงินเฟ้อลดลงตามไปด้วย โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะเริ่มกลับสู่ระดับ 2-3% ได้ในปีหน้า ซึ่งหมายความว่าต้นทุนวัตถุดิบของภาคธุรกิจจะยังคงอยู่ในระดับสูงไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย
“ในช่วงนี้ธุรกิจคงต้องเก็บคองอเข่า รายจ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นต้องตัด สินทรัพย์อะไรที่ลดได้คงต้องลด ลดงบดุลและหนี้สิน ประคองให้กระแสเงินสดยังเป็นบวกไปก่อน” นริศกล่าว