×

‘ttb analytics’ เร่งรัฐฉีดวัคซีนโควิด-19 เชิงรุก ลดความเสียหายเศรษฐกิจ 5.7 หมื่นล้านบาท

12.05.2021
  • LOADING...
ttb analytics

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics ระบุว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในไทยที่ยังมีความเสี่ยงจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 1.2 ล้านคน หรือ 1.8% ของประชากร โดยมองว่ารัฐควรเร่งการกระจายวัคซีนเชิงรุก เพื่อลดยอดผู้ติดเชื้อลงและฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ  

 

ทั้งนี้การฉีดวัคซีนเชิงรุกให้ประชากรที่เหมาะสมตามกลุ่มเสี่ยงผ่านการดูข้อมูลการเคลื่อนไหว (Mobility) จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม 

 

  1. กลุ่ม High Mobility จำนวน 20.2 ล้านคน ประกอบไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์ พนักงานขาย พนักงานขนส่ง พนักงานบริการ และพนักงานโรงงาน จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อสูง เนื่องจากมีความจำเป็นต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก และเป็นกลุ่มที่มีส่วนในกิจกรรมเศรษฐกิจ ซึ่งหลักๆ เป็นภาคการค้าและบริการคิดเป็นสัดส่วนกว่า 62% ของ GDP 

 

  1. กลุ่ม Medium Mobility จำนวน 6.9 ล้านคน เป็นกลุ่มของพนักงานออฟฟิศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทให้พนักงานส่วนหนึ่งทำงานที่บ้าน (Work from Home) สามารถลดความหนาแน่นในที่ทำงานได้ จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้กว่าน้อยกลุ่มแรก 

 

  1. กลุ่ม Low Mobility จำนวน 39.3 ล้านคน ได้แก่ ผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปี) เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมถึงแรงงานในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระและเกษตรกร จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อค่อนข้างต่ำ

 

โดย ttb analytics แนะนำฉีดวัคซีนเชิงรุก ‘กลุ่ม High Mobility ควบคู่ไปกับกลุ่มเสี่ยงสูงและผู้สูงอายุ’ ส่งผลให้ปลดล็อกเศรษฐกิจเร็วขึ้น  

 

ภายใต้กรอบแผนการกระจายฉีดวัคซีน 300,000 โดสต่อวัน ผลของการวิเคราะห์ที่ประยุกต์แบบจำลองทางระบาดวิทยา (SIR) แสดงให้เห็นว่าการกระจายวัคซีนสามารถทำให้ยอดผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป 

 

ทั้งนี้แนวทางเลือกฉีดวัคซีนในแต่ละกลุ่ม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เช่น หากใช้แนวทางการฉีดให้กลุ่ม Low Mobility ก่อน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวในเดือนธันวาคม 2564 และจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาคการค้าและบริการราว 8.96 หมื่นล้านบาท 

 

ขณะที่หากใช้แนวทางฉีดเชิงรุกตาม Targeted Approach คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเริ่มฟื้นตัวเร็วขึ้นราวเดือนตุลาคม 2564 และความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาคการค้าและบริการจะลดลงมาอยู่ที่ 6.46 หมื่นล้านบาท 

 

อย่างไรก็ตาม หากเร่งปริมาณการฉีดวัคซีนโดยเพิ่มจาก 3 แสนโดสต่อวันเป็น 5 แสนโดสต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการฉีดวัคซีนของภาครัฐ ล่าสุดกำหนดเป้าหมายอยู่ที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน จะทำให้แนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อลดลงในอัตราเร่ง และเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ โดยยอดผู้ติดเชื้อ ณ เดือนธันวาคม อยู่ที่ต่ำกว่า 100 คนต่อวัน ซึ่งส่งผลให้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาคการค้าและบริการอยู่ที่ 5.63 หมื่นล้านบาท 

 

หากเทียบกับกรณีการเร่งฉีดวัคซีนเร็วขึ้น 5 แสนโดสต่อวัน ในกลุ่มเชิงรุกกับการฉีดตามแผน 3 แสนโดสต่อวัน ในกลุ่ม Low Mobility พบว่าจะช่วยลดความสูญเสียได้เพิ่มขึ้นถึง 5.7 หมื่นล้านบาท และเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564 ดังนั้นแนวทางการฉีดเชิงรุก (Targeted Approach) พร้อมทั้งเร่งสปีดการฉีด 5 แสนโดสต่อวัน จะส่งผลทำให้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจลดลง และช่วยเร่งระยะเวลาการฟื้นตัวได้เร็วขึ้น 

 

ทั้งนี้การวิเคราะห์ข้างต้นอยู่บนสมมติฐานว่ามีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 อันเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ภายหลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศปรับตัวลดลง 

 

โดยการฉีดวัคซีนจะดำเนินไปตามแผนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการวางแผนให้ครอบคลุมทั้งบุคลากรทางแพทย์ที่อยู่ในกลุ่ม High Mobility และผู้สูงอายุที่อยู่ในกลุ่ม Low Mobility รวมถึงผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่กระจายอยู่ทั้ง 3 กลุ่มแล้ว ในช่วงเดือนมิถุนายนและในเดือนกรกฎาคม การฉีดวัคซีนจะเริ่มกระจายสู่ประชากรทั่วประเทศ โดยผลของการฉีดวัคซีนจะเริ่มเห็นผลต่อการควบคุมการระบาดได้ในเดือนสิงหาคม   

 

อย่างไรก็ตาม การเร่งฉีดวัคซีนจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเร็วขึ้น โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนกับ Mobility โดยประเทศที่มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนต่อประชากรยิ่งมาก Mobility จะยิ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนฉีดวัคซีน เช่น อิสราเอล สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา  

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X