×

อ่านใจขุนศึกเศรษฐกิจของทรัมป์

14.04.2025
  • LOADING...
เศรษฐกิจ ทรัมป์

ตอนนี้สหรัฐฯ ไม่ได้บริหารประเทศด้วยนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เราจึงไม่สามารถเข้าใจแนวคิดหรือนโยบายของทรัมป์ด้วยเศรษฐศาสตร์กระแสหลักได้เลย

 

ทีมเศรษฐกิจของทรัมป์ ซึ่งตอนนี้ออกทีวีทุกวันเพื่ออธิบายและยืนหยัดแนวคิดนโยบายการขึ้นกำแพงภาษีของทรัมป์ ล้วนไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ตามแบบแผนปกติ ขณะเดียวกัน ทีมเศรษฐกิจของทรัมป์เองก็ประกอบด้วยความเห็นที่หลากหลาย แรงมากแรงน้อยต่างกันไป

 

ที่แรงสุดเห็นจะเป็นที่ปรึกษาของทรัมป์คือ ปีเตอร์ นาวาร์โร ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Death by China อันโด่งดัง ซึ่งยืนหยัดแนวคิดว่าการค้ากับจีนทำให้งานในโรงงานของสหรัฐฯ เหือดแห้งหายไป ดังนั้นจึงต้องใช้นโยบายการขึ้นกำแพงภาษีต่อจีนและต่อประเทศอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วย

 

คนนี้แรงขนาดที่ล่าสุดออกมาบอกว่าถึงเวียดนามลดภาษีลงเป็น 0% ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะ ‘การโกงที่ไม่ใช่ภาษี’ ต่างหากที่สำคัญกว่า เช่น สินค้าจีนที่ถูกส่งผ่านเวียดนาม การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น ปัญหาใหญ่ตามแนวคิดของนาวาร์โรคือการที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับเวียดนาม ดังนั้นต่อให้เวียดนามลดภาษีลงเป็น 0% ก็ไม่ได้ลดการขาดดุลการค้าลงได้อยู่ดี

 

แรงตามมาก็คือ โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์ อดีตประธานและซีอีโอบริษัทแคนเตอร์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ซึ่งดำเนินธุรกิจบริการทางการเงิน คนนี้ก็เป็นเจ้าของแนวคิดหาเงินแบบแปลกพิสดารนั่นคือการขาย Trump Gold Card ราคาใบละ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแลกกับสิทธิในการเป็นผู้ถือกรีนการ์ดสหรัฐฯ และโอกาสก้าวสู่การเป็นพลเมืองอเมริกันในอนาคต

 

เขาตั้งเป้าขาย Trump Gold Card ให้ได้ 1 ล้านใบให้กับมหาเศรษฐีทั่วโลก แค่นโยบายนี้ข้อเดียวก็จะหาเงินเข้ากระเป๋ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หาเงินกันง่ายๆ อย่างนี้ละครับ

 

ลุตนิกเป็นอีกคนที่สนับสนุนนโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์อย่างสุดตัว โดยมองว่าเป้าหมายสำคัญที่สุดคือการรื้อฟื้นโรงงานให้กลับมาผลิตในสหรัฐฯ โดยเขาบอกจะเป็นโรงงาน Automation ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน ซึ่งสุดท้ายจะทำให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตได้อีกครั้ง

 

ล่าสุดลุตนิกยืนยันว่าการยกเว้นกำแพงภาษีต่อสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะเป็นการยกเว้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และเขายังนั่งยันนอนยันว่าในท้ายที่สุด สิ่งที่ต้องการคือ iPhone จะต้องกลับมาผลิตในสหรัฐฯ ให้จงได้

 

ภายใต้รัฐบาลของทรัมป์ได้ให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแลสำนักผู้แทนทางการค้า ซึ่งผู้แทนการค้าคนปัจจุบันของสหรัฐฯ คือ เจมิสัน เกรียร์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าในสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1 และผู้เขียนหนังสือ No Trade is Free ซึ่งไลท์ไฮเซอร์เองก็ย้ำแนวคิดการตั้งกำแพงภาษีเพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันการรื้อฟื้นอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศสหรัฐฯ ให้ได้อีกครั้งเช่นกัน

 

ทั้งนาวาร์โร ลุตนิก และไลท์ไฮเซอร์ ต่างมองการตั้งกำแพงภาษีว่าเป็นนโยบายเพื่อเปลี่ยนระบบการค้าโลก ลดการพึ่งพาจีนและภายนอก รวมทั้งรื้อฟื้นอุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐฯ แต่ในทีมงานของทรัมป์ก็ยังมีสายเศรษฐกิจที่ลดความร้อนแรงลงมาหน่อยอย่างเช่น สกอต เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และ สตีเฟน มิแรน ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ

 

สกอต เบสเซนต์ เป็นนักลงทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มีประสบการณ์ยาวนาน เป็นที่ยอมรับนับถือในวงการ เคยบริหารกองทุนให้ จอร์จ โซรอส มาก่อน ที่น่าสนใจคือตอนที่ทรัมป์ประกาศว่าเลือก สกอต เบสเซนต์ มาเป็นรัฐมนตรีคลังนั้น ทรัมป์บอกว่าเขาเป็นนักคิดในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และเบสเซนต์เองก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่มหาวิทยาลัยเยลล์

 

เวลาที่เบสเซนต์ให้สัมภาษณ์จึงมักอธิบายถึงภาพการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์กับจีนอยู่ในฉากหลังของการคิดทุกนโยบายเศรษฐกิจ เขาเคยประกาศแผน 3-3-3 ที่มีเป้าหมายคือเพิ่มการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ 3% ลดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือ 3% ของ GDP และเพิ่มการผลิตพลังงานโดยการขุดน้ำมัน 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเขาเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดอัตราเงินเฟ้อลง

 

เบสเซนต์มองว่านโยบายการขึ้นกำแพงภาษีเป็นกลยุทธ์ในการบีบคู่ค้าให้มาเจรจากับสหรัฐฯ เป็นสำคัญ สุดท้ายอาจไม่ต้องทำจริงหรือทำให้น้อยกว่าที่ประกาศ และมีข่าวว่าเบสเซนต์นี่แหละที่เป็นคนกล่อมทรัมป์ให้ยกเว้นภาษีกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ออกจากกำแพงภาษีสูงลิ่วของทรัมป์

 

ส่วนคนสุดท้ายคือ สตีเฟน มิแรน ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทรัมป์ เคยเป็นนักยุทธศาสตร์อาวุโสที่บริษัทจัดการการลงทุนฮัดสันเบย์ และมีชื่อเสียงจากการเขียนบทความยาวชื่อ A User’s Guide to Restructuring the Global Trading System เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024

 

ตอนนี้หลายคนเรียกแนวคิดของเขาว่าเป็นข้อตกลง Mar-a-Lago Accord (Mar-a-Lago เป็นชื่อรีสอร์ตที่ฟลอริดาที่ทรัมป์อาศัยอยู่ ในเวลาที่ไม่ได้พำนักที่ทำเนียบขาว) โดยในบทความขนาดยาวของเขาต้องการให้ใช้การขึ้นกำแพงภาษีเป็นตัวกดดันคู่ค้าของสหรัฐฯ ให้มาเจรจาและยอมรับเงื่อนไขของสหรัฐฯ เช่น โดดเดี่ยวจีน ลดอัตราภาษีศุลการกร ปรับค่าเงิน ไปจนถึงการซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 100 ปี โดยไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย ทั้งหมดนี้จะช่วยกดเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลง และลดภาระหนี้ของสหรัฐฯ ลงอย่างมหาศาล

 

Mar-a-Lago Accord หากเกิดขึ้น จะมีความสำคัญในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเทียบเท่ากับข้อตกลง Bretton Woods ซึ่งกำหนดมาตรฐานทองคำ, Nixon Shock ซึ่งกำหนดมาตรฐานดอลลาร์สหรัฐ และ Plaza Accord ที่สหรัฐฯ กดดันญี่ปุ่นให้ปรับค่าเงินเลยทีเดียว

 

หากพิจารณาจากทีมงานของทรัมป์แล้ว ไม่ว่าสายแข็งสายอ่อนล้วนเห็นด้วยกับนโยบายการขึ้นกำแพงภาษี เพียงแต่สายอ่อนหน่อยอาจมองว่าให้เน้นใช้เป็นกลยุทธ์ในการเจรจาและทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนสายแข็งนั้นมองว่าต้องทำแรงและทำจริงเพื่อให้เกิดผลของการย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ ให้ได้ ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่าต้องเริ่มแรงเพื่อกดดันคู่ค้าและเรียกความสนใจจากทั่วโลกว่าเอาจริง

 

ที่สำคัญคือแนวคิดของทีมเศรษฐกิจทรัมป์ทั้งหมดไม่ใช่แนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก และคนเหล่านี้ไม่ใช่เทคโนเครตหรือนักวิชาการ แต่เป็นคนคิดแบบนักธุรกิจ นักกลยุทธ์ นักลงทุน เสียมากกว่า

 

ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้คือเขาจะเล่นแรง เล่นรถไฟเหาะ และเล่นมายากลการเงิน เล่นแรงคือเปิดเกมแรงเพื่อกดดันการเจรจา เล่นรถไฟเหาะคือเดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวชะลอ เดี๋ยวยกเว้น เพื่อบริหารความคาดหมายของตลาดและไม่ให้เกิดช็อกที่แรงเกินไปต่อเศรษฐกิจ และเล่นมายากลการเงินคือจะมีท่าพลิกแพลงและเกมกลการเงินแบบแปลกๆ ออกมาอีกเพื่อรักษาสถานะของดอลลาร์และความเป็นมหาอำนาจทางการเงินของสหรัฐฯ ต่อไป

 

 

ภาพ: Nathan Howard / Evelyn Hockstein / Annabelle Gordon / Kevin Mohatt / Dado Ruvic / Reuters

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising