ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ย้ำจุดยืนพร้อมผลักดันมาตรการจัดเก็บภาษีแบบ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ กับนานาประเทศที่ตั้งกำแพงภาษีสูงลิ่วกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศพันธมิตรใกล้ชิด รวมถึงประเทศไทยที่อาจโดนหางเลขด้วยเช่นกัน
ในระหว่างหาเสียงชูแคมเปญประชานิยมก่อนศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 ทรัมป์เคยจวกประเทศต่างๆ ที่ได้เปรียบดุลการค้ากับอเมริกาอย่างมหาศาลว่า ‘เป็นพวกที่เอารัดเอาเปรียบสหรัฐฯ’ ล่าสุดทรัมป์ได้แสดงจุดยืนเดิมอีกครั้งในระหว่างการเปิดตัวแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ทรัมป์ยกตัวอย่าง Harley-Davidson แบรนด์บิ๊กไบค์ระดับโลกที่เผชิญปัญหาการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับไทย เพราะถูกตั้งกำแพงภาษีสูงถึง 60% จนกลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่บีบให้ผู้ผลิต Harley-Davidson ต้องตัดสินใจสร้างโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ในไทย
เมื่อกลางปีที่แล้ว Harley-Davidson ได้ยืนยันแผนการจัดตั้งโรงงานประกอบบิ๊กไบค์ในไทย โดยนอกจากต้องการลดภาษีนำเข้าแล้ว ยังต้องการให้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อป้อนตลาดจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะการส่งออกรถจักรยานยนต์จากไทยจะสร้างความได้เปรียบในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วย
นอกจากไทยแล้ว ทรัมป์ยังไม่พอใจที่สหรัฐฯ ต้องสูญเสียเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไปให้กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในแต่ละปี แม้หลายประเทศจะมีสถานะเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับวอชิงตัน แต่เขาระบุว่า ประเทศเหล่านี้ไม่ใช่ ‘พันธมิตรในมิติของการค้า’
ทรัมป์พูดกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เราไม่อาจปล่อยให้ผู้คนเข้ามาในประเทศเพื่อปล้นเราด้วยการเก็บภาษีแพงๆ โดยที่เราไม่ทำอะไรเลยได้อีกต่อไป
“หลังจากนี้ เรากำลังจะปรับเปลี่ยนนโยบาย” ทรัมป์ย้ำ
รมว. พาณิชย์ประสานเสียงสนับสนุน
วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ขานรับนโยบายของทรัมป์ทันที โดยบอกว่าสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการค้าแบบผ่อนปรนกับประเทศอื่นๆ มาอย่างยาวนาน แต่หลังจากนี้มันไม่จำเป็นอีกต่อไป
“ที่ผ่านมาเราเป็นผู้ให้เพียงฝ่ายเดียวมามากแล้ว และถึงเวลาที่เราจะต้องถอนคืน” รอสส์ สำทับ
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังไม่ได้แจกแจงรายละเอียดว่าโครงสร้างภาษีศุลกากรใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร รวมถึงยังไม่ได้ระบุชัดว่าจะมีการปรับขึ้นภาษีให้เทียบเท่ากับพิกัดอัตราศุลกากรที่ประเทศคู่ค้ารายใหญ่เรียกเก็บจากสหรัฐฯ หรือไม่ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลก็ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าสินค้าที่จะเก็บอากรขาเข้ามากขึ้นมีอะไรบ้าง ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิง:
- Reuters