นโยบายภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ที่ประกาศเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2025 ได้พลิกโฉมระเบียบการค้าโลกครั้งใหญ่ เสมือนเป็นการปิดฉากยุคการค้าเสรีที่ดำเนินมายาวนานร่วมศตวรรษ
ภายใต้แผน ‘ภาษีทั่วโลก’ ครั้งนี้ สหรัฐฯ กำหนดเก็บภาษีนำเข้าขั้นต่ำ 10% เริ่มมีผลวันที่ 5 เมษายน และเพิ่มเติมอัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) กับบางประเทศตั้งแต่ 9 เมษายนเป็นต้นไป ในบางกรณีอัตราภาษีสูงสุดพุ่งขึ้นไปถึงราว 50–60% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจช่วงทศวรรษ 1930 และกำลังสั่นสะเทือนโครงสร้างการค้าพหุภาคีที่สหรัฐฯ เคยเป็นหัวเรือใหญ่ผลักดันมาตลอดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
อัตราภาษีใหม่นี้ทำให้อัตราภาษีเฉลี่ยของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 22% ซึ่งสูงที่สุดในรอบกว่า 100 ปี (เทียบกับแค่ 2.5% ในปี 2024) โดยประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วยมากหรือถูกมองว่า ‘เอาเปรียบ’ สหรัฐฯ จะเจอภาษีในอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ย ยกตัวอย่างเช่น จีนถูกเก็บ 34% (นอกเหนือจาก 20% ที่เคยเก็บมาก่อน) รวมเป็นภาระภาษีกว่า 54%, สหภาพยุโรป 20%, เกาหลีใต้ 25%, ญี่ปุ่น 24%, อินเดีย 26% และไทย 37%
ทรัมป์อ้างว่านโยบายภาษีรอบใหม่มีเป้าหมาย ‘ปกป้องแรงงานอเมริกัน’ และแก้ไขความไม่เป็นธรรมทางการค้าที่สหรัฐฯ เสียเปรียบคู่ค้ามานาน
ตลาดทุนทั่วโลกสะเทือนทันที หุ้นสหรัฐฯ ร่วง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 48 ชั่วโมง ราคาสินค้าในหลายประเทศพุ่ง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนหดตัว บริษัทหลายแห่งชะลอแผนลงทุน และอาจชะลอการจ้างงาน
หากสถานการณ์บานปลายไปสู่สงครามการค้าตอบโต้กันไม่สิ้นสุด อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
สำหรับไทย เราได้รับผลกระทบเต็มๆ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยมายาวนาน ในปี 2024 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 1.86 ล้านล้านบาท (ราว 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นเกือบ 18% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย และคิดเป็นกว่า 9% ของ GDP ประเทศ สหรัฐฯ จึงเป็นเส้นเลือดใหญ่ของภาคการค้าระหว่างประเทศไทย
การที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยในอัตราสูงถึง 37% นับเป็นข่าวร้ายเกินคาดหมายสำหรับผู้ส่งออกไทย หากปล่อยให้ยืดเยื้อจะทำให้สินค้าไทยในตลาดอเมริกามีราคาแพงขึ้นทันที 1 ใน 3 ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง มูลค่าการส่งออกไทยอาจหดหายหลายแสนล้านบาทต่อปี และซ้ำเติมผู้ประกอบการจำนวนมากตั้งแต่สินค้าเกษตร (ข้าว อาหาร) ไปจนถึงสินค้าอุตสาหกรรม (เครื่องใช้ไฟฟ้า, ชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, ยางรถยนต์ ฯลฯ) ที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก
ปฏิกิริยาจากนานาประเทศต่อ ‘กำแพงภาษีทรัมป์’ เป็นไปอย่างหลากหลาย บางประเทศเลือกใช้กำลังโต้กลับทันที เช่น จีน ที่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ตอบโต้ 34% และจำกัดส่งออกแร่หายาก
บางประเทศเลือกเจรจาแบบมีชั้นเชิง เช่น เวียดนาม ที่เสนอเปิดตลาดให้สหรัฐฯ มากขึ้น แลกกับการขอลดหย่อนภาษี
บางประเทศประคองความสัมพันธ์ด้วยความระมัดระวัง เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ยังกั๊กไพ่ไว้บนโต๊ะ
ขณะที่อินเดียและยุโรปเลือกเดินหน้าต่อ – เร่งเจรจา FTA ใหม่ และลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ
คำถามคือไทยควรทำอะไร?
รัฐบาลไทยและภาคเอกชนจำเป็นต้องร่วมกันผลักดันมาตรการเชิงรุกและเตรียมแผนรับมืออย่างรอบด้าน ตั้งวอร์รูมเศรษฐกิจการค้า ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และนักเศรษฐศาสตร์อิสระ
‘ทีมไทยแลนด์’ ควรทำงานเชิงรุก เตรียมข้อมูลและข้อแลกเปลี่ยนที่จูงใจสหรัฐฯ ให้มากพอ
บทเรียนจากบางประเทศชี้ให้เห็นว่าหากเจรจาอย่างชาญฉลาด ไทยก็อาจลดทอนภาระภาษีได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งประสานงานทุกช่องทางทั้งในกรุงเทพฯ และผ่านสถานทูตไทยในวอชิงตัน
นี่คือข้อเสนอแนะที่ไทยควรทำ (บางส่วนมีการดำเนินการไปบ้างแล้ว)
หนึ่ง เจรจาอย่างสร้างสรรค์
ไทยต้องเร่งเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ อย่างมืออาชีพ ชี้ให้เห็นประโยชน์ร่วมระยะยาว พร้อมเสนอข้อแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ เช่น เปิดตลาดสินค้าเกษตร พลังงาน และปรับสมดุลการค้าอย่างจริงใจ
สอง กระจายความเสี่ยง
อย่าฝากอนาคตไว้กับตลาดเดียว เราต้องเร่งเปิดตลาดใหม่ ใช้ FTA อย่างเต็มที่ เร่งเจรจาความตกลงใหม่ๆ และสนับสนุนผู้ส่งออกให้ยืนได้ในตลาดที่หลากหลาย
สาม เยียวยาและยกระดับ
ภาครัฐต้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือธุรกิจและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ พร้อมใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการ ‘ยกเครื่องส่งออก’ พัฒนาเทคโนโลยี ยกระดับมาตรฐาน และดึงดูดการลงทุนคุณภาพจากทั่วโลก
สี่ สติและสามัคคี
นี่คือบททดสอบของปัญญา สติ วิสัยทัศน์ และความร่วมมือ ฝ่ายนโยบายต้องใช้ข้อมูล ไม่ใช้อารมณ์ ส่วนภาคเอกชนต้องร่วมมือกันปรับยุทธศาสตร์อย่างยืดหยุ่น และส่งเสียงสะท้อนที่นำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน
ห้า สื่อสารกับประชาชนอย่างโปร่งใส
ให้ความรู้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจระดับบนเท่านั้น แต่คือผลกระทบต่อชีวิตจริงในตลาดแรงงาน ค่าครองชีพ และโอกาสของคนไทยทุกระดับ
‘ภาษีทรัมป์’ ครั้งนี้เป็นเหมือนพายุใหญ่ที่ท้าทายทั้งเศรษฐกิจโลกและความสามารถในการรับมือของนโยบายเศรษฐกิจไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน เรายืนอยู่บนจุดเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย – จากยุคที่โลกเชื่อมั่นว่าการค้าเสรีจะนำมาซึ่งความรุ่งเรืองร่วมกัน สู่ยุคที่มหาอำนาจหันมาใช้มาตรการกีดกันเพื่อปกป้องตนเอง
ประเทศไทยและโลกกำลังเผชิญจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เราต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวในโลกที่อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว นอกจากต้องปรับตัวและแสวงหาหนทางอยู่รอดให้ได้
เราต้องไม่หวังให้พายุหยุด
แต่ต้องเรียนรู้ที่จะ ‘แล่นเรือในพายุ’ ให้เป็น