×

‘Shadow Fed Chair’ ของทรัมป์ สร้างแรงกดดันต่อทิศทางดอกเบี้ย Fed ฮั่วเซ่งเฮงแนะนักลงทุนอ่านเกมเชิงลึก รับมือตลาดทองคำที่กำลังผันผวน

04.07.2025
  • LOADING...

ตลาดทองคำต้องจับตาเป็นพิเศษ! เมื่อแนวคิด ‘Shadow Fed Chair’ ของโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างแรงกดดันต่อทิศทางดอกเบี้ย Fed ฮั่วเซ่งเฮงแนะนักลงทุนอ่านเกมเชิงลึก รับมือกับความไม่แน่นอนและคว้าโอกาสในตลาดทองคำที่กำลังผันผวน

 

ราคาทองคำปรับขึ้นรับเดือนกรกฎาคม ท่ามกลางความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย ตลาดเริ่มให้ความสนใจในท่าทีของ ‘Shadow Fed Chair’ มากกว่านโยบายของ Fed ขณะที่นักลงทุนเฝ้าติดตามทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจ มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) และการผ่านร่างกฎหมาย One Big Beautiful Bill Act (OBBBA)

 

ราคาทองโลกเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม สะท้อนแรงซื้อจากการคาดการณ์ว่าเฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งมากกว่าที่เคยแจ้งไว้กับ Dot Plot ในการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) อ่อนค่าลงต่อเนื่อง หนุนราคาทองให้พุ่งแรงขึ้น

 

ขณะเดียวกัน แนวคิด ‘Shadow Fed Chair’ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลายเป็นประเด็นร้อนในตลาดการเงินโลก เมื่อทรัมป์เตรียมเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ล่วงหน้า แม้เจอโรม พาวเวล จะยังดำรงตำแหน่งจนถึงกลางปี 2026 แนวคิดนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ 111 ปีของ Fed และสะท้อนความพยายามแทรกแซงทิศทางนโยบายการเงินผ่านการเมืองโดยตรง

 

‘Shadow Fed Chair’ คือแนวคิดที่เกิดจากความพยายามของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการส่งสัญญาณนโยบายการเงินล่วงหน้า ผ่านการเสนอชื่อว่าที่ประธาน Fed ก่อนครบวาระ เพื่อชี้นำตลาดให้คาดหวังว่า Fed จะลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว แม้จะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย แต่แนวคิดนี้กลับสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อตลาด บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อความเป็นอิสระของ Fed และเปิดช่องให้เกิด “เสียงซ้อน” ด้านนโยบาย ในช่วงเวลาที่ตลาดกำลังเปราะบางและต้องการความมั่นใจจากนโยบายการเงินที่ชัดเจน

 

แม้คำว่า ‘Shadow’ ในเชิงการเมืองจะฟังดูใหม่ แต่ในโลกการเงิน คำนี้เคยปรากฏในชื่อของกลุ่ม Shadow Open Market Committee (SOMC) ซึ่งก่อตั้งโดยนักเศรษฐศาสตร์อิสระในปี 1973 และยังคงมีบทบาทจนถึงปัจจุบัน เพื่อวิจารณ์นโยบายของ Fed อย่างเปิดเผยในเชิงวิชาการ ต่างจากแนวคิด ‘Shadow Fed Chair’ ซึ่งเกิดจากแรงขับเคลื่อนทางการเมือง และมีเป้าหมายเพื่อชี้นำตลาดผ่านบุคคลที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ

 

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายแสดงความกังวลต่อแนวคิด ‘Shadow Fed Chair’ โดยเฉพาะ Alan Blinder อดีตรองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเตือนว่า “การมีประธานเฟด 2 คนในเวลาเดียวกัน เป็นแนวคิดที่เลวร้าย” ขณะที่ Kathryn Judge จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระบุว่า “ผลกระทบจากสถานการณ์นี้ ไม่อาจคาดการณ์ได้ เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

 

ฮั่วเซ่งเฮง ประเมินว่าแม้ยังไม่มีการเปลี่ยนตัวประธาน Fed อย่างเป็นทางการ แต่ ‘นโยบายเงา’ ที่เกิดจากการผลักดันทางการเมือง ก็สามารถสั่นสะเทือนตลาดได้จริง นักลงทุนจึงต้องอ่านเกมล่วงหน้าให้ลึก ไม่ใช่เพียงติดตามคำแถลงจาก Fed เท่านั้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังแรงกดดันนอกระบบที่กำลังแทรกเข้ามาอีกด้วย

 

ส่องแนวโน้มทองคำเดือนกรกฎาคม
สำหรับเดือน ก.ค.นี้ ฮั่วเซ่งเฮงสรุปปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนควรจับตาไว้ 3 ปัจจัย ดังนี้

 

1. สัญญาณจาก ‘Shadow Fed Chair’

โดยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และคำแถลงของเจ้าหน้าที่ Fed จะถูกตีความอย่างรวดเร็ว หากเอนเอียงไปทาง Dovish ก็อาจหนุนราคาทองให้กลับมาทดสอบระดับ 3,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

2. ความไม่แน่นอนด้านการเมืองและภาษี

ทรัมป์ยืนยันว่าจะเดินหน้าบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ ซึ่งอาจกระตุ้นความกังวลเรื่องเงินเฟ้อรอบใหม่ ส่งผลให้ทองคำได้รับความสนใจในฐานะ “เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง”

 

3. ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางทั่วโลก

ธนาคารกลางของประเทศสำคัญอย่างจีน ตุรกี และอินเดีย ยังคงทยอยสะสมทองคำสำรองต่อเนื่อง สะท้อนว่า แม้ Fed จะพยายามควบคุมนโยบายดอกเบี้ยอย่างไร แต่บทบาทของทองคำในระดับมหภาคยังคงแข็งแกร่ง

 

จากปัจจัยดังกล่าว ฮั่วเซ่งเฮงประเมินว่า ราคาทองคำแท่งในประเทศอาจปรับฐานลงมาทดสอบแนวรับที่ 49,500 – 50,200 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งเป็นระดับที่น่าทยอยสะสมอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายราคาสูงสุดช่วงครึ่งหลังของปีที่ประมาณ 55,600 บาท (โดยอิงจากราคาทองโลกที่ 3,630 ดอลลาร์ และค่าเงินบาทที่ 32.45 บาท/ดอลลาร์)

 

ภาพ: Irina Marwan/Getty Images

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising