โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ออกโรงวิจารณ์ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังจากเซเลนสกีแสดงจุดยืนชัดเจนว่ายูเครนจะไม่ยอมรับการยึดครองแหลมไครเมียของรัสเซีย โดยทรัมป์ระบุว่า ท่าทีดังกล่าว “เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย”
ทรัมป์ยังโพสต์บนแพลตฟอร์ม Truth Social ว่า “คำพูดที่ปลุกปั่นแบบนี้ของเซเลนสกีคือเหตุผลว่าทำไมการยุติสงครามจึงยากเย็น เขาไม่มีอะไรจะโอ้อวดได้เลย! สถานการณ์ของยูเครนนั้นย่ำแย่ เขาจะเลือกสันติภาพหรือจะสู้ไปอีก 3 ปีเพื่อสูญเสียทั้งประเทศ?”
จุดยืนที่ว่าจะยอมรับการควบคุมไครเมียของรัสเซียนั้นถือเป็นการเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐฯ ที่ยึดมั่นมากว่าทศวรรษ อีกทั้งยังอาจกระทบต่อฉันทามติระหว่างประเทศที่ยึดหลักไม่เปลี่ยนแปลงพรมแดนด้วยกำลังทหารซึ่งถือเป็นรากฐานหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ไม่กี่ชั่วโมงหลังโพสต์ของทรัมป์ ขีปนาวุธจากรัสเซียได้โจมตีกรุงเคียฟและเมืองคาร์คิฟ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของยูเครน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย และบาดเจ็บกว่า 50 คน ตามรายงานจากทางการยูเครน
คำวิจารณ์ของทรัมป์มีขึ้นหลังจากการประชุมในกรุงลอนดอนที่มุ่งหวังยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ถูกลดระดับลง เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โก รูบิโอ ประกาศไม่เข้าร่วม โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าเป็น “ปัญหาทางด้านโลจิสติกส์” อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ เปิดเผยว่า รัฐบาลประเมินว่าการประชุมครั้งนี้ยังไม่ถึงจุดเปลี่ยนที่ชัดเจน จึงไม่เห็นควรส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วม
ด้านเซเลนสกีโพสต์บนแพลตฟอร์ม X ระบุว่า “วันนี้อารมณ์รุนแรงมาก” และกล่าวตอบโต้คำวิจารณ์อย่างไม่เป็นทางการจากทรัมป์ โดยยืนยันว่า “ยูเครนจะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ และเรามั่นใจว่าพันธมิตรของเราจะยึดมั่นในจุดยืนที่ชัดเจนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา” พร้อมทั้งแนบภาพแถลงการณ์ของไมค์ ปอมเปโอ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในปี 2018 ที่ปฏิเสธการยึดครองไครเมียของรัสเซีย
ขณะเดียวกันโฆษกกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษยืนยันว่าการหารือในกรุงลอนดอนยังคงเดินหน้าต่อในระดับเจ้าหน้าที่ แม้จะปิดสื่อมวลชนก็ตาม ความพยายามทางการทูตที่กำลังดำเนินอยู่เผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์แสดงท่าทีต้องการเร่งผลักดันให้เกิดข้อตกลง โดยเสนอกรอบเจรจาที่รวมถึงการยอมรับการควบคุมไครเมียโดยรัสเซีย และหยุดยิงตามแนวหน้าสงครามปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เซเลนสกีย้ำจุดยืนเมื่อวานนี้ว่า ยูเครนพร้อมเจรจาแต่จะไม่ยอมรับข้อตกลงที่รับรองการครอบครองไครเมียของรัสเซีย “ยูเครนจะไม่ยอมรับการยึดครองไครเมียโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอะไรต้องพูดถึง มันขัดกับรัฐธรรมนูญของเรา”
เจ.ดี. แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวที่ประเทศอินเดียว่า สหรัฐฯ พร้อมถอนตัวจากกระบวนการเจรจาหากทั้งสองฝ่ายยังไม่ตอบรับข้อเสนอของวอชิงตัน โดยระบุว่า “เราทำงานอย่างหนักทั้งด้านการทูตและภาคสนาม ถึงเวลาที่ทั้งรัสเซียและยูเครนต้องตัดสินใจ”
ในอีกด้านหนึ่ง ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรพยายามเชื่อมรอยร้าวระหว่างฝ่ายต่างๆ โดยการประชุมในกรุงปารีสเมื่อสัปดาห์ก่อน มีเจ้าหน้าที่จากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี เข้าร่วมหารือเกี่ยวกับกรอบหยุดยิงที่เสนอโดยสหรัฐฯ
แม้รูบิโอจะถอนตัวจากการประชุมในลอนดอน แต่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า คีธ เคลล็อก ทูตพิเศษของทรัมป์ จะเป็นตัวแทนเข้าร่วมแทน ขณะเดียวกัน สตีฟ วิตคอฟ ทูตพิเศษอีกคนของทรัมป์ มีกำหนดจะพบประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ในวันพรุ่งนี้ (25 เมษายน) ที่รัสเซีย
ภาพ: Photo by Chip Somodevilla / Getty Images
อ้างอิง: