×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: หมัดต่อหมัด เทียบนโยบายทรัมป์ vs ไบเดน ศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

08.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • นโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในนโยบายที่ทรัมป์และไบเดนเห็นต่างกันอย่างชัดเจน เพราะทรัมป์ต้องการสานต่อนโยบายเศรษฐกิจแบบปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศด้วยการทำสงครามการค้ากับจีนและตั้งกำแพงภาษีเพื่อไม่ให้สินค้าจากจีนและประเทศอื่นๆ เข้ามาตีตลาดในประเทศได้ ในขณะที่ไบเดนเชื่อในการค้าเสรีมากกว่า
  • ในด้านผู้อพยพและการเข้าเมือง ทรัมป์ให้สัญญาว่าจะเดินหน้าผลักดันนโยบายการตั้งกำแพงตามแนวพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกให้สำเร็จ รวมถึงผลักดันบุตรหลานของผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Dreamer ออกจากประเทศ ตรงข้ามกับไบเดนที่ต้องการให้สหรัฐฯ กลับไปเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อผู้อพยพอีกครั้งด้วยการให้สัญญาไว้ว่าเขาจะยกเลิกทุกนโยบายที่ทรัมป์เคยดำเนินการเอาไว้
  • ไบเดนและทรัมป์ยืนอยู่ตรงข้ามกันในวิกฤตปัญหาระหว่างสีผิวและการประท้วง Black Lives Matter (BLM) ไบเดนเห็นด้วยกับกลุ่ม BLM ว่าคนผิวดำได้รับความไม่ยุติธรรมจากระบบยุติธรรมจริงๆ ในส่วนของทรัมป์นั้น เขามีแนวคิดว่าบ้านเมืองจะสงบสุขได้ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศก็จะต้องออกมาตัดสินกันแล้วว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้นำของประเทศ ระหว่างประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และผู้ท้าชิงอย่าง โจ ไบเดน ซึ่งการตัดสินใจของชาวอเมริกันในครั้งนี้จะมีผลอย่างมากต่อทิศทางการบริหารประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้า เพราะผู้สมัครทั้งสองคนมีแนวคิดและนโยบายที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

เราจะมาสรุปให้ผู้อ่านได้ทราบว่าทรัมป์และไบเดนมีนโยบายในการบริหารประเทศที่แตกต่างกันอย่างไร

 



นโยบายด้านเศรษฐกิจ
นโยบายด้านเศรษฐกิจน่าจะเป็นหนึ่งในนโยบายที่ทรัมป์และไบเดนเห็นต่างกันอย่างชัดเจน เพราะทรัมป์ต้องการจะสานต่อนโยบายเศรษฐกิจแบบปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ (Protectionism) ด้วยการทำสงครามการค้ากับจีนและตั้งกำแพงภาษีเพื่อไม่ให้สินค้าจากจีนและประเทศอื่นๆ เข้ามาตีตลาดในประเทศได้ ซึ่งนโยบายนี้เป็นที่ถูกใจของชนชั้นแรงงานผิวขาวเป็นอย่างมาก เพราะเป็นนโยบายที่เน้นปกป้องการจ้างงานของพวกเขาโดยตรง หลังจากที่ก่อนหน้านี้โรงงานในสหรัฐฯ ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ เพราะแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีนไม่ได้

ในขณะที่ไบเดนเชื่อในการค้าเสรีมากกว่า ไบเดนให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขาจะยุติการทำสงครามการค้ากับจีนอย่างแน่นอน เพราะจีนเองก็ได้ตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการตั้งกำแพงภาษีคืน ทำให้สินค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรเข้าไปขายในตลาดจีนไม่ได้ ไบเดนเชื่อว่าการหันมาเจรจาและยอมทำการค้ากันแต่โดยดีน่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศในระยะยาว

ส่วนท่าทีต่อเรื่องเขตการค้าเสรีอย่าง Trans-Pacific Partnership (TPP) นั้น ทรัมป์นั้นชัดเจนว่าไม่สนับสนุน เพราะการเปิดเขตการค้าเสรีขัดกับหลักการ Protectionism ของเขา ในขณะที่ไบเดนยังไม่ออกมาพูดให้ชัดเจนว่าเขาสนับสนุน TPP หรือไม่

ว่ากันตามจริง ไบเดนน่าจะเห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะ TPP ถูกร่างขึ้นมาในรัฐบาลสมัย บารัก โอบามา ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี (ก่อนที่จะถูกตีตกไปในสมัยของทรัมป์) แต่ไบเดนอาจยังไม่กล้าที่จะเลือกข้างให้ชัด เพราะว่าผู้ใช้แรงงานผิวขาวโดยเฉพาะในมลรัฐตอนกลางของประเทศจะเสียผลประโยชน์จากนโยบายนี้ (เพราะงานในภาคอุตสาหกรรมหนักน่าจะถูกโยกย้ายไปที่ประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าอย่างเวียดนามกับเม็กซิโก) และอาจทำให้ไบเดนเสียคะแนนนิยมในมลรัฐเหล่านี้ที่มีความสำคัญอย่างมากในการเลือกตั้ง

ในแง่ของนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาลงจากโควิด-19 (Stimulus Package) ไบเดนได้ชูนโยบายที่มีชื่อว่า Buy Americans ซึ่งเป็นนโยบายมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเขาวางแผนที่จะใช้เงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงผ่านการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยมีข้อกำหนดว่าอุปกรณ์ เครื่องมือ และวัสดุทั้งหมดต้องซื้อจากแหล่งผลิตภายในประเทศเท่านั้น

ส่วนอีก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เขาวางแผนที่จะใช้ลงทุนกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยี 5G รถไฟฟ้า พลังงานสะอาด และ AI เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและกระตุ้นให้เกิดจากจ้างงานที่มีค่าตอบแทนสูง

ส่วนของทรัมป์นั้น หลังจากที่เขาได้แจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปหนึ่งระลอกและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ตกงาน ณ ปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเขาจะมีนโยบายอะไรมากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นอีก

อีกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ Buy Americans ของไบเดนคือการยกเลิกกฎหมายลดภาษีนิติบุคคลที่ออกโดยทรัมป์ในปี 2017 เพราะไบเดนต้องการจะนำภาษีที่เคยลดไปตรงนี้กลับคืนมาเพื่อมาใช้ในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของเขา

อีกนโยบายที่สำคัญด้านเศรษฐกิจคือนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำ (ในระดับประเทศ) ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สูง ไบเดนชูนโยบายที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นประเด็นที่นักการเมืองซ้ายจัดในพรรคอย่าง เบอร์นี แซนเดอร์ส และเอลิซาเบธ วอร์เรน ผลักดันมาอย่างยาวนาน ในขณะที่ทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะเขาต้องการให้ค่าแรงขึ้นลงเองตามหลักอุปสงค์-อุปทาน ทรัมป์ยังโจมตีอีกว่านโยบายนี้จะทำให้ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหวและจะต้องปิดตัวลงไป ทำให้มีคนงานตกงานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

 



นโยบายด้านผู้อพยพและการเข้าเมือง
การต่อต้านผู้อพยพนับว่าเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในปี 2016 โดยในช่วง 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา เขาได้พยายามผลักดันให้นโยบายเหล่านี้ออกมาเป็นรูปธรรมตามที่ได้หาเสียงไว้ แต่นโยบายของเขาเกือบทั้งหมดถูกต่อต้านจากพรรคเดโมแครตในสภา และบางนโยบายก็ถูกโจมตีว่าผิดรัฐธรรมนูญจนต้องมาต่อสู้กันในทางกฎหมายจนถึงศาลสูงสุด

นโยบายที่ทรัมป์ทำได้สำเร็จ เช่น การแบนการเดินทางเข้าประเทศของพลเมืองจากประเทศมุสลิม และการลดโควตาผู้อพยพและกรีนการ์ด ส่วนที่เขาทำไม่สำเร็จ เช่น การสร้างกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก (เพราะเดโมแครตในสภาคองเกรสไม่อนุมัติงบประมาณ) และการขับไล่บุตรหลานของผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย (ที่มีชื่อเรียกว่ากลุ่ม Dreamer) ออกจากประเทศ (ที่ไม่สำเร็จเพราะศาลสูงสุดตัดสินว่านโยบายนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ) ทรัมป์ประกาศว่าถ้าเขาชนะการเลือกตั้งอีกรอบ เขาจะพยายามผลักดันนโยบายเหล่านี้ให้สำเร็จให้ได้ภายในเทอมที่ 2 ของเขา

ในส่วนของไบเดน นโยบายของเขาคือเขาพยายามจะผลักดันให้สหรัฐฯ กลับไปเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อผู้อพยพอีกครั้งด้วยการให้สัญญาไว้ว่าเขาจะยกเลิกทุกนโยบายที่ทรัมป์เคยดำเนินการเอาไว้หรือพยายามจะดำเนินการอยู่ ส่วนนโยบายที่กลุ่มซ้ายจัดในพรรคเดโมแครตเสนอ เช่น การยุบสำนักงานควบคุมการอพยพและการเข้าเมือง (Immigration and Customs Enforcement: ICE) หรือการยกเลิกโทษอาญาการลักลอบข้ามชายแดนโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ไบเดนไม่เห็นด้วย

 



นโยบายด้านสีผิวและกระบวนการยุติธรรม
ไบเดนและทรัมป์ยืนอยู่ตรงข้ามกันในวิกฤตปัญหาระหว่างสีผิวและการประท้วง Black Lives Matter (BLM) ไบเดนเห็นด้วยกับกลุ่ม BLM ว่าคนผิวสีได้รับความไม่ยุติธรรมจากระบบยุติธรรมจริงๆ และเสนอนโยบายหลายอย่างที่จะมาแก้ปัญหานี้ เช่น นโยบายลดบทลงโทษของการมียาเสพติดในครอบครอง (ให้ถือว่าผู้เสพติดเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร) รวมถึงลดโทษการมีกัญชาในครอบครองให้เหลือแค่โทษปรับ ไม่มีโทษจำคุก (แต่ไบเดนยังไปไม่ถึงขั้นสนับสนุนกัญชาเสรี), เสนอให้มีระบบประกันตัวระหว่างสู้คดีโดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดมาวางเป็นหลักประกัน และเพิ่มงบประมาณจ้างทนายสาธารณะ (Public Defender) เพื่อมาช่วยว่าความให้คนผิวสียากจนที่ไม่มีเงินจ้างทนายส่วนตัวมาสู้คดี ส่วนนโยบายซ้ายจัดอย่างการยุบหรือลดเงินงบประมาณของตำรวจลง (Defund the Police) ไบเดนไม่เห็นด้วย

ในส่วนของทรัมป์นั้น เขาเห็นอกเห็นใจและเลือกที่จะเข้าข้างตำรวจมากกว่า ทรัมป์มีแนวคิดว่าบ้านเมืองจะสงบสุขได้ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง การที่ตำรวจต้องใช้ความรุนแรงบ้างเป็นเรื่องที่จำเป็น ทรัมป์สัญญาว่าเขาจะเพิ่มงบประมาณให้ตำรวจและสนับสนุนให้มีการจ้างตำรวจเพิ่ม นอกจากนี้เขาจะผลักดันกฎหมายเพิ่มโทษจำคุกอาชญากรรมชนิดรุนแรงให้นานขึ้น เพื่อมิให้อาชญากรเหล่านั้นมีโอกาสกลับมาทำร้ายคนในชุมชนได้อีก ในส่วนการประท้วงของ BLM ทรัมป์ก็ยืนยันแข็งขันมาตลอดว่าเป็นการประท้วงที่ทำให้เกิดสภาพอนารยะ และเขาพร้อมที่จะใช้กำลังทหารไปปราบปรามผู้ชุมนุม หากรัฐบาลท้องถิ่นร้องขอ

 



นโยบายด้านการต่างประเทศ
ทรัมป์ดำเนินนโยบายแบบ America First มาตลอดด้วยการลดความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและทหารแก่ประเทศอื่นๆ เช่น การพยายามลดกำลังพลในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น และการบังคับให้ชาติสมาชิกของ NATO ต้องจ่ายค่าบริหารจัดการในอัตราที่เพิ่มขึ้น (และสหรัฐฯ จ่ายในอัตราส่วนที่น้อยลง) ซึ่งเป็นรูปแบบนโยบายที่มีชื่อเรียกกันว่า Isolationism ในขณะที่ไบเดนเห็นว่าสหรัฐฯ ต้องทำตัวเป็นตำรวจโลกเพื่อรักษาสันติภาพของโลกและเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เอง (ซึ่งเป็นนโยบายที่สหรัฐฯ ดำเนินมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น) ไบเดนสัญญาว่าหากเขาชนะการเลือกตั้ง เขาจะเพิ่มงบประมาณความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและทหารแก่ชาติพันธมิตรให้กลับไปอยู่ในระดับปกติ

ในเรื่องของการทำสงคราม ด้วยแนวคิดแบบ Isolationism ของทรัมป์ นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อเขาน่าจะหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทหารเข้าไปขจัดความขัดแย้งหรือประกาศสงครามกับชาติใดๆ ในขณะที่ไบเดนนั้นมีแนวคิดที่ค่อนข้างจะเป็นเหยี่ยว เพราะเขาเคยโหวตอนุมัติให้ประธานาธิบดีจอร์จ บุช คนลูกนำกองกำลังทหารไปบุกอิรัก และสนับสนุนการทำสงครามในยูโกสลาเวีย ซีเรีย และลิเบีย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าไบเดนน่าจะมีแนวโน้มอนุมัติการใช้กำลังทางทหารอีกในอนาคต หากเขาคิดว่ามีความจำเป็น

นโยบายด้านการสาธารณสุข
ในปัจจุบันชาวอเมริกันกว่า 30 ล้านคนประสบปัญหาไม่มีประกันสุขภาพ เพราะพวกเขาไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทเอกชน ไบเดนเสนอนโยบายแก้ปัญหานี้ด้วยการให้รัฐบาลสร้างประกันสุขภาพราคาถูกมาให้ประชาชนเลือกซื้อ (Public Option) แต่ไบเดนไม่สนับสนุนนโยบายรักษาฟรี (Medicare for All) อย่างที่ฝ่ายซ้ายในพรรคเดโมแครตพยายามผลักดัน ในขณะที่ทรัมป์มีแค่สโลแกนลอยๆ ว่าเขาจะพยายามลดค่าเบี้ยประกันและควบคุมราคายา โดยที่เขาไม่ได้เสนอนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมว่าจะดำเนินการอย่างไร

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X