การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั่วโลกเกิดความปั่นป่วนอย่างรุนแรงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา จากคำสั่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ที่ตัดสินใจระงับการสนับสนุนความช่วยเหลือในต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยหน่วยงานที่กระทบหนักสุดคือ สำนักงานเพื่อการพัฒนาการระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAID (The United States Agency for International Development) ที่ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์สำคัญของสหรัฐฯ มายาวนาน จากการขยายอิทธิพลผ่านนโยบายกระจายความช่วยเหลือไปยังทั่วโลกที่มีมาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น
โครงการจำนวนมากซึ่งดำเนินการผ่านเงินช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มอบให้แก่บรรดาองค์กรนอกภาครัฐ (Non-Governmental Organisation: NGO) กำลังเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน จากการดำเนินการของทรัมป์ ซึ่งยึดตามนโยบายหลักของเขาคือ อเมริกาต้องมาก่อน (America First)
หลายสิบประเทศรวมถึงไทย เผชิญผลกระทบจากการตัดงบช่วยเหลือที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่ท่าทีของทรัมป์ครั้งนี้กำลังก่อให้เกิดคำถามใหญ่ว่า เขาจะละทิ้งซอฟต์พาวเวอร์จากการให้ความช่วยเหลือทั่วโลกนี้ โดยมองว่าเป็นภาระและปล่อยให้คู่แข่งอย่างจีนใช้โอกาสนี้ในการขยายอิทธิพล ด้วยการเติมความช่วยเหลือที่หายไปของสหรัฐฯ หรือไม่?
WHO ชี้ ตัดงบกระทบ 50 ประเทศ
ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงวานนี้ (12 กุมภาพันธ์) ว่าการระงับเงินช่วยเหลือต่างประเทศมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ของรัฐบาลทรัมป์ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโครงการรับมือ HIV, โปลิโอ, ไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก ในหลายสิบประเทศ
“รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังดำเนินการบางอย่าง ซึ่งเรากังวลว่าจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อระบบสุขภาพทั่วโลก” ดร.ทีโดรส กล่าว
เขาชี้ว่าการระงับเงินช่วยเหลือสำหรับโครงการ PEPFAR ซึ่งเป็นแผนฉุกเฉินเพื่อบรรเทาทุกข์โรคเอดส์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังส่งผลให้บริการด้านการรักษา การทดสอบ และการป้องกันเชื้อ HIV ใน 50 ประเทศต้องหยุดชะงักลง โดยคลินิกรักษา HIV ต่างๆ ต้องปิดตัวและให้เจ้าหน้าที่พักการทำงาน
ขณะที่องค์การอนามัยโลกใช้มาตรการฉุกเฉินที่คล้ายกับที่ใช้ในช่วงการระบาดของโควิด เพื่อรับมือผลกระทบจากการตัดเงินช่วยเหลือ เช่น ใช้ยาต้านไวรัสเพื่อรักษาผู้ติดเชื้อ HIV
ด้าน เม็ก โดเฮอร์ตี (Meg Doherty) ผู้อำนวยการโครงการ HIV ตับอักเสบ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ขององค์การอนามัยโลก เผยว่า กำลังดำเนินการประสานงานเพื่อแบ่งปันเวชภัณฑ์ที่จำเป็นระหว่างประเทศต่างๆ
“เราพยายามหาการสนับสนุนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อการแบ่งปันเวชภัณฑ์ แต่แนวทางนี้เป็นเพียงแนวทางระยะสั้น”
ทั้งนี้ ในยุครัฐบาลโจ ไบเดน สหรัฐฯ ถือเป็นผู้สนับสนุนเงินช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุดของ WHO ซึ่งในปี 2023 พบว่างบประมาณของ WHO เกือบ 1 ใน 5 มาจากสหรัฐฯ
ขณะที่ทรัมป์มองว่า WHO เป็นองค์กรที่ล้มเหลว โดยเฉพาะในการรับมือสถานการณ์โควิด และถอนสหรัฐฯ ออกจาก WHO ทันที ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่สาบานตนรับตำแหน่ง
โดย ดร.ทีโดรส มองว่าการตัดสินใจของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือกับภัยคุกคามด้านสุขภาพระดับโลก
ค่ายผู้ลี้ภัยเมียนมาในไทยกระทบหนัก
สำหรับในไทย ค่ายพักพิงชั่วคราว 9 แห่งของกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาหลายหมื่นคนในพื้นที่ชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน, ตาก, กาญจนบุรี และราชบุรี ที่มีมายาวนานกว่า 40 ปี และพึ่งพิงเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และต่างประเทศเป็นหลัก กำลังเผชิญผลกระทบที่รุนแรงจากการตัดงบประมาณของทรัมป์
โดยบริการพื้นฐานในค่ายส่วนใหญ่ ทั้ง การดูแลสุขภาพ การศึกษา สุขอนามัย น้ำและอาหาร ดำเนินการโดยผู้บริจาคต่างประเทศ ซึ่งเงินช่วยเหลือเกือบทั้งหมดมาจากสหรัฐฯ ผ่านคณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ (International Rescue Committee: IRC)
CNN รายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นในค่ายพักพิงฯ บ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ที่มีผู้ลี้ภัยมากที่สุดกว่า 3.7 หมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยง โดยพบว่าการตัดงบช่วยเหลือทำให้คลินิกภาคสนามภายในค่ายต้องปิดตัวลง ส่งผลให้เกิดคลื่นความตื่นตระหนกไปทั่วชุมชนผู้ลี้ภัย โดยผู้ป่วยหลายคนถูกย้ายไปยังศูนย์ดูแลสุขภาพชั่วคราวที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งผู้ที่อาการหนักหลายคนถูกส่งไปรักษายังโรงพยาบาลอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไป
โฆษก IRC เผยว่า ผู้ลี้ภัยหญิงสูงอายุรายหนึ่งในค่ายที่บ้านอุ้มเปี้ยม อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เสียชีวิตจากปัญหาด้านการหายใจ หลังจากที่เธอไม่สามารถใช้เครื่องช่วยหายใจได้เพราะคลินิกภายในค่ายถูกปิด
ขณะที่การบริหารจัดการคลินิกภาคสนาม ตลอดจนอุปกรณ์รักษาพยาบาลและระบบน้ำประปาในค่ายที่ก่อนหน้านี้ IRC เป็นฝ่ายดูแล ถูกโอนไปยังทางการไทยและผู้บังคับบัญชาค่ายแล้ว แม้ว่า IRC จะยังคงจัดหายาและเชื้อเพลิงให้ต่อไป โดยใช้เงินที่ไม่ได้มาจากการช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ตาม
อีกผลกระทบที่น่ากังวลคือเรื่องอาหาร โดยการให้อาหารผู้ลี้ภัยกว่า 8 หมื่นคนในค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่งเป็นเวลา 1 เดือนมีค่าใช้จ่ายราว 1.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสำนักงานประชากร ผู้ลี้ภัย และการย้ายถิ่นฐาน (Bureau of Population, Refugees, and Migration: PRM) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่จัดหาอาหารและเชื้อเพลิงสำหรับประกอบอาหาร เปิดเผยว่าตอนนี้ มีเงินเหลือพอสำหรับใช้จัดหาอาหารได้เพียง 1 เดือนครึ่งเท่านั้น
โดยนอกเหนือจากในค่ายผู้ลี้ภัย ยังพบว่า NGO และหน่วยงานช่วยเหลือหลายสิบหน่วยงานในพื้นที่ชายแดน ที่ทำงานทั้งด้านโครงการวัคซีน, การศึกษา, การตั้งถิ่นฐานใหม่, ศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัว, โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์, บ้านพักปลอดภัยสำหรับผู้เห็นต่างทางการเมือง และความช่วยเหลือสำหรับผู้พลัดถิ่น ก็ได้รับผลกระทบจากการตัดงบช่วยเหลือของสหรัฐฯ ทำให้การทำงานต้องหยุดชะงักหรือเลิกจ้างบุคลากรลงบางส่วน
โอกาสดีของจีน?
สำหรับ USAID และความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐฯ แม้จะถูกมองว่าเป็นภาระและมีการใช้จ่ายเงินมหาศาล แต่ในแง่หนึ่งเรียกได้ว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญและมีมายาวนานตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น ซึ่งแม้ในช่วงแรกจะมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยและการทูตของสหรัฐฯ ท่ามกลางการต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียต
ปัจจุบันการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศมีส่วนสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ของสหรัฐฯ หลักๆ 2 ประการ โดยประการแรกคือ เป็นมาตรการป้องกันที่ช่วยรักษาเสถียรภาพให้กับประเทศยากจนและป้องกันวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่อาจลุกลาม ส่งผลกระทบต่อวาระความมั่นคงระดับโลกของสหรัฐฯ
ประการที่สองคือ การแจกจ่ายความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ สามารถมองได้ว่าเป็นการป้องกันการขยายอิทธิพลของประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะรัสเซียและจีน
อย่างไรก็ตาม การระงับความช่วยเหลือต่างประเทศแทบทั้งหมดอาจส่งผลให้คู่แข่งอันดับ 1 อย่างจีนใช้โอกาสนี้เพื่อขยายอิทธิพลของตนเองในบางภูมิภาค เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปีที่มีการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ถึงกว่า 860 ล้านดอลลาร์
หยานจงหวง นักวิจัยอาวุโสด้านสุขภาพระดับโลกของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้สัมภาษณ์ Al Jazeera ว่า “การระงับโครงการด้านสุขภาพ การศึกษา และมนุษยธรรม ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์ของสหรัฐฯ อาจสร้างช่องว่างที่จีนสามารถเติมเต็มได้
“การถอยทัพเชิงยุทธศาสตร์ครั้งนี้สามารถเสริมสร้างอิทธิพลของปักกิ่งในภูมิภาคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในปัจจุบัน เช่น อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เมียนมา และกัมพูชา”
สัญญาณที่เริ่มปรากฏคือความเคลื่อนไหวของรัฐบาลปักกิ่งที่เข้ามาสนับสนุนเงินช่วยเหลือล้านดอลลาร์สำหรับโครงการกำจัดทุ่นระเบิดในกัมพูชา ซึ่งถูกวอชิงตันตัดงบช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนมองว่าความช่วยเหลือของ USAID ที่อุทิศทรัพยากรจำนวนมากให้กับโครงการริเริ่ม ซึ่งอิงตามอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตย กลุ่ม LGBTQIA+ ความหลากหลาย หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจไม่ใช่สิ่งที่จีนอยากเข้าไปแทนที่
จอห์น กง (John Gong) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธุรกิจระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์ในปักกิ่งมองว่า รัฐบาลจีนไม่น่าจะกระตือรือร้นที่จะแข่งขันกับสหรัฐฯ ในการให้ความช่วยเหลือลักษณะนี้
โดยความช่วยเหลือต่างประเทศของจีนมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก ตามที่ระบุไว้ในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเรือธงของปักกิ่งที่ประเมินมูลค่าไว้มากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์
สำหรับความช่วยเหลือต่างประเทศของจีนต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมด หรือราว 85% อยู่ในรูปแบบเงินกู้แบบไม่ผ่อนปรน โดยเน้นที่ด้านพลังงานและการขนส่ง
เกรซ สแตนโฮป (Grace Stanhope) ผู้ช่วยวิจัยจากศูนย์พัฒนาอินโด-แปซิฟิกของสถาบันโลวี (Lowy Institute’s Indo-Pacific Development Centre) กล่าวว่า “แนวทางที่เน้นโครงสร้างพื้นฐานของปักกิ่งทำให้ปักกิ่งมีบทบาทโดดเด่นในภูมิภาคนี้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นที่นิยมเสมอไปก็ตาม เนื่องมาจากความล่าช้าและงบประมาณที่บานปลาย”
ขณะเดียวกัน นักวิจารณ์บางคนชี้ว่าโครงการช่วยเหลือลักษณะนี้ของจีน เป็นรูปแบบหนึ่งของการทูตแบบ ‘กับดักหนี้’ ที่มุ่งหวังจะก่อให้เกิดการพึ่งพาจีน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
ภาพ: Kent Nishimura / File Photo / Reuters
อ้างอิง: