กกร. หั่น GDP ปี 2568 เหลือ 2.0-2.2% หวั่นหากทรัมป์ขึ้นภาษี 36% เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำ 0.7-1.4% เตือนปีนี้เศรษฐกิจโลกไม่เหมือนเดิม สงครามการค้าแข่งขันรุนแรง อาจบีบลูกจ้าง 3.7 ล้านคน SME 5 พันรายอ่อนแอ สูญรายได้อ่วม 1.6 ล้านล้านบาทใน 5 ปี
วันที่ 7 พ.ค. 2568 เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า มาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ กดดันภาคการส่งออก กระทบต่อการจ้างงานและ SME สินค้าส่งออกหลายกลุ่ม
โดยหากถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ที่อัตรา 36% มูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ อาจจะหายไปสะสมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาทภายใน 10 ปี นอกจากนี้ ยังเพิ่มแรงกดดันต่อกลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกจ้างประมาณ 3.7 ล้านคน และ SME เกือบ 5 พันราย ซึ่งต่างมีข้อจำกัดในการปรับตัวต่อภาวะผันผวนที่รุนแรงขึ้น
ดังนั้นประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 68 จะขยายตัวที่ 2.0-2.2% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 2.4-2.9% ทั้งนี้ ปัจจัยหลักจากผลกระทบของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ หากไทยถูกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ที่อัตรา 10% ในช่วงไตรมาส 2/68 (หลังมีการเลื่อนขึ้นภาษีเต็มรูปแบบออกไป 90 วัน) และอัตราภาษีในครึ่งปีหลังยังอยู่ที่ 10% ที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีเติบโตเพียง 0.3-0.9% จากประมาณการเดิมที่ 1.5-2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำที่ 0.5-1.0% ลดลงจากประมาณการเดิมเช่นกัน
“แต่ถ้าไทยถูกเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 36% ในครึ่งปีหลัง GDP ปี 68 จะโตเพียง 0.7-1.4% เหตุจากการส่งออกทั้งปีอาจหดตัวมากถึง -2% มากไปกว่านั้น ปัจจัยลบจากสงครามการค้าสามารถก่อให้เกิดหลุมรายได้ขนาดใหญ่ถึง 1.6 ล้านล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า รัฐบาลต้องเจรจากับสหรัฐฯ ให้สำเร็จ และเร่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยในภาวะที่ตลาดสินค้ามีการแข่งขันรุนแรงขึ้น” เกรียงไกรกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เจาะเบื้องหลัง ทำไมสหรัฐฯ ล้มโต๊ะเจรจาไทย ศึกภาษีทรัมป์จะไปจบที่ตรงไหน?
- ‘ไทย’ เซฟโซน? เปิดตัวเลขคำขอส่งเสริมลงทุน 8 อุตสาหกรรม ต่างชาติหนี Trade War มาลงทุนไทยมากแค่ไหน
- เช็กลิสต์อุตสาหกรรมไหนอ่วม หลังทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้าไทยสูง 37% ส.อ.ท. ถกด่วนผู้ส่งออกสหรัฐฯ คาดเสียหายหนัก 9 แสนล้านบาท
- ปลัดพลังงาน-ปตท. เยือนสหรัฐฯ ลุยเจรจานำเข้าก๊าซแหล่ง Alaska LNG 3-5 ล้านตันต่อปี
หวั่นต่างชาติสวมสิทธิ์สินค้าไทยส่งออกเพิ่มจาก 49 รายการ เป็น 65 รายการ
นอกจากนี้ กกร. ขอให้ภาครัฐป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดจากสถานการณ์เบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) จากมาตรการขึ้นภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ
โดยเฉพาะการใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure)ให้ใช้ระบบดิจิทัล e-Government เข้ามาช่วยเฝ้าระวังสถานการณ์สินค้าและภาครัฐสามารถเริ่มเปิดไต่สวนได้ทันทีหากพบว่ามีการนำเข้าสินค้าที่เพิ่ม
“กกร. กังวลปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้าส่งออกจากไทยไปตลาดสหรัฐฯ โดยนายกรัฐมนตรีได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯ ถึงแนวทางการเพิ่มความเข้มงวดในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form C/O ทั่วไปของไทยมากขึ้น ซึ่งเห็นชอบร่วมกันว่าในช่วงเข้มงวดนี้ ให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่จะออกหนังสือรับรอง Form C/O ทั่วไป 65 รายการ เพิ่มขึ้นจากเดิม 49 รายการ”
จับตา เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เจรจาสหรัฐ หวั่นต่อรองภาษีมากกว่า
กกร. มองว่า นอกเหนือจากการที่ไทยจะต้องเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ต้องติดตามผลการเจรจาคู่แข่งเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งหากประเทศเหล่านี้เจรจาขอยกเว้นหรือลดอัตราภาษีนำเข้าได้ต่ำกว่าไทย ก็อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้
“ระหว่างนี้ต้องจับตา หากสหรัฐฯ และจีนได้ส่งสัญญาณที่จะเตรียมการเจรจาเพื่อคลายความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองประเทศ ก็เป็นสัญญาณบวกต่อการค้าโลก”
ทั้งนี้ กกร. มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว มาอยู่ในช่วง 32.5-32.7 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าระดับที่ธุรกิจแข่งขันได้
“หลังจากที่นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำลงมาก เอกชนอยากเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ซึ่งระยะสั้นการอัดฉีดเม็ดเงินเป็นเรื่องจำเป็น”
มากไปกว่านั้น ควรมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เปิดตลาดใหม่มากขึ้น เร่งการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS
ภาพ: Adventtr, Getty image