วันที่ 3 เมษายน2568 พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ภาคเอกชน โดยมีหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางรับมือหลังจากสหรัฐฯ ว่า หลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าไทย 37% ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาษีรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาประชุมเพื่อตั้ง War Room รับมือกับมาตรการดังกล่าว โดยผลการหารือสรุปได้ดังนี้
ปัจจุบันไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ อยู่ที่ 40,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 70% ดังนั้นเพื่อรับมือกับมาตรการภาษีจึงต้องทำให้สัดส่วนการเกินดุลของไทยที่มีต่อสหรัฐฯ ลดลง ซึ่งที่ประชุมได้สรุปแนวทางเพื่อเจรจากับสหรัฐฯ ไว้ดังนี้
- นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้น โดยไทยพร้อมนำเข้าสินค้าหลายประเภทจากสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด
- สินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ต้องเป็นสินค้าที่สามารถนำมาผลิตหรือแปรรูปในไทยเพื่อส่งออกได้ เพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศ
“เราจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้นเพื่อนำมาผลิต แปรรูป และส่งออกไปสหรัฐฯ ให้มากขึ้น เพื่อทำให้การเกินดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับไทยลดลง โดยไทยพร้อมนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ หลายชนิด เช่น ข้าวโพด ปลาทูน่า ซึ่งรัฐบาลพร้อมแก้กฎเกณฑ์ที่มีอยู่เพื่อให้นำเข้าสินค้าบางรายการเข้ามาได้จากปัจจุบันที่นำเข้ามาไม่ได้”
- ส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยมาขึ้น ด้วยการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ซึ่งเป็นเอกสารใช้เพื่อรับรองสินค้าของผู้ส่งออกว่าส่งออกมาจากประเทศใดให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดรายชื่อประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ เก็บภาษีสูงสุด และ 8 อันดับชาติอาเซียน ทรัมป์เก็บภาษีโหดแค่ไหน?
- สรุปไทม์ไลน์ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีอะไรไปบ้าง จับตา 2 เม.ย. สหรัฐฯ ประกาศตอบโต้…
- เหล็กไทยน่าห่วงแค่ไหน? ในวันที่ทรัมป์ขึ้นภาษี โรงงานจีนถล่ม ธุรกิจทยอยปิด เหลือกำลังผลิตแค่ 28%
- เปิด 10 สินค้าไทยเสี่ยงโดนสหรัฐฯ ขึ้นภาษี ทรัมป์ไล่เช็กบิลประเทศไหนไปแล้วบ้าง
“จะเห็นว่าปัจจุบันยอดส่งออกเพิ่มขึ้นแต่ยอดการผลิตไม่เพิ่มขึ้น เพราะมีธุรกิจที่มาจดทะเบียนในไทยแต่ไม่ได้ผลิตในไทย ดังนั้นเราก็ต้องทำเรื่องนี้ให้เข้มข้นขึ้นเพื่อทำให้ยอดส่งออกสินค้าที่ไม่ได้ผลิตในไทยลดลง”
ทั้งนี้ มาตรการทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเป้าหมายในการลดการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ แต่เป็นทำให้ช่องว่างของการได้เปรียบดุลการค้าลดลง ความสำคัญคือการเพิ่มขีดความสามารถในการนำเข้าสินค้าที่ไทยต้องการเพื่อนำมาผลิตและส่งออกให้ได้ โดยหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการในรายละเอียดต่อไป
พิชัยเปิดเผยต่อว่า นอกจากมาตรการภาษีแล้วสหรัฐฯ ยังดำเนินการเรื่องมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non Tariff Barriers) โดยการรับมือในเรื่องนี้ไทยจะลดกฎเกณฑ์รวมถึงภาษีนำเข้าสินค้าที่สหรัฐมองว่าเป็นกำแพงการกีดกันทางการค้า
“ตอนนี้มีสินค้าบางอย่างที่เรากำหนดกำแพงภาษีไว้สูง แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้นำเข้าสินค้านั้นเลย พอคนเขาดูเขาก็ว่าเราเก็บแพงแต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้เก็บเพราะไม่ได้นำเข้า เรื่องนี้ก็อันตรายกับเรา ทำให้คนอื่นเขามองเราเป็นผู้ร้าย ดังนั้นเราก็ต้องไปแก้ตรงนี้ เช่น มอเตอร์ไซค์ ฮาร์เลย์ เราตั้งกำแพงภาษีไว้สูง 40-60% แต่สหรัฐฯ เขาอยากมาขายที่ไทยเขาเลยมาตั้งฐานการผลิต ดังนั้นภาษีตรงนี้ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งไว้สูงแล้ว”
พิชัยระบุอีกว่า จะเร่งรัดการดำเนินการแนวทางดังกล่าวให้เร็วที่สุด และเตรียมนำทีมไปเจรจากับทางสหรัฐฯ ในเรื่องดังกล่าวภายใน 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้ผลกระทบที่มีต่อไทยเกิดขึ้นน้อยที่สุด ทั้งนี้ ประเมินว่าหากไทยไม่ดำเนินการมาตรการทั้งหมดนี้ การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จะกระทบกับ GDP ไทยไม่น้อยกว่า 1%
“เรียกว่าเป็น World Crisis ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของการค้า ตอนนี้ไม่ว่าประเทศไหนก็กระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ถ้าให้คำนวณใหม่วันนี้ผมก็มองว่ากระทบ GDP เยอะ อย่างน้อยก็ 1% ดังนั้นเมื่อเรารู้ปัญหาแล้วเราก็ต้องหาทางแก้เพื่อดึง 1% นั้นกลับมา” พิชัยกล่าว
สำหรับนโยบายการเงินต้องมีส่วนช่วยหรือไม่ พิชัยกล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความเป็นอิสระ อย่างไรก็ตามอยากให้นโยบายการเงินเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกโดยเฉพาะเรื่องค่าเงินที่ควรอ่อนค่ากว่าประเทศอื่นๆ
ด้าน พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ยอมรับว่า “ค่อนข้างตกใจ” ส่วนตัวเลขทางเศรษฐกิจ GDP จะถูกปรับลดลงหรือไม่ พิชัยระบุว่า ยังไม่รู้ว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ระบุว่า สิ่งที่ไทยเตรียมการไปเจรจากับสหรัฐ มี 3 มาตรการ คือ
- ปรับลดภาษีสินค้านำเข้าบางรายการ
- เพิ่มการนำเข้าสินค้าบางรายการที่ยังไม่เคยนำเข้า
- ลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้า เช่น การตรวจสอบสินค้าที่อาจอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าจากไทย