ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เริ่มปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าสร้างความปั่นป่วนให้กับชาวอเมริกันเสียเอง เมื่อสงครามการค้าครั้งนี้ไม่มีท่าทีจบลงง่าย ผู้บริโภคชาวอเมริกันจึงต้องทำความเข้าใจเรียนรู้ข้อมูลพื้นฐาน ใครจ่าย ใครเก็บ โดยล่าสุดทรัมป์ เตรียมเก็บสินค้าราคาต่ำกว่า 800 ดอลลาร์จากจีน 90% จากเดิมอัตรา 30% โดยเล็งเป้าไปที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ Temu และ Shein
ภาษีนำเข้า (Tariff) คืออะไร
ในทางเทคนิคแล้ว ภาษีนำเข้าหรืออากรเป็นภาษีที่ต้องชำระสำหรับสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออก แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นอากรก่อน โดยปกติจะคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสินค้า (ตามที่ประกาศไว้ในกระบวนการพิธีการศุลกากร) และกำหนดตามประเทศต้นทางของสินค้า
Reciprocal Tariff คืออะไร?
Reciprocal Tariff คือมาตรการภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ (Ad Valorem Tariff) ที่สหรัฐอเมริกากำหนดขึ้นล่าสุดกับสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อสร้าง ‘ความสมดุลทางการค้า’ กับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในกรณีที่อีกฝ่ายกำหนดภาษีหรือมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่เท่าเทียมกับสินค้าจากสหรัฐฯ
มาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อ ‘ตอบโต้’ ความไม่เป็นธรรมทางการค้า ทั้งในแง่ภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers)
ใครเป็นผู้จ่ายภาษีนำเข้า
ภาษีนำเข้าชำระโดยผู้นำเข้าโดยตรง หรือคนกลางที่ดำเนินการในนามของผู้นำเข้า โดยจากการศึกษาวิจัยชี้ว่า ภาระต้นทุนภาษีนำเข้าในท้ายที่สุดนั้นไม่มีความแน่นอน โดยผู้ส่งออกและผู้บริโภคปลายทางนั้นคือชาวอเมริกันต้องแบกรับภาระอย่างน้อยบางส่วน
ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ถูกเรียกเก็บและบังคับใช้อย่างไร ?
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่กำหนดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีศุลกากร โดยมีหน่วยงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ (U.S. Customs and Border Protection: CBP) เป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่มีหน้าที่บังคับใช้ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวที่ท่าเรือเข้าออกเกือบ 330 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงการข้ามพรมแดนทางถนนหรือทางรถไฟ ตลอดจนท่าเรือและสนามบิน เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสาร ดำเนินการตรวจสอบบัญชี และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าปรับ
สินค้าที่ข้ามพรมแดนจะมีรหัสตัวเลขภายใต้ชื่อมาตรฐานที่เรียกว่า ‘ระบบประสานงานระหว่างประเทศ’ ภาษีศุลกากรสามารถกำหนดให้กับรหัสผลิตภัณฑ์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ เช่น รถบรรทุก หรือหมวดหมู่กว้างๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า
รวมถึงสินค้าและส่วนประกอบบางประเภทที่เป็นสินค้าข้ามพรมแดน ก่อนที่จะกลายเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น รถยนต์ที่มีชิ้นส่วนที่ผลิตในสหรัฐฯ ประกอบในเม็กซิโกและนำเข้าอีกครั้งสู่สหรัฐฯ ภายใต้กฎ CBP ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในสหรัฐฯ ที่นำเข้าอีกครั้งสู่ประเทศโดยไม่มีการ ‘ปรับปรุงแปรรูป’ หรือ ‘เพิ่มมูลค่า’ ส่วนนี้จะได้รับการยกเว้นภาษี
แต่หากสมมติว่าสหรัฐฯ ส่งออกทองคำไปยังอินเดีย ซึ่งทองคำจะถูกนำไปใช้ทำต่างหู ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายจะต้องเสียภาษีศุลกากรเมื่อเข้าสู่สหรัฐฯ อีกครั้ง ในกรณีนั้น แม้แต่มูลค่าของทองคำก็จะถูกเรียกเก็บภาษี
เงินจะไปไหน
เงินจะถูกเก็บรวบรวมในเวลาที่พิธีการศุลกากรและฝากไว้ในกองทุนทั่วไปของกระทรวงการคลัง ผู้นำเข้าที่ไม่สามารถชี้แจงปริมาณ ประเภท หรือ ‘แหล่งกำเนิดของสินค้า’ บางอย่างได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือความประมาทเลินเล่อ จะต้องถูกลงโทษ
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสหรัฐฯ เตรียมปรับอัตราภาษีศุลกากรใหม่จากจีนเพื่อสกัดสินค้าราคาถูก โดยทรัมป์ให้เหตุผลว่าเตรียมเพิ่มอัตราภาษีสำหรับพัสดุขนาดเล็กจากจีนที่ได้รับการยกเว้นภาษีมาตั้งแต่ปี 1930 ซึ่งที่ผ่านมาส่งผลให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน เช่น Temu และ SHEIN ใช้ช่องโหว่ (de-minimis) เพื่อเข้าสู่ตลาดปลอดอากรของสหรัฐฯ จนถึงปัจจุบัน
ดังนั้นทรัมป์จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่มีราคาไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 90% ของมูลค่าสินค้า เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมที่จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 30% ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2025 สำหรับพัสดุที่เข้ามาหลังวันที่ 1 มิถุนายนจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 150 ดอลลาร์ต่อรายการ แทนที่จะเป็น 50 ดอลลาร์ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ การตัดสินใจดังกล่าวของทรัมป์เกิดขึ้นหลังจีนตอบโต้การขึ้นภาษี
จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้บริโภคชาวอเมริกันซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และนำกลับมาที่สหรัฐอเมริกา?
กรณีขั้นต่ำ 800 ดอลลาร์ก็ใช้กับผู้ที่เดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาพร้อมกับสินค้าที่ซื้อจากต่างประเทศ แต่จะมีข้อยกเว้นบางสินค้า เช่น งานศิลปะเป็นสินค้าปลอดภาษี ดังนั้นหากใครซื้อภาพวาดมูลค่า 5,000 ดอลลาร์ในอิตาลีก็จะไม่ต้องเสียภาษีใดๆ
ขณะเดียวกันจำนวนผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สามารถนำเข้าสหรัฐฯ ปลอดภาษีก็มีข้อจำกัด หากบุคคลนั้นออกจากสหรัฐฯ มากกว่าหนึ่งครั้งในช่วง 30 วันที่ผ่านมา อัตราการยกเว้นภาษีจะลดลงเหลือ 200 ดอลลาร์
ภาพ: Per-Anders Pettersson / Getty Images
อ้างอิง: