หลายสำนักวิจัยเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ได้ปรับลดประมาณการ GDP ของไทยลงเหลือโตไม่เกิน 2% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
สาเหตุหลักมาจากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีสัญญาณที่ไม่ดีในหลายด้าน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ สัญญาณนี้กำลังบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะมีการเติบโตที่ช้าลงกว่าที่คาดการณ์ไว้
ความไม่แน่นอนหลักที่อาจมีผลต่อ GDP ในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงจาก 3% เหลือ 1.7%
โดยเฉพาะต้องแบกรับความเสี่ยงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น กำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ความขัดแย้งอิสราเอล-อิหร่าน, ความตึงเครียดไทย-กัมพูชา, เสถียรภาพรัฐบาล รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นช้า อัตรากำลังการผลิตยังต่ำ การลงทุนภาคเอกชนติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4
การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังเสี่ยงลดลง เพราะสหรัฐฯ ได้เร่งนำเข้าไปล่วงหน้าไปในช่วงครึ่งปีแรกแล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง และยังคาดการณ์ว่าหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะปรับสูงขึ้น เป็น 87.4%
มากไปกว่านั้น สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจไทย เมื่อเช้าวันนี้ (8 ก.ค.) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไทยว่า ตั้งแต่ 1 ส.ค. 2568 เป็นต้นไป สินค้าทุกชนิดจากประเทศไทยจะถูกเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 36%
จดหมายดังกล่าวถือเป็น ‘คำขาด’ ทางการค้า (trade ultimatum) ของสหรัฐฯ ที่ระบุเงื่อนไขชัดเจน หากไทยไม่ลด ‘ดุลการค้า’ กับสหรัฐฯ ก็จะต้องเผชิญภาระภาษีนำเข้าสูงถึง 36% ทันที (โดยไม่มีข้อยกเว้นตามหมวดสินค้า)
หมายความว่า การเก็บภาษี 36% นี้มีผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับหนึ่งของไทย (ดุลการค้าที่ไทยเกินดุลกับสหรัฐฯ ถึงราว 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หากอัตราภาษีสูงเช่นนี้บังคับใช้จริง ปริมาณการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ จะลดลงอย่างมาก เสียหายถึง ‘ล้านล้านบาท’
แต่หากไทยพร้อม ‘เปิด’ ตลาดที่ปิดอยู่ สหรัฐฯ ก็พร้อมปรับอัตราภาษีนี้ ก่อน 1 ส.ค. โดยทิ้งท้ายในจดหมายว่า ‘You will never never be disappointed with The United States of America’
จึงเป็นโจทย์วัดฝีมือ ‘รัฐบาลแพทองธาร’ และโฉมหน้า ครม. ชุดใหม่ รวมถึงทีมไทยแลนด์ จะต้องเร่งทำการบ้านให้หนักขึ้น เพื่อกลับมาต่อรองอีกรอบ กอบกู้เศรษฐกิจประเทศ ให้พ้นวิกฤตเหล่านี้ไปได้อย่างไร
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร