สงครามการค้าของสหรัฐฯ เริ่มเห็นผลลัพธ์ หลังเปิดศึก Reciprocal Tariff แค่เดือนเมษายนเดือนเดียว ดันรายได้ภาษีอากรนำเข้าจากสินค้าของสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 16.3 พันล้านดอลลาร์ โตก้าวกระโดดถึง 87.4%
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์ข้อความให้ความเห็นผ่าน Facebook ระบุว่า หนึ่งในเป้าหมายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเข้าสู่สงครามการค้าคือการหารายได้เพิ่มเข้ารัฐ ซึ่งหลายคนถามว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นจริงไหม จะเพิ่มขึ้นเท่าไร จะเป็นชิ้นเป็นอันหรือไม่
ล่าสุด The Wall Street Journal รายงานจากข้อมูลกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯ เก็บภาษีอากรนำเข้าจากสินค้าต่างๆ เพิ่มเป็น 16.3 พันล้านดอลลาร์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากเดิมเก็บได้ 8.7 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนมีนาคมปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 87.4% จากภาษี 25% ที่คิดกับเม็กซิโกและแคนาดา ภาษีเฉพาะ 25% สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม ตลอดจน Reciprocal Tariff ประมาณ 10% สำหรับประเทศต่างๆ ที่เริ่มต้นคิดบ้างแล้วซึ่งเมื่อเริ่มเก็บกันอย่างจริงจังรายได้จาก Tariff จะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้
Reciprocal Tariff หนุนสหรัฐฯ มีรายได้เพิ่ม 4-5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี
สำหรับในระยะยาวเริ่มมีผลการศึกษาที่น่าสนใจออกมาเช่นกัน โดยการศึกษาของ Wharton มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเมินคร่าวๆ ว่า รายได้สหรัฐฯ จาก Tariff จะเพิ่มขึ้น เฉลี่ยประมาณ 4-5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี รวมเป็นเงินประมาณ 4.5-5 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเทียบกับการขาดดุลการคลังสหรัฐฯ 1.05 ล้านล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้วก็จะช่วยปิด Gap เรื่องนี้ไปได้ประมาณ 50%
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับหนี้ภาครัฐของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีอยู่ประมาณ 31 ล้านล้านดอลลาร์ถือว่ายังไม่มากพอจะช่วยชะลอไม่ให้หนี้เพิ่มขึ้นเร็วเหมือนอดีต และช่วยให้มีช่องให้ท่าประธานาธิบดีไปลดภาษี No Tax on Tips, No Tax on Overtimes, No Tax on Social Securities ตามที่สัญญาไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งกำลังจะออกมาประกาศใช้เร็วๆ นี้
รวมทั้งช่วยสร้างแรงจูงใจให้หลายบริษัทมาลงทุนผลิตในสหรัฐฯ ที่ล่าสุดมีตัวเลขแสดงความจำนงประมาณ 5-6 ล้านล้านดอลลาร์
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ถึงไม่ยอมยกเลิกเรื่อง Tariff ไปเลย และไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงมีตัวเลข 10% ออกมาตลอดเวลา 10% สำหรับทุกประเทศ ภายใต้ Reciprocal Tariff แม้จะเป็นประเทศที่สหรัฐฯ เกินดุลการค้าด้วย หรือเป็นประเทศที่เปิดกว้างทางการค้าเช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ 10% สำหรับประเทศต่างๆ ที่ได้ชะลอออกไป 90 วัน ภายใต้ Reciprocal Tariff
สำหรับสินค้านำเข้าจากอังกฤษ ทั้งๆ ที่เจรจากันแล้ว และอังกฤษก็ยอมไปหลายอย่างแล้ว 10% สำหรับสินค้าจีน ในช่วง PAUSE 90 วัน โดยดีลต่อๆ ไปก็จะทำให้ภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ คงขีดเส้นไว้สำหรับทีมเจรจาสหรัฐฯ สั่งให้ยอมได้หลายๆ อย่าง แต่ว่าต่ำสุดต้องคิด Tariff ที่ 10% ให้ได้มารอติดตามกัน
ท้ายที่สุดแล้ว ในกลุ่มประเทศที่ถูกคิดเกิน 10%อัตราจะอยู่ที่ประมาณเท่าไร และกรณีจีน หลัง 90 วัน จะไปจบที่อัตราอะไรเพราะล่าสุด สินค้าชิ้นเล็กๆ จากจีน ที่ราคาต่ำกว่า 800 ดอลลาร์ (ซึ่งใช้พื้นที่ถึง 90% ของเรือขนส่งสินค้าจากจีนที่เข้ามาที่ท่าเรือสหรัฐฯ) ไม่ได้รับการยกเว้นภายใต้สิ่งที่ตกลงกันที่เจนีวาให้เหลือ 10% แต่ต้องจ่ายภาษี 10+10+34 = 54%
ทั้งหมดจะเป็นโครงสร้างภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐฯ ที่กำลังค่อยๆ เฉลยออกมา ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดอนาคตการส่งออกไทย ในช่วงครึ่งหลังของปี ว่าจะไปได้ไหม และเป็นตัวกำหนดว่า China Flooding จะเข้ามาที่เราแค่ไหน หมายความว่า เราคงต้องมีทีมเร่งหาตลาดใหม่ๆ ในช่วงที่เหลือ เตรียมไว้เป็นทางออกที่จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา เผื่อเอาไว้ด้วย
ภาพ: noamgalai / Shutterstock