โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์วัย 78 ปี อาจสร้างประวัติศาสตร์คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสมัยที่ 2 โดยจะเป็นทั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 และ 47 หากสามารถเอาชนะ คามาลา แฮร์ริส คู่ท้าชิงจากพรรคเดโมแครตได้
การดำรงตำแหน่งในช่วงสมัยแรกของทรัมป์เรียกได้ว่าเป็นการสร้าง ‘ปรากฏการณ์’ ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ จากบทบาทแข็งกร้าวในนโยบายต่างประเทศต่ออิหร่านและการเปิดฉากสงครามการค้ากับจีน การแสดงจุดยืนรักษาผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน และการดำเนินนโยบายคนเข้าเมืองที่เข้มงวด ทั้งการห้ามพลเมืองจากหลายประเทศมุสลิมเข้าประเทศ การสร้างกำแพงแนวชายแดนเม็กซิโก และการเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมาย
หากเขาชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2 แน่นอนว่าหนทางข้างหน้ายังเต็มไปด้วยความท้าทาย ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง สงคราม และภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากทั่วโลก
และนี่คือเรื่องราวชีวประวัติบางส่วนของหนึ่งในผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้นำทำเนียบขาว ที่อาจกำหนดทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกตลอด 4 ปีข้างหน้า
เติบโตสู่มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์
โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 1946 ในควีนส์ รัฐนิวยอร์ก เขาเป็นบุตรคนที่ 4 จากบุตรทั้งหมด 5 คนของ เฟรเดอริก นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ แมรี ทรัมป์ ไฮโซและนักการกุศลชาวนิวยอร์ก
ในช่วงทศวรรษ 1950 ความมั่งคั่งของตระกูลทรัมป์เพิ่มขึ้นพร้อมกับการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ทรัมป์เติบโตมาแบบเด็กชายที่กระตือรือร้นและมั่นใจในตนเอง ในวัย 13 ปีเขาเริ่มประพฤติตัวไม่ดีในโรงเรียน ส่งผลให้พ่อและแม่ตัดสินใจส่งเขาไปเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยนิวยอร์ก (New York Military Academy) โดยหวังให้ระเบียบวินัยของโรงเรียนช่วยขัดเกลาและส่งเสริมความกระตือรือร้นของเขาไปในทางบวก
เขาทำได้ดีทั้งในด้านสังคมและวิชาการ จนกลายเป็นนักกีฬาดาวเด่นและผู้นำนักเรียน ก่อนจะศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮมในปี 1964 และย้ายไปเรียนสาขาเศรษฐศาสตร์ที่โรงเรียนการเงินวอร์ตัน (Wharton School of Finance) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ในอีก 2 ปีต่อมา กระทั่งสำเร็จการศึกษาในปี 1968
หลังสำเร็จการศึกษา ทรัมป์รับสืบทอดบริษัทต่อจากพ่อ เนื่องจาก เฟรด พี่ชายของเขา เลือกที่จะเป็นนักบิน โดยมีส่วนช่วยบริหารโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ในนิวยอร์ก และได้อำนาจบริหารบริษัทเต็มตัวในปี 1971 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Trump Organization ซึ่งภายใต้การบริหารของทรัมป์ได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจของครอบครัว จากโครงการที่พักอาศัยระดับกลางในย่านบรูกลินและควีนส์มาเป็นโครงการหรูหราในแมนฮัตตัน
โดยถนน Fifth Avenue กลายมาเป็นที่ตั้งของ Trump Tower ซึ่งต่อมาเป็นทั้งบ้านและทรัพย์สินที่มีชื่อเสียงที่สุดของทรัมป์
ทรัพย์สินอื่นๆ ที่ใช้ชื่อแบรนด์ของทรัมป์มีทั้งคาสิโน, คอนโดมิเนียม, สนามกอล์ฟ และโรงแรม ในหลายเมืองของสหรัฐฯ และต่างประเทศ เช่น อินเดีย ตุรกี และฟิลิปปินส์
ชีวิตครอบครัว-สัมพันธ์ฉาว
สำหรับชีวิตครอบครัว ในปี 1977 ทรัมป์แต่งงานครั้งแรกกับ อิวานา เซลนิชโควา นางแบบและอดีตนักสกีชาวเชโกสโลวาเกีย และมีลูกด้วยกัน 3 คน ได้แก่ โดนัลด์ จูเนียร์, อิวานกา และเอริก ก่อนจะหย่าขาดจากกันในปี 1992 หลังทรัมป์ตกเป็นข่าวว่ามีความสัมพันธ์กับ มาร์ลา เมเปิลส์ หญิงสาวที่ต่อมากลายเป็นภรรยาคนที่ 2 ซึ่งทรัมป์แต่งงานด้วยในปี 1993
ทรัมป์กับมาร์ลามีลูกสาวด้วยกัน 1 คนชื่อ ทิฟฟานี และชีวิตสมรสของทั้งคู่ก็ยืนยาวต่อมาอีก 6 ปี ก่อนที่ทั้งคู่จะหย่าขาดจากกันในปี 1999
ในปี 2005 ทรัมป์ตัดสินใจแต่งงานรอบที่ 3 กับ เมลาเนีย คเนาส์ หรือปัจจุบันคือ เมลาเนีย ทรัมป์ และมีลูกชายด้วยกันอีก 1 คน คือ บาร์รอน วิลเลียม ทรัมป์ ซึ่งเพิ่งอายุครบ 18 ปี
อย่างไรก็ตาม หลังเข้าสู่แวดวงการเมือง เขาเผชิญกับหลายข้อกล่าวหาอื้อฉาว ทั้งเรื่องการประพฤติผิดทางเพศและความสัมพันธ์นอกสมรส
โดยเมื่อต้นปีที่แล้ว คณะลูกขุนในนิวยอร์กตัดสินความผิดในคดีล่วงละเมิดทางเพศนักเขียนหญิง อี. จีน แคร์รอล ในช่วงทศวรรษที่ 1990 และทำให้เธอเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการโพสต์ข้อความลงแพลตฟอร์ม Truth Social ว่าข้อกล่าวหาของเธอเป็นคำโกหก ซึ่งศาลสั่งให้ทรัมป์จ่ายเงินเธอทั้งหมด 88 ล้านดอลลาร์ แต่เขาได้ยื่นอุทธรณ์
นอกจากนี้ทรัมป์ยังถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา 34 กระทง ฐานปลอมแปลงเอกสารทางธุรกิจ เพื่อปกปิดข้อตกลงเรื่องการจ่ายเงินปิดปาก สตอร์มี แดเนียลส์ นักแสดงหนังผู้ใหญ่ จากกรณีความสัมพันธ์นอกสมรสในปี 2006
ชื่อเสียง-ความล้มเหลว
ทรัมป์ยังสร้างชื่อในวงการบันเทิงจากการเป็นเจ้าของเวทีประกวดนางงาม Miss Universe, Miss USA และ Miss Teen USA จากนั้นจึงเป็นผู้จัดรายการเรียลิตี้โชว์ The Apprentice ของ NBC
นอกจากนี้เขายังเขียนหนังสือหลายเล่มและปรากฏตัวทั้งในภาพยนตร์และรายการมวยปล้ำอาชีพ รวมทั้งยังทำธุรกิจขายสินค้าทุกประเภท ตั้งแต่เครื่องดื่มไปจนถึงเนกไท
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์เคยยื่นล้มละลายทางธุรกิจมาแล้ว 6 ครั้ง และธุรกิจหลายอย่างของเขารวมถึง Trump Steaks และ Trump University ก็ล้มละลาย
โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของเขาลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่ง Forbes ประเมินว่า ปัจจุบันเขามีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่เขายังเคยเผชิญคดีความและข้อครหาเรื่องการปกปิดข้อมูลภาษี และยังถูกศาลตัดสินโทษปรับเงินเกือบ 355 ล้านดอลลาร์สหรัฐในคดีตกแต่งข้อมูลทรัพย์สินเพื่อหลอกลวงผู้ให้กู้ยืมเงิน
เส้นทางสู่การเมือง
จากบทบาทนักธุรกิจใหญ่ มีหลายครั้งที่ทรัมป์ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ทั้งในแง่สนอกสนใจและประชดประชัน ถึงขั้นมองว่าชีวิตของนักการเมืองนั้นโหดร้าย
ในปี 1987 ทรัมป์เคยลงโฆษณาเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์ใหญ่ 3 ฉบับ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศและวิธีขจัดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลาง ก่อนที่ในปีต่อมาเขาจะเข้าพบ ลี แอตวอเตอร์ ที่ปรึกษาประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน แห่งพรรครีพับลิกัน เพื่อขอพิจารณาเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีร่วมกับ จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ที่ขณะนั้นเป็นตัวแทนผู้สมัครชิงประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน โดยบุชมองว่าคำขอดังกล่าวค่อนข้าง ‘แปลกและไม่น่าเชื่อ’
อย่างไรก็ตาม เขาผ่านการเป็นสมาชิกพรรค ทั้งรีพับลิกัน เดโมแครต และพรรคอิสระอย่างพรรค Reform (ที่เขาเคยเปิดตัวลงสมัครชิงประธานาธิบดีอยู่ 3 เดือน ก่อนจะถอนตัว)
กระทั่งปี 2011 ทรัมป์แสดงท่าทีว่าต้องการลงสมัครชิงประธานาธิบดีแข่งกับ บารัก โอบามา ในการเลือกตั้งปี 2012 แต่ท้ายที่สุดก็ประกาศไม่ลงสมัคร
กระทั่งเดือนมิถุนายน 2015 ทรัมป์ตัดสินใจประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2016 โดยประกาศถ้อยแถลงว่า ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ (American Dream) นั้นได้ตายไปแล้ว แต่เขาสัญญาว่าจะ ‘นำมันกลับมาอย่างยิ่งใหญ่และดีขึ้นกว่าเดิม’
ช่วงสมัยแรกของทรัมป์เต็มไปด้วยปรากฏการณ์ ทั้งการเดินหน้าหลายนโยบายที่ถูกมองว่า ‘สุดโต่ง’ ทั้งการทำสงครามการค้ากับจีน การดำเนินนโยบายผู้อพยพเข้าเมืองที่เข้มงวด เช่น การเนรเทศผู้อพยพเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย หรือการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก ตลอดจนการถอนสหรัฐฯ จากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านและข้อตกลงปารีส
แต่ในอีกแง่หนึ่ง ทุกอย่างที่เขาทำก็สามารถมองได้ว่าเป็นไปตามคำพูดที่เขาเน้นย้ำคือ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America First) และคำมั่นที่จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make America Great Again) ที่ยังคงเป็นสโลแกนหาเสียงของเขาในรอบนี้
หากเขาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ได้สำเร็จ จะมีบททดสอบสำคัญรออยู่ โดยเฉพาะนโยบายหลากหลายที่เขาประกาศไว้ในช่วงหาเสียง ทั้งนโยบายผู้อพยพ, เศรษฐกิจ, การค้า, การต่างประเทศ และท่าทีกับคู่ปรปักษ์ เช่น จีน รัสเซีย และอิหร่าน ท่ามกลางฉากทัศน์ความขัดแย้งที่ลุกลามอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะยูเครนและตะวันออกกลาง คาดว่าจะมีผลอย่างมากต่อหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ภาพ: Robert Perry / Stringer
อ้างอิง: