×

จับตาการเยือนอ่าวอาหรับของทรัมป์ เมื่อซาอุ กาตาร์ และ UAE กำลังเดิมพันกับ ‘ดีลแห่งชีวิต’

12.05.2025
  • LOADING...
ทรัมป์ เยือนอ่าวอาหรับ

บทวิเคราะห์ CNN มองว่า การเดินหน้าหาพันธมิตรที่มีความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ตัดสินใจเลือกเยือนซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และกาตาร์ ท่ามกลางบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีการแข่งขันดุเดือด

 

ในสายตาของทรัมป์ รัฐอ่าวเหล่านี้คือ ‘ผู้เล่นที่ใช่’ พวกเขาลงทุนในเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ซื้ออาวุธราคาแพงจากบริษัทอเมริกัน และพร้อมที่จะเป็นตัวกลางในข้อขัดแย้งระดับโลกที่เขาต้องการมีบทบาท ไม่ว่าจะเป็นสงครามกาซา ยูเครน หรือการรับมือกับอิหร่าน ท่ามกลางความสัมพันธ์กับยุโรปและพันธมิตรดั้งเดิมที่เริ่มสั่นคลอน อ่าวอาหรับจึงกลายเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ที่ทั้งให้ผลตอบแทนและพื้นที่ในการแสดงบทบาทผู้นำโลก

 

ซาอุดีอาระเบีย ความมั่นคงคือหัวใจหลักของดีล

 

เป้าหมายของซาอุดีอาระเบียในการต้อนรับทรัมป์นั้นชัดเจน นั่นคือความต้องการในข้อตกลงด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ ที่มีผลผูกพันและชัดเจน หลังจากดีลร่วมด้านการป้องกันประเทศที่เกือบจะสำเร็จเมื่อปีที่แล้วต้องสะดุด เพราะเงื่อนไขที่ซาอุต้องการให้สหรัฐฯ ผลักดันอิสราเอลยอมรับเส้นทางสู่การตั้งรัฐปาเลสไตน์

 

ขณะเดียวกัน ริยาดยังเดินหน้าเจรจาขอความร่วมมือในการพัฒนาโครงการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อพลเรือน โดยมีประเด็นสำคัญคือต้องการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในประเทศ ซึ่งจุดชนวนความกังวลเรื่องการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ในสายตาวอชิงตันและเทลอาวีฟ

 

การเสนอให้บริษัทอเมริกันเข้ามามีบทบาทในโครงการนี้ คือสิ่งที่ซาอุใช้ดึงดูดความสนใจ ขณะที่ทรัมป์เองเคยกล่าวว่าหากซาอุลงทุน 1 ล้านล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ เขาก็พร้อมจะเดินทางไปเยือน และแม้ริยาดจะไม่ได้ยืนยันตัวเลขนั้นตรงๆ แต่ก็ประกาศแผนการเพิ่มมูลค่าการค้ากับสหรัฐฯ ถึง 600,000 ล้านดอลลาร์ภายใน 4 ปี ซึ่งสะท้อนทิศทาง Win-Win ที่ทั้งสองฝ่ายต่างหวังผลประโยชน์ร่วมกัน

 

ทว่าความท้าทายก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ลดลงจากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ ซึ่งอาจกระทบกับแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ที่ต้องใช้รายได้จากน้ำมันมหาศาลเป็นทุนในการเปลี่ยนผ่านประเทศให้พ้นจากการพึ่งพาพลังงาน

 

UAE ขับเคลื่อนด้วย AI และเงินลงทุนระดับโลก

 

UAE อาจเป็นประเทศในอ่าวอาหรับที่ลงทุนในสหรัฐฯ อย่างมีกลยุทธ์และหนักแน่นที่สุด ภายใต้การสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็น ‘เมืองหลวงของเงินทุน’ (The Capital of Capital) อาบูดาบีไม่เพียงแต่ใช้เงินเป็นเครื่องมือสร้างอิทธิพล หากแต่ใช้เป็นคันโยกสำคัญในการต่อรองอำนาจด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต

 

แผนลงทุนมูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นไปที่ AI, เซมิคอนดักเตอร์, พลังงาน และอุตสาหกรรมขั้นสูง สะท้อนความทะเยอทะยานที่จะเป็นผู้นำโลกด้านเทคโนโลยีภายในปี 2031 แต่ภายใต้ยุคของ โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการเข้มงวดในการจำกัดการส่งออกชิปและเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะกับประเทศที่มีความใกล้ชิดกับจีน ซึ่ง UAE ก็ติดอยู่ในรายชื่อที่ถูกจำกัดการเข้าถึง

 

ทรัมป์จึงถูกคาดหวังว่าจะยกเลิกมาตรการเหล่านี้ เพื่อเปิดทางให้ UAE ได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาภาคเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่ออาบูดาบีเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสใหม่สำหรับบริษัทเทคโนโลยีอเมริกันในการเข้าถึงตลาดเงินทุนที่มหาศาลที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

กาตาร์ พันธมิตรเก่า กับบทบาทใหม่ในเวทีไกล่เกลี่ย

 

แม้จะมีพื้นที่และประชากรน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค แต่กาตาร์กลับถือไพ่สำคัญในแง่ความสัมพันธ์กับกองทัพสหรัฐฯ โดยฐานทัพ Al Udeid ที่ตั้งอยู่ในประเทศ ถือเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติการของสหรัฐฯ ทั่วตะวันออกกลาง และถูกขยายเวลาการใช้งานออกไปอีก 10 ปีภายใต้ข้อตกลงลับเมื่อปีก่อน

 

การได้รับสถานะ ‘พันธมิตรนอกนาโต้’ (Major Non-NATO Ally) ตั้งแต่ปี 2022 ยิ่งทำให้กาตาร์เป็นเสมือน ‘คู่หู’ ของสหรัฐฯ ทางการทหาร และก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระดับสูง 

 

ในด้านการทูต กาตาร์ใช้บทบาทของตนในการเป็น ‘ตัวกลาง’ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรณีการเจรจาอัฟกานิสถานและในสงครามกาซา หรือแม้แต่ความพยายามคลี่คลายวิกฤตซีเรีย โดยเชื่อว่าการมีบทบาทไกล่เกลี่ยจะทำให้วอชิงตันเห็นความจำเป็นในการรักษาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์นี้เอาไว้

 

ทรัมป์ถูกคาดว่าจะถูกผลักดันให้พิจารณายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อซีเรียภายใต้กฎหมายคว่ำบาตรซีเรีย Caesar Act ซึ่งหากสำเร็จ อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในความพยายามฟื้นฟูซีเรีย และสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลใหม่ของ อาเหม็ด อัล-ชาอะรา ประธานาธิบดีของซีเรียคนปัจจุบัน

 

บทสรุป เมื่อดีลกลายเป็นกลไกกำหนดนโยบาย

 

การเยือนครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการ ‘เยือนมิตรประเทศ’ แต่เป็นเวทีเจรจาเชิงผลประโยชน์ระหว่างอำนาจโลกและทุนขนาดยักษ์ในภูมิภาคที่กำลังเปลี่ยนตัวเองเป็นมหาอำนาจใหม่ ทั้งสามประเทศต่างคาดหวังข้อตกลงมหาศาล ทั้งด้านการลงทุน เทคโนโลยี อาวุธ และการเมือง

 

ขณะเดียวกัน ทรัมป์ก็มองว่าการมาที่นี่คือการแสดงให้เห็นถึงพลังของการเจรจาในแบบเขา แบบที่ ‘ใครให้ได้มากกว่า ก็ได้มากกว่า’

 

ภาพ: Photo by Anna Moneymaker / Getty Images

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising