ได้ข้อสรุปแล้วสำหรับประเทศที่จะรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดรอบที่ 2 ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กับคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ซึ่งเวียดนามได้รับเลือกแบบไม่พลิกโผจากกระแสข่าวก่อนหน้านี้ โดยในระหว่างแถลงนโยบายประจำปีต่อสภาคองเกรส (State of the Union) เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ทรัมป์ยืนยันว่าการประชุมครั้งประวัติศาสตร์จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์นี้
สำหรับเมืองและสถานที่จัดซัมมิตครั้งนี้ยังอยู่ในระหว่างหารือข้อสรุป แต่คาดว่าจะเป็นเมืองใดเมืองหนึ่งระหว่างกรุงฮานอยหรือเมืองดานัง
*อัปเดต (9 ก.พ.) ทรัมป์ประกาศว่า กรุงฮานอยจะรับหน้าที่เจ้าภาพซัมมิตทรัมป์-คิม ครั้งที่ 2
แต่ทำไมต้องเวียดนาม?
เหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์และโอกาสของคิมจองอึน
เวียดนามมีความคล้ายคลึงกับเกาหลีเหนือตรงที่เคยติดหล่มสงครามนองเลือดยืดเยื้อกับสหรัฐฯ ทั้งคู่
ในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ เคยมีบทบาทสำคัญในสงครามตัวแทนในเกาหลีในช่วงระหว่างปี 1950-1953 และเคยส่งทหารไปต่อสู้กับทหารคอมมิวนิสต์เวียดนามในช่วงปี 1955-1973
แต่สิ่งที่แตกต่างกันในปัจจุบัน คือเวียดนามได้หันไปผูกมิตรและพึ่งพาสหรัฐฯ อย่างมากในฐานะหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐฯ และหลังจากที่เวียดนามฟื้นตัวจากสงครามแล้ว พวกเขาก็อยู่ในทิศทางเติบโตด้วยอัตราความเร็วที่น่าทึ่งไม่แพ้บรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย
เมื่อมองในแง่สัญลักษณ์แล้ว แม้ว่าสหรัฐฯ กับเวียดนามจะเคยเป็นคู่อริที่เคยรบราฆ่าฟันกันมาก่อน แต่จากตัวอย่างของเวียดนามจะทำให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายไปผูกสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาประเทศและเปิดตลาด จะนำมาซึ่งโอกาสในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนอย่างที่เวียดนามได้รับ
การมาเยือนเวียดนามครั้งแรกของคิมจองอึนจึงเปรียบเหมือนทริปดูงาน เพราะเขาจะมีโอกาสศึกษากระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจหลังสงคราม ซึ่งเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จสำหรับเวียดนาม
เลอ ลง เฮียป นักวิเคราะห์ชาวเวียดนามแห่งสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ให้ทัศนะกับ AFP ว่า “คิมจองอึนมีความสนใจที่จะศึกษาเรื่องราวของเวียดนามด้วยตาตนเอง ซึ่งที่นั่นจะสร้างแรงบันดาลใจที่ดี อีกทั้งเป็นกระจกสะท้อนสำหรับเขาในการคิดหาทางนำพาเกาหลีเหนือก้าวไปข้างหน้า”
เวียดนามเป็นมิตรกับสองฝ่าย
อย่างที่กล่าวไว้ เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศมหามิตรของสหรัฐฯ ทั้งสองมีการแลกเปลี่ยนไปมาหาสู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เวียดนามยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเกาหลีเหนือ โดยมีสถานทูตของทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีเหนืออยู่ในประเทศ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดประชุมซัมมิต
สำหรับคิมจองอึนแล้ว เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเกาหลีเหนือได้ดีเสมอมา ทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในทศวรรษ 1950 นอกจากนี้เกาหลีเหนือยังเคยส่งทหารอากาศไปช่วยทหารฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสงครามเวียดนามด้วย
ในอดีต คิมอิลซุง อดีตผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือและปู่ของคิมจองอึน เคยไปเยือนเวียดนามเมื่อปี 1958 และหลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเดินทางไปเยือนเวียดนามเพื่อกระชับความสัมพันธ์หลายต่อหลายครั้ง
ส่วนความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศนั้น สืบเนื่องจากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ ทำให้การค้าระหว่างกันมีมูลค่าเพียง 7 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017
ในด้านการเมืองระหว่างประเทศ เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่นานาชาติมองว่ามีความเป็นกลางในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ นอกจากนี้เวียดนามยังมีประสบการณ์ในบทบาทคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการทูต
การขนส่งที่สะดวกสบาย
เวียดนามอยู่ไม่ไกลจากเกาหลีเหนือมากนัก หากคิมจองอึนเดินทางด้วยเครื่องบินจะใช้เวลาไม่มาก นอกจากนี้เขายังสามารถเลือกเดินทางด้วยรถไฟหุ้มเกราะแบบที่เคยใช้เป็นประจำอีกด้วย เพราะมีระบบรางที่เชื่อมต่อมาจากจีนและเกาหลีเหนือ
สำหรับทรัมป์ก็เช่นเคย เขาจะเดินทางด้วยเครื่องบินประจำตำแหน่ง Air Force One ซึ่งบินไปได้ทุกหนทุกแห่งทั่วโลก
ความปลอดภัย
เวียดนามเป็นประเทศที่มีมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มงวด แม้ในยามที่บ้านเมืองสงบสุขก็ตาม ดังนั้นเมื่อถึงวันประชุม เวียดนามจะสามารถเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่คณะผู้นำจากสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือได้อย่างไม่มีปัญหา
นอกจากนี้ในช่วงการประชุม เวียดนามจะมีมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกของสื่อมวลชนอย่างเข้มงวดกวดขัน รวมถึงการตรวจตราควบคุมฝูงชนที่มาเกาะติดการประชุมในบริเวณสถานที่จัดซัมมิตด้วย
ความสำคัญต่อสหรัฐฯ
สำหรับสหรัฐฯ แล้ว เวียดนามตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยมีพรมแดนติดกับจีน ซึ่งเวลานี้กำลังทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ อย่างดุเดือด ขณะเดียวกันจีนก็เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของเกาหลีเหนืออีกด้วย
ดังนั้นนักวิเคราะห์จึงมองว่า ทรัมป์อาจใช้เวียดนามเพื่อส่งสัญญาณถึงปักกิ่งว่า เกาหลีเหนือไม่ได้อยู่ในมือของจีนอีกต่อไป และสหรัฐฯ ได้เข้ามาคานอำนาจภายในเขตอิทธิพลของจีนเองด้วย
ชอนซองวุน นักวิจัยแห่งสถาบันนโยบายศึกษา Asan ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้มองว่า สหรัฐฯ เองก็ต้องการแสดงให้เกาหลีเหนือเห็นเรื่องราวความสำเร็จในทางเศรษฐกิจของเวียดนาม
ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ในระหว่างทริปเยือนเกาหลีเหนือเมื่อปีที่แล้วว่า “ประเทศของคุณอาจดำเนินรอยตามเส้นทางนี้ มันจะเป็นความสำเร็จของคุณหากคุณฉวยโอกาสนี้ไว้”
“มันจะเป็นปาฏิหาริย์ในเกาหลีเหนือเช่นกัน” ปอมเปโอกล่าว
ความกระตือรือร้นของเวียดนาม
เวียดนามมีความกระตือรือร้นที่จะแสดงศักยภาพในด้านการทูตบนเวทีโลก หลังประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ในปี 2017 และ World Economic Forum ระดับภูมิภาคเมื่อปีที่แล้ว
ดังนั้นหากเวียดนามจัดซัมมิตทรัมป์-คิมได้สำเร็จ ก็จะเป็นหน้าเป็นหน้าให้กับประเทศอย่างมาก
วู มินห์ ควอง นักวิเคราะห์นโยบายแห่งสถาบัน Lee Kuan Yew School of Public Policy ในสิงคโปร์ แสดงความเห็นว่า การจัดซัมมิตระหว่างทรัมป์กับคิมจองอึนจะช่วยยกระดับสถานะของเวียดนามในประชาคมโลก ซึ่งผลที่ได้ก็คือจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศด้วย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: