×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024: เทียบนโยบายทรัมป์-แฮร์ริส ใครมีจุดยืนอย่างไร?

26.09.2024
  • LOADING...
นโยบาย ทรัมป์-แฮร์ริส

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเปิดฉากวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ สิ่งสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจโหวตของชาวอเมริกันว่าใครจะได้เข้าสู่ทำเนียบขาวคือนโยบายต่างๆ ของผู้สมัคร ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของชาวอเมริกัน และอาจมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อโลก รวมถึงประเทศไทย

 

โดยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้ง 2 ผู้สมัครหลักคือ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต ต่างพยายามนำเสนอและให้คำมั่นที่จะดำเนินการในหลากหลายนโยบาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า ภาษี กฎหมายทำแท้ง กฎหมายอาวุธปืน การตรวจคนเข้าเมือง ระบบดูแลสุขภาพ นโยบายพลังงานและสภาพภูมิอากาศ และนโยบายด้านการต่างประเทศ

 

และนี่คือจุดยืนและแนวนโยบายของทรัมป์และแฮร์ริส 

 

เศรษฐกิจ

 

แฮร์ริส: แฮร์ริสเคยกล่าวว่า ภารกิจสำคัญที่สุดลำดับแรกที่เธอจะทำหากได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือการลดค่าใช้จ่าย ทั้งด้านอาหารและที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวชนชั้นแรงงาน 

 

โดยเธอให้คำมั่นว่าจะสั่งห้ามการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านหลังแรก ขณะที่ให้แรงจูงใจเพื่อเพิ่มอุปทานด้านที่อยู่อาศัย

 

ทรัมป์: ทรัมป์เคยประกาศคำมั่นว่าจะยุติภาวะเงินเฟ้อ และทำให้สหรัฐฯ กลับมามีค่าครองชีพและราคาบ้านในระดับที่เหมาะสมและเข้าถึงได้อีกครั้ง

 

เขาให้สัญญาว่าจะลดอัตราดอกเบี้ย แม้จะเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีไม่สามารถควบคุมได้ พร้อมเสนอลดต้นทุนราคาบ้าน โดยเปิดพื้นที่ของรัฐบาลกลางให้พัฒนา ขณะที่มองว่าการเนรเทศผู้อพยพเข้าเมืองที่ไร้เอกสารจะช่วยลดแรงกดดันต่อราคาบ้านที่เพิ่มสูง

 

การค้า ภาษีศุลกากร

 

แฮร์ริส: รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และแฮร์ริส พยายามกระตุ้นการค้ากับพันธมิตรทั้งในยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ โดยใช้มาตรการทางภาษีและเครื่องมืออื่นๆ ในการไล่ล่าคู่แข่ง เช่น จีน 

 

ที่ผ่านมารัฐบาลของพรรคเดโมแครตยังคงเก็บนโยบายจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนของทรัมป์ไว้ แต่เพิ่มการห้ามส่งออกชิปคอมพิวเตอร์ระดับสูงไปยังจีน และให้แรงจูงใจเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ 

 

ขณะที่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ยังเพิ่มการจัดเก็บภาษีสินค้าจากจีน ซึ่งครอบคลุมถึงรถยนต์ไฟฟ้า เหล็กและอะลูมิเนียม รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ

 

ทรัมป์: อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องการให้เพิ่มการจัดเก็บภาษีอย่างมากสำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยเคยกล่าวไว้ว่า สหรัฐฯ “ต้องเสียภาษีศุลกากร 10-20% สำหรับประเทศต่างๆ ที่เอารัดเอาเปรียบมานานหลายปี” 

 

เขาเสนอให้เพิ่มภาษีสำหรับสินค้าจีนสูงถึง 100% โดยถือว่าภาษีเหล่านี้เป็นช่องทางในการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการลดหย่อนภาษีอื่นๆ ตลอดจนลดการขาดดุล และอาจนำไปใช้เป็นทุนสำหรับนโยบายต่างๆ เช่น การดูแลเด็ก แม้ว่าการขึ้นภาษีศุลกากรอาจส่งผลกระทบให้สินค้าขึ้นราคา และไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้แก่รัฐก็ตาม 

 

นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้รัฐสภาผ่านกฎหมายให้อำนาจประธานาธิบดีในการกำหนดภาษีศุลกากรแบบต่างตอบแทนกับประเทศใดก็ตามที่เรียกเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ 

 

ทั้งนี้ ทรัมป์มุ่งเน้นนโยบายแข่งขันทางการค้าส่วนใหญ่ไปที่จีน โดยเสนอให้ยกเลิกการนำเข้าสินค้าจำเป็นจากจีน เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เหล็กกล้า และยา ขณะที่ต้องการห้ามบริษัทจีนเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ ในภาคส่วนต่างๆ เช่น พลังงาน เทคโนโลยี และที่ดินสำหรับทำการเกษตร

 

ภาษี

 

แฮร์ริส: แฮร์ริสให้คำมั่นที่จะลดหย่อนภาษีแก่ครอบครัวชนชั้นกลางมากกว่า 100 ล้านครัวเรือน ขณะที่สนับสนุนการให้เครดิตภาษีสำหรับครอบครัวที่มีลูก จำนวน 3,600 ดอลลาร์ต่อลูก 1 คน และเสนอเครดิตภาษีพิเศษ 6,000 ดอลลาร์สำหรับพ่อแม่มือใหม่ 

 

เธอเคยประกาศว่า รัฐบาลภายใต้การนำของเธอจะขยายเครดิตภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก และผลักดันให้มีการสร้างบ้านใหม่ 3 ล้านหน่วยภายใน 4 ปี ขณะเดียวกันจะยกเลิกเก็บภาษีทิปและส่งเสริมการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการ 

 

เช่นเดียวกับไบเดน แฮร์ริสต้องการปรับขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลเป็น 28% และภาษีขั้นต่ำสำหรับนิติบุคคลเป็น 21% โดยอัตราภาษีนิติบุคคล ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 21% ขณะที่ภาษีขั้นต่ำสำหรับนิติบุคคล ซึ่งมีการปรับขึ้นภายใต้กฎหมายลดเงินเฟ้อนั้นอยู่ที่ 15% สำหรับบริษัทที่มีรายได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

 

ทรัมป์: ทรัมป์สัญญาว่าจะขยายการลดหย่อนภาษีทั้งหมดภายใต้นโยบายยกเครื่องภาษีที่เขาผลักดันระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2017 ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดในปีหน้า และเสนอให้ลดอัตราภาษีนิติบุคคลโดยรวมจาก 21% เป็น 15% แต่เฉพาะกับบริษัทที่ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ เท่านั้น

 

โดยเขาจะยกเลิกการขึ้นภาษีใดๆ ก็ตามที่ไบเดนลงนามเป็นกฎหมาย นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าจะยกเลิกการลดหย่อนภาษีบางรายการในยุคไบเดน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและรถยนต์ไฟฟ้า

 

ขณะที่เขายังเสนอให้ยกเลิกภาษีทิปที่พนักงานได้รับเช่นเดียวกับแฮร์ริส และยกเลิกการเก็บภาษีสวัสดิการจากประกันสังคม

 

ทำแท้งถูกกฎหมาย

 

แฮร์ริส: แฮร์ริสเรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมายรับรองการเข้าถึงการทำแท้ง ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่มีมาเกือบ 50 ปีก่อนที่จะถูกศาลฎีกาพลิกคำตัดสิน 

 

ที่ผ่านมาแฮร์ริสวิพากษ์วิจารณ์นโยบายห้ามการทำแท้งในรัฐที่พรรครีพับลิกันควบคุม และให้คำมั่นว่าหากได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เธอจะขัดขวางการห้ามทำแท้งที่อาจเกิดขึ้นทั่วประเทศ หากพรรครีพับลิกันได้ครองอำนาจเสียงข้างมากในสภาคองเกรส

 

ทรัมป์: ขณะที่ทรัมป์เคยประกาศเมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับการเข้าถึงหรือห้ามการทำแท้ง ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐต่างๆ

 

เขาเคยกล่าวไว้ว่า จะไม่ลงนามในกฎหมายห้ามการทำแท้งในระดับชาติ และล่าสุดยืนยันว่าจะไม่พยายามขัดขวางการเข้าถึงยาทำแท้ง

 

กฎหมายควบคุมอาวุธปืน

 

แฮร์ริส: แฮร์ริสเผยระหว่างการหาเสียงที่ผ่านมาว่า เธอครอบครองอาวุธปืนเช่นกัน แต่ขณะเดียวกันเธอก็สนับสนุนกฎหมายและมาตรการเพื่อควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดมากขึ้น โดยระหว่างดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดรัฐแคลิฟอร์เนีย เธอเคยให้ความเห็นเรื่องนี้ และมองว่ากฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่สมเหตุสมผลช่วยปกป้องชีวิตคนได้ และมองว่าต้องเก็บปืนให้อยู่ห่างจากคนที่อันตราย

 

ทรัมป์: ขณะที่ทรัมป์แสดงการสนับสนุนสิทธิในการครอบครองปืน และสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (National Rifle Association: NRA) อันเป็นองค์กรทรงอิทธิพลด้านอาวุธปืนในสหรัฐฯ โดยเขามองว่า ปัญหาความรุนแรงจากปืนไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากปืน แต่เป็นปัญหาด้านสังคม วัฒนธรรม และปัญหาด้านสุขภาพจิต

 

ขณะที่ทรัมป์ประกาศว่า หากได้รับเลือกตั้ง เขาจะยกเลิกทุกมาตรการคุมเข้มอาวุธปืนของไบเดนที่ก่อผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ครอบครองปืน

 

นโยบายคนเข้าเมือง

 

แฮร์ริส: แฮร์ริสได้รับเลือกโดยไบเดนให้ดำเนินการตรวจสอบสาเหตุหลักของปัญหาผู้อพยพบริเวณชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐฯ โดยในแคมเปญหาเสียงครั้งนี้ เธอแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวขึ้นในการคุมเข้มแนวชายแดน และเน้นย้ำถึงประสบการณ์ในฐานะอัยการรัฐแคลิฟอร์เนียที่ต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์

 

ขณะที่เธอคัดค้านการแยกครอบครัวของผู้อพยพ และสนับสนุนให้ผู้อพยพที่เป็นคู่สมรสและไม่มีเอกสารของพลเมืองสหรัฐฯ สามารถยื่นขอกรีนการ์ดได้

 

ทรัมป์: ทรัมป์เคยประกาศว่าจะดำเนินการเนรเทศผู้อพยพภายในประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และจะนำนโยบายจำกัดผู้อพยพที่เขาเคยวางไว้ในสมัยแรกกลับมา อีกทั้งยังมีแนวคิดยุติสิทธิพลเมืองโดยกำเนิดของบุคคลที่เกิดในสหรัฐฯ ซึ่งพ่อและแม่อยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย

 

ในการหาเสียงที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศจะขยายมาตรการห้ามการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ที่เดิมกำหนดเป้าหมายพลเมืองจาก 7 ประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์โจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ทรัมป์ระบุว่า เขาจะกำหนดให้มีการ ‘คัดกรองอุดมการณ์’ สำหรับกลุ่มผู้อพยพที่มีแนวคิดสุดโต่งและอันตราย 

 

นโยบายต่างประเทศ

 

จีน

 

แฮร์ริส: แฮร์ริสสนับสนุนมุมมองของรัฐบาลไบเดนที่มีต่อจีน ในฐานะภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยที่ผ่านมาเธอมีส่วนช่วยรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างพันธมิตรในภูมิภาค เพื่อเป็นการถ่วงดุลกับพฤติกรรมก้าวร้าวของปักกิ่งในทะเลจีนใต้ ขณะที่สนับสนุนรัฐบาลไบเดนในการจำกัดการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง

 

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นไต้หวัน ยังไม่ชัดเจนว่าแฮร์ริสพร้อมที่จะเห็นด้วยกับมุมมองของไบเดนที่เคยประกาศว่าสหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวันหากถูกจีนโจมตีหรือไม่

 

ทรัมป์: ทรัมป์ต้องการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราสูง โดยมองว่าแรงงานในสหรัฐฯ ต้องทนแบกรับความลำบากจากสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘การค้าที่ไม่เป็นธรรม’ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อจีน 

 

ทรัมป์ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า หากได้รับเลือกตั้ง เขาจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอย่างน้อย 60% นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะผลักดันภาคการผลิตในสหรัฐฯ เพื่อที่ประเทศจะไม่ต้องพึ่งพาสินค้าสำคัญจากจีน ซึ่งทรัมป์ยืนยันว่า เขาจะห้ามจีนไม่ให้เป็นเจ้าของ ‘โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ’ ในสหรัฐฯ 

 

อิสราเอล กาซา

 

แฮร์ริส: สำหรับปัญหาสงครามในฉนวนกาซา แฮร์ริสมีท่าทีสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลไบเดน คือการผลักดันให้ลดระดับความขัดแย้งและความรุนแรง และพยายามเป็นตัวกลางในการเจรจาหยุดยิงและปลดปล่อยตัวประกัน ขณะที่สนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาแบบสองรัฐ (Two-State Solution)

 

อย่างไรก็ตาม แฮร์ริสก็แสดงให้เห็นสัญญาณว่า เธอเอนเอียงไปตามแนวทางของกลุ่มหัวก้าวหน้ามากกว่าไบเดน โดยเธอสนับสนุนสิทธิของอิสราเอลในการป้องกันตนเองและการกำจัดกลุ่มฮามาส 

 

ทรัมป์: ขณะที่ทรัมป์มองว่า การโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้วจะไม่เกิดขึ้นเลยหากเขาเป็นประธานาธิบดี โดยเขาสนับสนุนให้ยุติสงครามโดยเร็ว แต่ไม่ได้เสนอว่าอิสราเอลควรทำข้อตกลงภายใต้เงื่อนไขใดเพื่อยุติการทำสงคราม และไม่ได้เสนอแนะให้สนับสนุนปาเลสไตน์แต่อย่างใด

 

NATO – สงครามยูเครน

 

แฮร์ริส: แฮร์ริสส่งสัญญาณว่า เธอจะยังคงสนับสนุน NATO และพันธมิตรระหว่างประเทศอื่นๆ อย่างแข็งขันเช่นเดียวกับไบเดน

 

มุมมองด้านนโยบายต่างประเทศของแฮร์ริส โดยเฉพาะกรณีสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นยังอยู่ใต้เงาไบเดน โดยเธอยังมีประสบการณ์ค่อนข้างน้อยก่อนที่จะเข้าร่วมรัฐบาล และไม่มีท่าทีใดๆ ว่าเธอจะเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายของไบเดนที่ให้ความสำคัญในการจับมือกับชาติพันธมิตร NATO เพื่อต่อต้านการกระทำของรัสเซีย และสนับสนุนความช่วยเหลือในการจัดส่งอาวุธแก่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง

 

ทรัมป์: ทรัมป์ยึดมั่นในแนวคิด ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ไม่เชื่อมั่นในพันธกรณีระหว่างประเทศใดๆ ที่อาจกีดกันอำนาจอธิปไตยของอเมริกา หรือทำให้ต้องสูญเสียเงินงบประมาณจำนวนมาก

 

ที่ผ่านมา ทรัมป์ยืนยันความเชื่อของเขาว่า ประเทศสมาชิก NATO ชาติอื่นๆ กำลังเกาะกินสหรัฐฯ ด้วยการไม่ใช้เงินของตัวเองอย่างเพียงพอในการป้องกันประเทศ โดยเขาเคยขู่จะถอนสหรัฐฯ ออกจาก NATO และเคยประกาศว่า หากได้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย เขาจะเดินหน้าการประเมินภารกิจและจุดประสงค์ของพันธมิตร NATO เสียใหม่

 

ในประเด็นสงครามรัสเซียและยูเครนนั้น ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไบเดนที่ให้การช่วยเหลือยูเครนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเคยกล่าวอ้างว่า เขาสามารถยุติสงครามได้ด้วยการนำรัสเซียและยูเครนมาสู่โต๊ะเจรจา ซึ่งแนวทางของทรัมป์ดูเหมือนจะเป็นการสนับสนุนให้ยูเครนยอมสละดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองไปบางส่วนเพื่อแลกกับข้อตกลงหยุดยิง

 

สภาพภูมิอากาศ-พลังงาน

 

แฮร์ริส: แฮร์ริสสนับสนุนรัฐบาลไบเดนที่กลับคืนสู่ข้อตกลงปารีสหลังเข้ารับตำแหน่งในวันแรกเมื่อปี 2020 และสนับสนุนกรอบการทำงานเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวนโยบาย Green New Deal ระหว่างการลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2019 

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านพลังงานที่ทำให้เธอถูกมองว่ามีจุดยืนที่เปลี่ยนไปคือนโยบายต่อการขุดเจาะน้ำมันแบบ Fracking ที่ใช้พลังน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีและทรายฉีดลงไปในชั้นหินดินดาน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

 

เดิมทีแฮร์ริสเคยประกาศจะแบนการขุดเจาะน้ำมันแบบ Fracking ที่เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของรัฐสมรภูมิอย่างเพนซิลเวเนีย ก่อนจะปรับเปลี่ยนท่าทีว่า หากเธอได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เธอจะไม่แบน Fracking โดยชี้แจงว่า สามารถเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจพลังงานสะอาดได้โดยไม่จำเป็นต้องแบน Fracking 

 

ทรัมป์: ทรัมป์ต้องการลดกฎระเบียบและถอนตัวจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสภาพอากาศที่สำคัญ ซึ่งเขาเคยถอนสหรัฐฯ จากข้อตกลงปารีสในช่วงไม่กี่เดือนหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก

 

ขณะดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ผ่อนปรนกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย รวมถึงกฎระเบียบการปล่อยมลพิษสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยให้เหตุผลว่า กฎระเบียบดังกล่าวขัดขวางการจ้างงาน

 

หากได้รับเลือกตั้ง ทรัมป์เคยสัญญาว่าจะดำเนินการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล และลบขั้นตอนที่ไม่จำเป็นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งจะถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสอีกครั้ง และคัดค้านนโยบาย Green New Deal ที่เขามองว่าปิดกั้นการพัฒนาแหล่งพลังงานอันอุดมสมบูรณ์ของสหรัฐฯ

 

ระบบดูแลสุขภาพ

 

แฮร์ริส: ในวิดีโอเปิดตัวแคมเปญหาเสียงของแฮร์ริสที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา เธอกล่าวว่าจะต่อสู้เพื่ออนาคตที่ชาวอเมริกันทุกคนสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ 

 

โดยในฐานะวุฒิสมาชิกและรองประธานาธิบดี แฮร์ริสพยายามรักษากฎหมายโอบามาแคร์ หรือรัฐบัญญัติคุ้มครองผู้ป่วยและการดูแลที่จ่ายได้ (Affordable Care Act: ACA) ไว้ และต่อสู้กับความพยายามของพรรครีพับลิกันที่จะยกเลิก

 

ทรัมป์: ทรัมป์ต่อสู้เพื่อยกเลิก ACA รวมถึงกฎระเบียบเกี่ยวกับบริษัทประกันภัย และการอุดหนุนความคุ้มครองในระบบประกันสุขภาพ

 

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของทรัมป์ในระยะหลัง เริ่มปรับเปลี่ยนจากที่เคยยืนยันความต้องการยกเลิก ACA โดยกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า เขาต้องการปรับปรุง ACA ไม่ใช่ยกเลิก แต่ไม่ได้เปิดเผยว่ามีแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายอย่างไร

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X