×

ตัดเกรด 100 วันทรัมป์ เมื่อนโยบายสุดโต่งกลายเป็น ‘ความเสี่ยง’ ของระเบียบโลก

03.05.2025
  • LOADING...

ครบ 100 วันแรกในตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของโดนัลด์ ทรัมป์ โลกเริ่มเห็นชัดเจนแล้วว่า ทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงระหว่างประเทศกำลังเปลี่ยนไปอย่างมาก ภายใต้ผู้นำที่เน้นผลประโยชน์ของชาติแบบสุดขั้ว พร้อมถอยห่างจากบทบาทผู้นำโลก ที่สหรัฐฯ เคยครองมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

หลากหลายนโยบายของทรัมป์ สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก แต่ผลลัพธ์ที่ไม่น่าพึงพอใจสำหรับชาวอเมริกัน สะท้อนกลับมาจากผลสำรวจคะแนนนิยมที่ปรากฏ กลับตกต่ำเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปี

 

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ทรัมป์ได้เดินหน้าทำงานในหลายนโยบายตามที่หาเสียงไว้ ซึ่งแม้จะดูเอาจริงเอาจัง แต่ในทางปฏิบัติ ผลลัพธ์ที่ได้มากลับดูไม่ดีนักและก่อผลกระทบแง่ลบกับประชาชนอเมริกันมากกว่าที่คิด

 

การดำเนินนโยบายทั้งหมดในรอบ 100 วันแรกของทรัมป์ เป็นไปตามแนวทาง America First ที่ตั้งเป้าหมายใหญ่เพื่อชาวอเมริกัน โดยทรัมป์ ชี้ว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และผลที่ได้อาจต้องมองในระยะยาว แต่แน่นอนว่า ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นค่อนข้างสูง ในขณะที่ยังมี ‘ความเสี่ยง’ หลายประการที่ยังน่ากังวล

 

เศรษฐกิจทรุด ของแพงกว่าเดิม

 

ดร.ปฐมพงษ์ อึ๊งประเสริฐ นักวิชาการผู้ติดตามการเมืองสหรัฐฯ ประเมินภาพรวมการทำงาน 100 วันแรก ของทรัมป์ ในด้านเศรษฐกิจ โดยชี้ว่า เดิมทีชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อย ตั้งความหวังไว้กับรัฐบาลทรัมป์ สมัยที่ 2 ว่าจะสามารถกอบกู้เศรษฐกิจได้ หลังผ่านพ้นยุครัฐบาล โจ ไบเดนที่เงินเฟ้อพุ่ง ค่าครองชีพแพง เมื่อเปรียบเทียบกับยุคทรัมป์ 1.0 ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เคยเติบโตดี น้ำมันราคาถูก และคนรู้สึกมั่นคงในฐานะการเงินมากขึ้น 

 

แต่สิ่งที่ทรัมป์เลือกทำในรอบนี้คือการกลับมาใช้ ‘กำแพงภาษี’ อย่างเข้มข้น เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตให้กลับมาในประเทศ ซึ่งในทางทฤษฎีอาจจะดูดี แต่ในทางปฏิบัติ กลับยิ่งส่งผลให้ต้นทุนสินค้าเพิ่ม สินค้านำเข้าแพง และซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ

 

ตัวชี้วัดที่ชัดเจนจากนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ คือตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งปรากฏว่าติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หรือนับตั้งแต่วิกฤตโควิด โดยหดตัวลง 0.3% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายการขึ้นภาษีตอบโต้ต่อนานาชาติ นอกจากจะทำให้ปัญหาเงินเฟ้อย่ำแย่ลง ยังส่งผลให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพและความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ

 

“เพราะว่าคนทำธุรกิจเจ้าของโรงงาน ร้านค้า ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าเนี่ย ไม่สามารถวางแผนได้ว่าจะทำอย่างไรกับธุรกิจของเขาดี เพราะว่ามีความไม่แน่ใจในตัวนโยบายที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถวางแผนด้านเศรษฐกิจได้ ส่งผลให้เกิดการชะลอการทำธุรกิจ” เขากล่าว

 

ผลลัพธ์ไม่ใช่อย่างที่หวัง

 

ผศ. ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย มองว่าสิ่งที่ทรัมป์ทำในช่วง 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 กระทบต่อการเมือง สังคมและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และประชาคมโลกอย่างมาก เช่น เรื่องสงครามการค้า ซึ่งเหมือนจะทำให้สหรัฐฯ เป็นศัตรูกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก สร้างผลกระทบต่อเนื่อง

 

เขามองว่ามีบางนโยบายที่ทรัมป์ ผิดพลาด เช่นการเนรเทศผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งบางกรณี อาจเป็นการละเมิดกระบวนการยุติธรรมและสิทธิของผู้ที่มีสถานะทางกฎหมายในสหรัฐฯ 

 

ตัวอย่างหนึ่งที่ปรากฏเป็นข่าวดังในสหรัฐฯ คือกรณีการเนรเทศ อาเบรโก การ์เซีย ชายชาวเอลซัลวาดอร์ ที่แต่งงานกับหญิงอเมริกัน ซึ่งมีใบอนุญาตทำงาน แต่ถูกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐฯ (ICE) ควบคุมตัวและเนรเทศเขากลับไปยังเอลซัลวาดอร์โดยอ้างว่า พบความเชื่อมโยงกับแก๊งอาชญากรรม ก่อนที่ศาลสูงสุดสหรัฐฯ จะวินิจฉัยว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดพลาด และมีคำสั่งให้รัฐบาลทรัมป์ นำตัวการ์เซียกลับประเทศ แต่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ โต้แย้งคำสั่งศาล ว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจประธานาธิบดี และอ้างว่า ศาลฯ ไม่สามารถบีบบังคับให้ทางการเอลซัลวาดอร์ปฏิบัติตามคำสั่งได้

 

ผศ. ดร.วิบูลพงศ์ ชี้ว่า อีกเรื่องที่ทรัมป์พลาด คือการสร้างความแตกแยกกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา และเม็กซิโก โดยเฉพาะการไปบอกว่า จะเอาแคนาดามาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ รวมถึงเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโก เป็นอ่าวอเมริกา นอกจากนี้ยังมีกรณีประกาศทวงคืนคลองปานามา และการเสนอยึดครองฉนวนกาซา ซึ่งทรัมป์บอกว่า จะเปลี่ยนให้เป็นริเวียร่าแห่งตะวันออกกลาง 

 

“เรื่องเหล่านี้เป็น ‘สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องพูด เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว พูดออกไปก็มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหาย” ผศ. ดร.วิบูลพงศ์ กล่าว

 

ประเด็นสงครามรัสเซียและยูเครน ที่ทรัมป์เคยประกาศชัดว่า จะยุติให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ โดยเรื่องทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นำมาสู่การประท้วงต่อต้านทรัมป์ ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วอเมริกาในช่วง 100 วันแรกที่เขารับตำแหน่งประธานาธิบดี

 

“คนอเมริกันอย่างน้อยครึ่งประเทศ เริ่มมองแล้วว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เกิดผลกระทบเชิงลบมากมาย โดยคะแนนนิยมของทรัมป์ตกลงอย่างมาก”

 

ผศ. ดร.วิบูลพงศ์ ชี้ว่า การที่ทรัมป์สามารถจะบริหารประเทศในลักษณะที่เกือบ ‘เสมือน เผด็จการ’ ได้ในตอนนี้ เพราะทั้งสภาคองเกรส และศาลไม่สามารถทำอะไรเขาได้ แต่ถ้าหากสถานการณ์ยังเป็นในลักษณะนี้ต่อไป ประมาณ 2 ปีข้างหน้า จะมีการเลือกตั้ง ‘กลางเทอม’ พรรคเดโมแครตอาจพลิกกลับมาครองเสียงข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อการบริหารของทรัมป์ในระยะยาว

 

ด้าน ดร.ปฐมพงษ์ มองว่า ความหละหลวมและรุนแรงเกินไปในนโยบายของทรัมป์ ทำให้ประชาชนเริ่มตั้งคำถามว่า สิ่งที่ทรัมป์หาเสียงไว้เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองที่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติจริงได้โดยไม่สร้างปัญหา ผลลัพธ์คือความนิยมในกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายต่างๆ ที่เป็นชนกลุ่มน้อยและกลุ่มเสรีนิยมลดต่ำลง และกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ฉุดคะแนนนิยมของเขาในรอบนี้

 

มุ่งแยกตัว ไม่เป็นตำรวจโลก

 

ดร.ปฐมพงษ์ ให้ความเห็นในนโยบายความมั่นคงของทรัมป์ช่วง 100 วันแรก โดยกล่าวว่า ทรัมป์แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า ต้องการลดบทบาทสหรัฐฯ ในการเป็น ‘ตำรวจโลก’ โดยเฉพาะกรณียูเครน ซึ่งที่ผ่านมา ทรัมป์แสดงท่าทีใกล้ชิดกับปูตินและแสดงออกชัดเจนว่า ไม่อยากเสียเงินเพื่อสนับสนุนยูเครน ซึ่งขัดกับความเห็นของชาวอเมริกัน ที่จำนวนมากยังกังวลว่า หากปล่อยให้รัสเซียยึดยูเครนได้โดยไม่มีการต่อต้าน จะเป็นการเปิดทางให้เกิดการรุกรานประเทศอื่นในยุโรปตามมา ซึ่งการเลือกไม่สนับสนุนยูเครนในเชิงยุทธศาสตร์จึงถูกมองว่าเป็นการยอมถอยที่อันตราย

 

ส่วนกรณี สงครามในฉนวนกาซา เขาชี้ว่ารัฐบาลทรัมป์แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเข้าข้างอิสราเอลเต็มที่ โดยไม่พยายามสร้างสมดุลหรือแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อปาเลสไตน์เหมือนรัฐบาลไบเดนที่ผ่านมา ถึงขั้นมีการจับกุมผู้ประท้วงและเนรเทศนักศึกษาต่างชาติที่สนับสนุนปาเลสไตน์ ส่งผลให้กลุ่มเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกจำนวนไม่น้อยมีความผิดหวัง

 

ปฐมพงษ์ ชี้ว่า รัฐบาลทรัมป์ 2.0 ยังมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายต่างประเทศภายใต้แนวคิด Isolationism หรือการโดดเดี่ยวตัวเองจากประชาคมโลก โดยเชื่อว่าสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือชาติอื่นหรือรักษาสันติภาพโลก ขอเพียงดูแลตนเองให้เข้มแข็ง เช่น การตัดงบช่วยเหลือต่างประเทศผ่าน USAID และลดการสนับสนุน NATO โดยมองว่า เป็นการลดภาระของชาติอเมริกันในความเห็นของเขา 

 

แต่สิ่งเหล่านี้กลับสร้าง ‘สุญญากาศอำนาจ’ ที่เปิดช่องให้จีนและรัสเซียขยายอิทธิพล ซึ่งในระยะยาว นโยบายถอยห่างจากเวทีโลกอาจทำให้โครงสร้างอำนาจโลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง สหรัฐฯ เสียบทบาทผู้นำ ในขณะที่จีนและรัสเซีย ซึ่งไม่ยึดหลักประชาธิปไตย อาจก้าวขึ้นมาแทนที่ ส่งผลกระทบต่อระเบียบโลกที่เคยมีสหรัฐฯ เป็นหลัก คำพูดของทรัมป์ที่ว่าจะไม่ปล่อยให้จีน-รัสเซียตั้งขั้วอำนาจใหม่จึงขัดแย้งกับการกระทำจริง ที่กลับกลายเป็นการเปิดทางให้ฝ่ายตรงข้ามขยายอำนาจได้ง่ายขึ้น

 

ขณะที่ ผศ. ดร.วิบูลพงศ์ ชี้ว่า ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สหรัฐฯ เป็นผู้กำหนดระเบียบโลก ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน และจริงๆ แล้วสหรัฐฯ ได้ประโยชน์อย่างมากจากระเบียบโลกนี้ แต่ทรัมป์กลับไปมองในเชิงเศรษฐกิจว่า สิ่งนี้ทำให้สหรัฐฯ เสียผลประโยชน์ 

 

เขามองว่าหากระเบียบโลกถูกทำลาย ความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ ก็จะถูกสั่นคลอนหรือลดลง ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและยุโรป ก็อาจจะไม่มั่นคงเหมือนเดิมอีกต่อไป พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้จีนก้าวขึ้นมามีบทบาทในประชาคมโลกมากยิ่งขึ้นด้วย

 

มีด้านบวกอยู่บ้าง ไม่ลบทั้งหมด

 

ด้าน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองรัฐบาลทรัมป์ 2.0 หลังจากช่วง 100 วันแรก ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่มองว่ายังมีด้านบวกอยู่บ้าง ไม่ใช่ด้านลบทั้งหมด

 

ในด้านลบ ที่ผ่านมาเราได้เห็นความไม่แน่นอนในเรื่องเศรษฐกิจ การพยายาม เปลี่ยนให้โลกเป็น Deglobalization และโลกจะถูกแบ่งเป็นสองขั้ว มีการแข่งขัน มีสงครามการค้ากับจีน ประเทศต้องถูกบังคับให้เลือกข้าง ไทยก็ควรต้องบาลานซ์จัดการให้ดี ไม่เลือกข้าง

 

แต่ในด้านบวก ก็มีให้เห็นเช่นกัน ที่ทรัมป์พยายามทำคือการยุติสงคราม ทั้งในรัสเซีย-ยูเครน และตะวันออกกลาง อีกทั้งราคาน้ำมันก็ปรับลดลงด้วย ซึ่งเป็นผลดีกับไทย 

 

ส่วนเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจยังเผชิญอยู่บ้าง จากความผันผวนของตลาด แต่เอเชียยังไม่มีเงินเฟ้อที่น่ากังวลมากนัก คาดว่า เฟด อาจประกาศปรับลดดอกเบี้ยในอนาคตเร็วๆ นี้ก็มีความเป็นไปได้

 

ส่วนการมองต่อไปข้างหน้า ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่แน่ ภายใต้การนำของทรัมป์ แต่อย่างที่บอกไป คือมีทั้งด้านบวกที่ทรัมป์ก็พยายามเร่งสร้างสันติภาพในสมรภูมิรบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจในอีกด้าน

 

ไทยควรเดินหมากอย่างไร?

 

สำหรับคำถามว่า ไทยเราควรกำหนดกลยุทธ์อย่างไรในบริบทโลกที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ 2.0 พยายามแยกตัวออกจากการมีบทบาทนำ

 

ปฐมพงษ์มองว่าไทยไม่ควรคาดหวังความร่วมมือเชิงหลักการ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชนหรือประชาธิปไตยจากรัฐบาลวอชิงตัน เพราะทรัมป์แสดงออกชัดเจนว่า เขาไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ สิ่งที่เขาให้ความสำคัญคือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจล้วนๆ ดังนั้น ไทยควรให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางการค้าเป็นหลัก และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าในประเด็นอ่อนไหว

 

ขณะเดียวกัน ไทยควรใช้ยุทธศาสตร์ ‘ถ่วงดุล’ หรือ ‘เดินหมากตามลม’ โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดชัดเจนเหมือนที่เคยทำในอดีต เนื่องจากหากเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไทยจะอยู่ในจุดที่เสี่ยงทั้งคู่ การพึ่งพาอเมริกาน้อยลง และขยับไปสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจกับจีนมากขึ้น อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในระยะกลางถึงยาว โดยเฉพาะหากยุครัฐบาลทรัมป์ 2.0 ดำเนินต่อไปจนครบ 4 ปี

 

ส่วนกรณีที่ไทยที่ตกเป็นเป้าจากนโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์ และจนถึงตอนนี้การเจรจาเพื่อหาข้อตกลงกับสหรัฐฯ ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน ผศ. ดร.วิบูลพงศ์ มองว่าประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้อง คือด้านสิทธิมนุษยชน เช่น คดีของ พอล แชมเบอร์ส หรือการส่งกลุ่มชาวอุยกูร์กลับไปจีน อาจส่งผลกระทบกับการเจรจาอยู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญก็คือ ไทยจะต้องพยายามชี้ให้เห็นว่า การที่สหรัฐฯ มีการค้ากับไทย ได้ประโยชน์อย่างไร ทำให้เขาไม่ต้องไปซื้อสินค้าจากจีนใช่หรือไม่ ไม่ใช่มองเรื่องที่ไทยเก็บภาษีสหรัฐฯ แพงอย่างเดียว แต่ทำให้สหรัฐฯ เห็นถึงมิติของผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างกันเป็นสำคัญ

 

ภาพ: Jemal Countess / Getty Images for Democratic National Committee

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising