×

ทรัมป์มองการค้าโลกต่างจากไบเดนอย่างไร? กับคำถามโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจถึงทางตัน?

29.10.2024
  • LOADING...
ทรัมป์ ไบเดน

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชัดยิ่งกว่าชัดว่าจะขึ้นกำแพงภาษีสินค้าต่อจีน 4 เท่าตัวจากเดิม และจะขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้าทั่วโลกร้อยละ 10 เรียกได้ว่าหากเขาชนะจะเกิดสงครามการค้าที่ใหญ่กว่าในยุครัฐบาลทรัมป์รอบแรกหลายเท่า

 

หลายคนนึกว่าทรัมป์คงพูดเล่นๆ เอามันเพื่อเรียกคะแนนนิยม ไม่ได้คิดมาอย่างจริงจังนักหรอก แต่ผมเกรงว่านี่อาจเป็นนโยบายที่มีมันสมองชั้นเลิศคิดมาให้แล้ว (ซึ่งทำให้มีแนวโน้มที่จะถูกนำไปปฏิบัติจริงหากเขาชนะการเลือกตั้ง)

 

มันสมองคนนี้ก็คือ โรเบิร์ต ไลต์ไทเซอร์ (Robert Lighthizer) อดีตผู้แทนการค้าของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งเคยรับผิดชอบการทำสงครามการค้ากับจีน เขาเขียนอธิบายแนวคิดเบื้องหลังนโยบายการค้านี้ไว้อย่างละเอียดในหนังสือชื่อ No Trade Is Free: Changing Course, Taking on China, and Helping America’s Workers ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อปีที่แล้ว

 

ไลต์ไทเซอร์อธิบายว่า ในด้านการค้าระหว่างประเทศ รัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่จะมีเป้าหมาย 4 ข้อ หากเราเอา 4 ข้อนี้มาพิจารณากันแล้วจะเห็นได้ว่า เป็นแนวคิดที่แตกต่างโดยพื้นฐานจากแนวคิดของไบเดนและพรรคเดโมแครต 

 

เป้าหมายหนึ่งของทรัมป์คือ เลิกโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ทรัมป์มองว่าโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ (Economic Globalization) ซึ่งหัวใจก็คือการค้าเสรี (Free Trade) เป็นโทษต่อชนชั้นแรงงานสหรัฐฯ เพราะส่งผลให้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เหือดแห้งไป ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและการสูญสลายของชนชั้นกลาง 

 

ความเชื่อนี้แตกต่างโดยพื้นฐานจากแนวคิดของทีมไบเดน อย่าง เจเน็ต เยลเลน รมว.คลังของไบเดน ยังคงมองว่าการค้าเสรีเป็นคุณต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าโทษ (ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ยอมรับกันทั่วไป) เพียงแต่ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง จึงจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงออกจากจีน ทำการ ‘Friendshoring’ ไปยังประเทศอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนของสหรัฐฯ แทน

 

ในยุคไบเดน แทนที่จะนำเข้าจากจีน สหรัฐฯ ก็นำเข้าจากเวียดนามและอินเดียแทน แต่สหรัฐฯ ก็ยังได้สินค้าราคาถูกและผู้บริโภคชาวอเมริกันก็ยังได้ประโยชน์จากสินค้าราคาถูกเหล่านี้ โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้สิ้นสุด เพียงแต่ย้ายออกจากจีนไปที่อื่นเท่านั้น ทั้งหมดนี้แตกต่างจากแนวคิดของทรัมป์ที่ต้องการเลิกโลกาภิวัตน์ 

 

เป้าหมายที่ 2 ของทรัมป์คือ การรื้อฟื้นอุตสาหกรรมการผลิตขึ้นอีกครั้งในสหรัฐฯ (Reindustrialization of US Manufacturing) ทีมทรัมป์ต้องการให้โรงงานย้ายฐานการผลิตกลับมาที่สหรัฐฯ และสร้างงานให้ชนชั้นแรงงานในสหรัฐฯ

 

ต่างจากแนวคิดของทีมไบเดนที่ขอเพียงโรงงานย้ายจากจีนไปที่อื่น เช่น เวียดนาม อินเดีย หรืออินโดนีเซีย ก็เพียงพอแล้ว ทีมไบเดนไม่เชื่อว่าสหรัฐฯ มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในด้านการผลิตอีกต่อไป ซื้อจากต่างประเทศถูกและคุ้มค่ากว่า

 

เป้าหมายที่ 3 ของทรัมป์คือ บรรลุสมดุลการค้า (Trade Balance) กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในหนังสือของไลต์ไทเซอร์จึงเสนอว่าจะต้องขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้าจากคู่ค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วยอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกว่าสหรัฐฯ จะหยุดขาดดุลการค้ากับประเทศนั้นๆ

 

แตกต่างจากทีมไบเดนที่ไม่ได้มองว่าการขาดดุลการค้าเป็นปัญหาโดยตัวมันเอง ทีมไบเดนมองว่าเป็นไปตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อสหรัฐฯ ไม่มีความได้เปรียบในเรื่องค่าแรงและการผลิต ก็ยกระดับไปทำภาคอุตสาหกรรมขั้นสูงกว่า เช่น ภาคการเงินหรือภาคการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งใช้ประโยชน์จากการค้ากับคู่ค้าที่ถนัดในเรื่องการผลิตมากกว่าสหรัฐฯ 

 

อ่านหนังสือของไลต์ไทเซอร์แล้วขอเตือนว่า นโยบายของทรัมป์ที่ประกาศจะขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้าทั่วโลกร้อยละ 10 อาจเป็นเพียงอัตราเริ่มต้นเท่านั้น โดยอาจขึ้นไปมากกว่านี้ตามระดับการขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับแต่ละประเทศคู่ค้า

 

ส่วนเป้าหมายสุดท้ายของทรัมป์ก็คือ การหย่าขาดจากจีนในทางเศรษฐกิจ (Complete Decoupling from China) ในหนังสือของไลต์ไทเซอร์ถึงกับเสนอให้ยกเลิกสถานะการเป็นชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation Status) ของจีนในทางการค้ากับสหรัฐฯ 

 

ข้อนี้ก็แตกต่างจากทีมไบเดนและพรรคเดโมแครตที่ต้องการแยกห่วงโซ่ออกจากจีนเพียงบางส่วน (Partial Decoupling) หรือที่ไบเดนเรียกศัพท์ใหม่ว่า ‘De-risking’ ซึ่งหมายถึงการกระจายความเสี่ยงในบางอุตสาหกรรมที่สำคัญออกจากจีน แต่ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะหย่าขาดจากจีน

 

จีนา เรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์ในรัฐบาลไบเดน ย้ำมาตลอดว่ายังยินดีค้าขายกับจีนในสินค้าส่วนใหญ่ เพราะผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้ประโยชน์ สหรัฐฯ จึงยังคงยินดีจะซื้อเสื้อผ้า, แปรงสีฟัน, ยาสีฟัน และต้นคริสต์มาส ราคาถูกจากเมืองจีน เพียงแต่ไม่ยินดีที่จะค้าขายกับจีนในสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์และความมั่นคง เช่น รถยนต์ EV, แบตเตอรี่, เซมิคอนดักเตอร์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเธอบอกว่าจริงๆ แล้วเป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่ได้มีปริมาณมากเมื่อเทียบกับปริมาณการค้ารวมระหว่างสองประเทศ จึงเรียกนโยบายการค้าของไบเดนว่า ‘พื้นที่เล็ก กำแพงสูง’ (Small Yard, High Fence) คือจะตั้งกำแพงภาษีสูงเป็นพิเศษเฉพาะสินค้าเชิงยุทธศาสตร์เพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น

 

เมื่อพิจารณาความแตกต่างระหว่างทรัมป์และไบเดนทั้ง 4 ข้อแล้ว เราจำเป็นต้องทบทวนความเชื่อที่ว่า ทรัมป์กับไบเดนไม่น่าจะต่างกันมากในเรื่องนโยบายการค้า หลายคนมองว่าไบเดนเองไม่ได้ยกเลิกกำแพงภาษีสินค้าที่ทรัมป์เคยตั้งมาแต่เดิม และทั้งสองพรรคการเมืองต่างก็ไม่ชอบจีนเช่นเดียวกัน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ แนวคิดเบื้องหลังนโยบายการค้าของทรัมป์กับไบเดนนั้นแตกต่างกันมากในเชิงอุดมการณ์พื้นฐานครับ 

 

ไบเดนและทีมของพรรคเดโมแครต ซึ่งหาก คามาลา แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้งคงสืบต่อนโยบายเหล่านั้น ไม่ได้มีแนวคิดที่จะหย่าขาดจากจีนอย่างถาวร และไม่ได้มีแนวคิดที่จะเลิกโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและการค้าเสรีอย่างกลับหลังหัน แตกต่างจากแนวคิดของทรัมป์และทีมงานซึ่งมีไลต์ไทเซอร์เป็นมันสมองหลัก ที่ต้องการปฏิวัติ (Revolutionize) ระเบียบการค้าโลก และตอกฝาโลงโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นกระแสหลักของโลกมายาวนานกว่า 30 ปีหลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น

 

หลายคนยังหวังลึกๆ ว่า ถึงทรัมป์จะพูดหาเสียงอย่างดุดัน แต่ในทางปฏิบัติไม่น่าจะทำได้จริง แต่ท่านต้องทราบนะครับว่า นโยบายการขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าเป็นอำนาจเด็ดขาดของประธานาธิบดีที่ไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาคองเกรส 

 

ส่วนประเด็นที่ว่า นโยบายลักษณะนี้จะสร้างหายนะต่อเงินเฟ้อ เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงมากในสหรัฐฯ แต่ทีมทรัมป์มองว่าโรงงานสามารถปรับเป็นระบบ Automation ได้ ไม่ต้องใช้แรงงานมาก และหากตั้งใกล้ผู้บริโภค ก็สามารถประหยัดต้นทุนโลจิสติกส์ สุดท้ายแม้ต้นทุนการผลิตรวมจะสูงกว่าที่ผลิตที่ต่างประเทศ แต่ก็อาจไม่ได้สูงกว่าในต่างประเทศมากหลายเท่าตัวอย่างที่หลายคนนึกก็ได้ 

 

มีทีมนักวิเคราะห์ของ Barclays ประเมินว่า หากทรัมป์ทำสงครามการค้าในระดับที่เขาหาเสียงจริง GDP ของสหรัฐฯ จะลดลง 1.4% ขณะที่ GDP ของจีนจะลดลงถึง 2% 

 

นี่แหละครับที่บอกว่าสงครามการค้านั้นเจ็บทั้งคู่แน่นอน เพียงแต่ทรัมป์บอกว่าจีนจะเจ็บมากกว่าและจะเจ็บหนักด้วยท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวอยู่แล้ว ส่วนผลต่อโลกคือทุกคนเจ็บกันถ้วนหน้า แต่สหรัฐฯ หวังว่าสุดท้ายจะกดดันให้บริษัทย้ายฐานการผลิตกลับเข้าสหรัฐฯ ได้ ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าจะได้ผลจริงหรือไม่ หรือจะหายนะกันหมดเพราะเงินเฟ้อก่อน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X